> อาหารสมอง >

15 มกราคม 2020 เวลา 11:47 น.

ทำอย่างไรให้บาทอ่อน!!

โดย : ไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ทิสโก้ และประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย


เงินตรา หรือ currency เป็นสินทรัพย์ที่ประเมินมูลค่ายากมาก ยากกว่าหุ้น ยากกว่าหุ้นกู้ ยากกว่าสินทรัพย์ทางการเงินเกือบทุกประเภท เพราะเราวัดมูลค่าเงินกันด้วยอัตราแลกเปลี่ยน เงินแต่ละสกุลจึงมีมูลค่าที่หลากหลาย อยู่ที่จะเทียบกับเงินสกุลไหน ไม่เหมือนหุ้น หรือสินทรัพย์อื่น ที่มีแค่ราคาเดียว


ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของค่าเงินมีค่อนข้างมาก และเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วง ขึ้นอยู่กับตลาดการเงินในช่วงนั้นว่าให้น้ำหนักกับปัจจัยไหนเป็นพิเศษ บางทีเศรษฐกิจชะลอตัว แต่ค่าเงินกลับแข็งขึ้น บางประเทศขึ้นดอกเบี้ย แต่ค่าเงินกลับอ่อนลง

อีกทั้งเงินตราไม่มีตัวชี้วัดที่เป็นที่ยอมรับ ที่สามารถบอกได้ว่าแพงไปหรือถูกไป เหมือนสินทรัพย์อื่น เช่น หุ้น ที่ดูได้จากค่า P/E ratio หรือ ตราสารหนี้ ที่ดูได้จากอัตราผลตอบแทน การหามูลค่าที่แท้จริงของเงินตราจึงทำได้ไม่ง่าย


เงินบาทก็เช่นกัน น้อยคนจะบอกได้ว่ามูลค่าที่แท้จริงคือเท่าไร แต่ที่ทุกคนรู้ก็คือ เงินบาทแข็งค่าขึ้นตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมา จาก 36 บาทต่อหนึ่งดอลลาร์สหรัฐ เมื่อปลายปี 2558 มาอยู่ที่ 30 บาท เท่ากับแข็งค่าขึ้น 20% และไม่ใช่กับดอลลาร์อย่างเดียว แต่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักเกือบทั้งหมด เฉพาะในปี 2562 เงินบาทแข็งค่าขึ้นถึง 8% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ และมากกว่า 10% เมื่อเทียบกับยูโร ส่งผลให้เงินบาทเป็นสกุลเงินที่แข็งที่สุดในเอเชีย


คำถามที่หลายคนอยากรู้คือ ทำไมเงินบาทถึงแข็งได้ขนาดนี้ ทั้งที่ในความเป็นจริง เงินบาทน่าจะอ่อนค่าในปีที่ผ่านมา จากเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวจาก 4.1% เหลือ 2.5% ส่งออกที่หดตัว และดอกเบี้ยนโยบายที่ลดลงถึง 2 ครั้ง แต่ตลาดการเงินกลับให้ความสำคัญกับการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด และการเพิ่มขึ้นของเงินสำรองระหว่างประเทศ จึงทำให้เงินบาทกลายเป็นสกุลเงินปลอดภัย หรือ safe-haven currency ของภูมิภาค


ล่าสุด แบงก์ชาติเริ่มออกมาส่งสัญญาณว่าเงินบาทแข็งเกินไป ไม่สอดคล้องกับพื้นฐานของเศรษฐกิจ แน่นอนว่าเงินแข็งก็มีข้อดี เพราะทำให้เราซื้อของจากต่างประเทศ เช่น นำ้มัน ได้ถูกลง แต่ด้วยโครงสร้างทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน ที่เราพึ่งพารายได้จากการส่งออกและท่องเที่ยวมากกว่า 70% ของ GDP ประเทศไทยน่าจะได้ประโยชน์มากกว่าจากค่าเงินที่อ่อน


คำถามที่ตอบยากที่สุด คือจะทำอย่างไรให้เงินบาทอ่อนลง เพราะไม่มีสูตรสำเร็จในการทำให้ค่าเงินอ่อนหรือแข็ง โดยเฉพาะกับระบบค่าเงินลอยตัวแบบที่เราใช้อยู่ ที่ผ่านมาแบงก์ชาติได้ออกมาตราการมากมาย เช่น อนุญาติให้ผู้ส่งออกไม่ต้องรีบนำเงินกลับเข้าประเทศอนุญาติให้คนไทยเอาเงินออกไปลงทุนได้มากขึ้น ฯลฯ แต่ก็ยังไม่สามารถเปลี่ยนทิศทางของค่าเงินได้


ผมเชื่อว่าหนึ่งในต้นเหตุของปัญหาคือ เรามีเงินสำรองระหว่างประเทศมากเกินไป ข้อมูลล่าสุด เรามีเงินสำรองฯ อยู่ 221,036 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และถ้ารวมกับสัญญาซื้อเงินสำรองฯ ล่วงหน้าสุทธิอีก 33,271 ล้านดอลลาร์ เราจะมีเงินสำรองฯมากถึง 254,307 ล้านเหรียญ

เราจำเป็นต้องมีเงินสำรองฯมากขนาดนี้ไหม? อันดับแรก กฏหมายเงินตรา กำหนดให้แบงก์ชาติต้องมีเงินสำรองฯ ไม่ต่ำกว่า 60% ของมูลค่าธนบัตรออกใช้ ซึ่งธนบัตรในระบบมีอยู่ 1.9 ล้านล้านบาท เท่ากับเราต้องมีเงินสำรองฯ 38,000 ล้านเหรียญไว้หนุนหลังธนบัตร


อันดับสอง เราต้องมีเงินสำรองฯไว้รองรับการจ่ายคืนหนี้ต่างประเทศระยะสั้น ซึ่งหนี้ก้อนนี้มีมูลค่า 59,000 ล้านเหรียญและสุดท้าย เราต้องมีเงินสำรองฯ ไว้รองรับการนำเข้าสินค้า 3 เดือน ตามเกณฑ์สากล ซึ่งจะเท่ากับ 54,000 ล้านเหรียญ รวมกันทั้งหมด เราต้องมีเงินสำรองฯ 151,000 ล้านดอลลาร์


แปลว่าเรามีเงินสำรองฯเกินอยู่ถึง 70,000 ล้านดอลลาร์ (และจะเกินมากกว่า 100,000 ล้านเหรียญ ถ้านับรวมสัญญาซื้อล่วงหน้า) จึงไม่น่าแปลกใจ ทำไมต่างชาติถึงมองเงินบาทเป็น safe-haven currency


ดังนั้น ถ้าอยากให้เงินบาทอ่อนค่าลงทันที ก็ต้องใช้วิธีลดเงินสำรองฯ ซึ่งวิธีนี้เคยใช้กันมาแล้วในหลายประเทศ โดยการโยกเงินสำรองฯ ส่วนเกินจำนวนหนึ่ง ออกมาจัดตั้งเป็น sovereign wealth fund หรือ กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ แล้วเอาเงินก้อนนี้ไปลงทุนในต่างประเทศ


แนวคิดการจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งฯ ในไทยไม่ใช่เรื่องใหม่ เคยพูดกันมานานแล้ว ผมเองก็เคยเสนอแนวคิดนี้เมื่อสองปีก่อน แต่ก็ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น เร็วๆ นี้ เริ่มมีนักเศรษฐศาสตร์หลายท่านกลับมาผลักดันเรื่องนี้กันอีกรอบ ซึ่งผมสนับสนุน เพราะเป็นวิธีที่น่าจะเห็นผลได้เร็ว


ขั้นแรก เราอาจเริ่มต้นด้วยการโยกเงินสำรองฯ จำนวน 20,000 ล้านเหรียญ ออกมาจัดตั้งเป็นกองทุนความมั่งคั่งฯ โดยรัฐบาลออกพันธบัตรมูลค่า 600,000 ล้านบาท เพื่อซื้อเงินจำนวนนี้จากแบงก์ชาติ (แบบเดียวกับที่จีนทำ) และกำหนดให้กองทุนนี้ลงทุนในต่างประเทศทั้งหมด วิธีนี้จะทำให้ค่าเงินอ่อนลงทันที จากนั้น รัฐบาลควรต้องจ้างเอกชนเข้ามาบริหารกองทุนนี้ และให้อิสระในการจัดการ เพื่อป้องกันการใช้เงินผิดประเภท และการแทรกแซงจากผู้มีอำนาจ


ผมเชื่อว่าถ้าเราบริหารจัดการกองทุนความมั่งคั่งฯนี้อย่างมืออาชีพและโปร่งใส ผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุนในแต่ละปี จะสูงกว่าดอกเบี้ยพันธบัตรที่รัฐต้องจ่าย ซึ่งก็จะไม่เป็นภาระต่องบประมาณ และผลพลอยได้ก็คือ การได้เรียนรู้ know-how ใหม่ๆ นวัตกรรมใหม่ๆ จากธุรกิจในต่างประเทศที่เราเข้าไปลงทุน ซึ่งสามารถนำมาต่อยอดเพื่อพัฒนาประเทศต่อไป


ที่มา : เฟสบุค Paiboon Nalinthrangkurn

จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X