> SET > BAM

28 มกราคม 2020 เวลา 08:20 น.

BAMชอบวิกฤติ ซื้อหนี้ต้นทุนต่ำ มองพื้นฐาน30บ.

ทันหุ้น –BAM โบรกสแกนผลงานเติบโตต่อเนื่อง คาดกำไรสุทธิปี 2562 จะขยายตัวสูง 122% ทะลุ 1.2 หมื่นล้านบาท จากรายการพิเศษ ขณะที่ระยะยาวปี 2563-2565 ยังเติบโต 6% มีโอกาสเข้าซื้อ NPLs/NPA ในต้นทุนที่ต่ำในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว ขณะที่มีเงินทุนที่เพียงพอ และ D/E ที่ต่ำ แนะนำซื้อ ชูเป้าหมาย 30 บาท


บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด ระบุในบทวิเคราะห์ว่า บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM ผู้นำอุตสาหกรรม AMC พร้อมฐาน NPLs และ NPA ที่บริหารขนาดใหญ่ BAM เป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ NPLs/NPA รายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ 47% ในปี 2561 อิงสินทรัพย์รวม และมีสำนักงานสาขา และพนักงานที่มีประสิทธิภาพในการเข้าถึงทรัพย์, ประเมินจังหวะเวลา และราคาซื้อขายที่เหมาะสม


ทั้งนี้ ณ สิ้นไตรมาส 3/2562 บริษัทมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารอยู่ที่ 1.02 แสนล้านบาท แบ่งเป็น NPLs และ NPA ที่ 7.9 หมื่นล้านบาท และ 2.3 หมื่นล้านบาท รวมทั้งบริษัทจะยังรักษาระดับการลงทุนใน NPLs และ NPA ให้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยช่วงปี 2559-ไตรมาส 3/2562 มีอัตราการเติบโตที่ CAGR = 3.4% และ 12.2% ตามลำดับ


*กำไรโตต่อเนื่อง

สำหรับปี 2562 คาดกำไรสุทธิจะขยายตัวสูงจากรายการพิเศษ ในขณะที่ระยะยาวจะยังเติบโต 6% คาดมีกำไรสุทธิที่ 1.2 หมื่นล้านบาท ขยายตัว 122% จากปีก่อน โดยมีรายการพิเศษ 1.รายได้จากการรับรู้ Deferred Tax Asset เป็นครั้งแรก 5.2 พันล้านบาท และ 2.ผลประโยชน์พนักงานที่เพิ่มขึ้นเป็น 400 วันอยู่ที่ 244 ล้านบาท


ในขณะที่กำไรปกติปี 2562 อยู่ที่ 6.6 พันล้านบาท (+27% จากปีก่อน) จากการรับรู้กำไรจากการขาย NPLs ขนาดใหญ่ที่จัดขึ้นโดยกรมบังคับคดี 3.2 พันล้านบาท ในไตรมาส 1/2562 และรายได้จากการขาย NPLs ของโครงการไทเมล่อน ในไตรมาส 4/2562 จำนวน 145 ไร่คิดเป็นรายได้ประมาณ 1.5 พันล้านบาท


สำหรับปี 2563 คาดกำไรปกติที่ 5.1 พันล้านบาท ลดลง 22% จากปีก่อน จากค่าใช้จ่ายทางภาษีเพิ่มขึ้นเป็น 1.3 พันล้านบาท ภายหลังที่กองทุนฟื้นฟูฯ (FIDF) ถือหุ้นน้อยกว่า 95% ส่งผลให้บริษัทไม่ได้รับสิทธิในการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล และค่าใช้จ่ายภาษีที่ดินที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา คาด 50 ล้านบาท สำหรับกำไรปี 2563-2565 คาดว่าจะเติบโต +6% CAGR จากขนาด NPLs/NPA ที่บริหารใหญ่ขึ้น และระยะเวลาในการติดตามชำระหนี้ที่ลดลง


*ชูเป้าหมาย 30 บาท

ขณะที่ประเมินมูลค่าหุ้น BAM ที่ 30.00 บาท อิง PBV ปี 2563 ที่ 2.1 เท่า (คิดจากวิธี gordon growth model อิง 5-year ROE ที่ 11.6% และ terminal growth ที่ 3.5%) หรือคิดเป็น PER ปี 2563 ที่ 18.9 เท่า โดยมองว่าระดับ PBV 2.1 เท่า มีความเหมาะสม เนื่องจากผู้ประกอบการธุรกิจ AMC รายอื่น อย่าง JMT และ CHAYO ที่มี NPLs/NPA ส่วนใหญ่เป็น Unsecured Loan และถึงระยะเวลาคุ้มทุนเร็วกว่า BAM ที่มี NPLs/NPA เป็น Secured Loan มากกว่า 95%


จึงเชื่อว่า BAM ควรเทรดที่ discount จาก JMT และ CHAYO ที่เทรดอยู่ที่ PBV ปี 2563 ที่ 3.9 เท่า ในขณะที่คาดว่า BAM ควรที่จะเทรด Premium เหนือผู้ประกอบการ AMC ที่เป็นบริษัทย่อยของธนาคารพาณิชย์ หรือเทรดที่สูงกว่า PBV ปี 2563 ที่ 0.9 เท่า จากกฎเกณฑ์ข้อบังคับของ ธปท. ที่กำหนดให้ผู้ประกอบการ AMC ที่เป็นบริษัทย่อยของธนาคารพาณิชย์ จะต้องขาย NPA ภายใน 5 ปี


รวมทั้งราคาเป้าหมายที่ 30.00 บาท ยังสอดคล้องกับวิธี NAV (คิดจากมูลค่าหลักประกันของ NPLs/NPA ที่คิดลดด้วยอัตรา 58% และ 56% ตามลำดับ) Key Catalysts คือ 1.โอกาสในการขยายขนาด NPLs/NPA ได้ดีในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว, 2.มีเงินทุนที่เพียงพอ และ D/E ที่ต่ำ คาดในระยะยาวอยู่ที่ 1.6เท่าซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงโอกาสในการก่อหนี้เพื่อซื้อทรัพย์บริหารมากขึ้น โดย D/E ข้างต้นนี้ต่ำกว่า D/E covenant ของบริษัทที่ 2.5 เท่า และระดับ D/E ที่บริษัทต้องการรักษาที่ 2.0 เท่า และ 3.แนวโน้มที่ระยะเวลาในการคืนทุนจากการซื้อ NPLs/NPA ลดลง

จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ่านต่อ

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X