> SET > KKP

06 กุมภาพันธ์ 2020 เวลา 08:00 น.

KKPเพิ่มพอร์ตเช่าซื้อ ปักธงสินเชื่อปีนี้โต9%

ทันหุ้น - KKP ปักธงปี 2563 สินเชื่อโต 7-9% จากปีก่อน รับพอร์ตลูกค้าขยายตัว เดินหน้าขยายพอรืตเช่าซื้อรถยนต์เพิ่มหลังผลตอบแทนดี ควบคู่เร่งคุมเข้มNPL dfเหลือต่ำกว่า 3.9% ในสิ้นปีนี้ ด้านบล.ภัทร ปรับคาดการณ์จีดีพีปี 2563 เหลือโต 2.2% จากเดิม 2.8%


นายฟิลิป เชียง ชอง แทน กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน)
หรือ KKP เปิดเผยว่า ในปี 2563 บริษัทตั้งเป้ายอดสินเชื่อเติบโต 7-9% เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่มีสินเชื่อรวม 2.38 แสนล้านบาท โดยยังไม่รวมปัจจัยเกี่ยวกับโรคระบาดเนื่องจากธุรกิจมีการทำตลาดลูกค้าใหม่ๆ เพิ่มเติม ส่งผลให้แนวโน้มสินเชื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ สินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี และสินเชื่อรายย่อยเกือบทุกประเภทปรับตัวดีขึ้น รวมทั้งธนาคารยังได้มีการขยายพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์เพิ่มเติม เพราะการปล่อยสินเชื่อในส่วนดังกล่าวนั้นมีอัตราผลตอบแทนอยู่ในระดับที่สูง


เร่งลดNPLต่ำ3.9%

ขณะเดียวกันในปี 2563 ทาง KKP จะหันมามุ่งเน้นการการพัฒนาระบบคัดกรองสินเชื่อ ซึ่งคงทำควบคู่ไปกับการพยายามเร่งติดตามหนี้สินให้มีประสิทธิ์ภาพมากขึ้น เพื่อให้การเติบโตของสินเชื่อเป็นไปอย่างมีคุณภาพ แม้จะมีปัจจัยเกี่ยวภาวะทางเศรษฐกิจก็ตาม ซึ่งหากทุกอย่างสำเร็จเชื่อคงทำให้ตัวเลขหนี้เสียรวม (NPL) ปรับตัวลดลงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าระดับ 3.9% จากปี 2562 ที่ราว 4%


ธนาคารยังครองอันดับ 1 ด้านงานวาณิชธนกิจที่มีธุรกรรมรายใหญ่หลายรายการ เช่น การเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ของ AWCและธุรกิจ Wealth Management และธุรกิจจัดการกองทุน ซึ่งมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการในระดับสูงกว่า 6 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 61 ที่มีอยู่กว่า 4 แสนล้านบาท


ด้านดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ และหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) ประเมินว่า ปี 2563 แม้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น ตามวงจรเศรษฐกิจและการส่งออกที่เริ่มส่งสัญญาณดีขึ้น แต่ทั้งเศรษฐกิจโลกและไทยก็ยังมีความเสี่ยง


หั่นเป้าจีดีพีเหลือ 2.2%

บริษัทหลักทรัพย์ภัทร ได้มีการปรับลดประมาณการการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปี 2563 จาก 2.8% เหลือ 2.2% จาก 3 ปัจจัยเสี่ยงหลักคือ การระบาดของไวรัสโคโรน่าที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อการท่องเที่ยว, ความล่าช้าของกระบวนการงบประมาณที่ส่งผลกระทบต่อการเบิกจ่ายงบประมาณ และวิกฤตภัยแล้ง


ส่วนการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าอาจจะมีผลกระทบต่อเนื่องต่อจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาเอง และนักท่องเที่ยวชาติอื่นๆที่เดินทางมาไทย ในปี 2562 การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวในประเทศมีสัดส่วนเป็นกว่า12% ของจีดีพี และนักท่องเที่ยวชาวจีนคิดเป็น 28% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติ หากยังไม่สามารถควบคุมการระบาดได้ ก็อาจนำไปสู่ผลกระทบที่มากขึ้นต่อการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายภายในประเทศ นอกจากนี้ อาจมีผลกระทบจากการลดลงของการจ้างงานหรือรายได้ในภาคบริการด้วย


ขณะเดียวปัจจัยด้านร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. 2563 ประสบกับความล่าช้า และต้องรอการวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายปรับลดลงอย่างมีนัยสำคัญ หากมีความล่าช้าออกไปอีกจะกระทบต่อเศรษฐกิจจากเม็ดเงินที่ไม่ถูกฉีดเข้าสู่ระบบตามที่ควรจะเป็น


นอกจากนี้ยังมีวิกฤตภัยแล้งที่หนักสุดในรอบหลายปีของประเทศไทย คาดว่าจะทำให้ผลผลิตภาคการเกษตรลดลง และภาคอุตสาหกรรมอาจต้องลดปริมาณการผลิตเพื่อประหยัดน้ำ และรับต้นทุนของวัตถุดิบและการบริหารน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น


ทั้งนี้ บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร มองว่า มีความจำเป็นต้องใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งผ่านนโยบายการคลังและนโยบายเงิน เพื่อพยุงเศรษฐกิจจากปัจจัยเสี่ยงระยะสั้นเหล่านี้ โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปี

จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ่านต่อ

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X