> KS Whole in one >

03 เมษายน 2020 เวลา 07:00 น.

ทำไมผู้นำทั่วโลกบอก We are at war

วันนี้เราอยู่ในสถานะใดกันแน่ เราควรจะกลัวไวรัส หรือกลัวอด (ผลกระทบของไวรัสต่อระบบเศรษฐกิจ) เคยมีคำสอนจากปราชญ์การเงินท่านหนึ่งว่า ถ้าไม่รู้ประวัติศาสตร์ก็ไม่มีวันเข้าใจปัจจุบัน งานเขียนชิ้นนี้จะขอย้อนเวลาแบบสั้นๆ ว่าเกิดอะไรขึ้นในโลกใบนี้ แล้วทำไมสิ่งไม่มีชีวิตที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ถึงพามนุษย์ทั้งโลกเข้าสู่ยุคสงคราม (ขอยืมคำกล่าวของผู้นำโลกมาใช้ “We are at war.”)


เคยเขียนถึงมานานและหลายครั้งว่า ตั้งแต่โลกใบนี้ตัดสินใจเลิกอ้างอิงสกุลเงินกับทองคำ และเปลี่ยนมาใช้ Greenback คือการอ้างอิงธนบัตรสีเขียว (ของสหรัฐที่พิมพ์ออกใช้ในยุคสงคราม) หรืออีกนัยหนึ่งคืออ้างอิงความน่าเชื่อถือของรัฐบาลสหรัฐทำให้สหรัฐกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจเพียงชั่วข้ามคืน ด้วยเอกสิทธิ์ในการพิมพ์เงินแบบไร้ขีดจำกัด คงเดากันได้ว่าใครเป็นผู้ผลักดันให้เลิกระบบทองคำมาสู่ระบบเงินสกุลยูเอสดอลล่าร์


วิชาการเงิน รวมถึงตำราที่ทุกคนศึกษาส่วนมากเขียนโดยชาวตะวันตกและได้รับอิทธิพลมาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสหรัฐเพราะปฏิเสธยากถึงความเป็นผู้นำด้านตลาดเงินตลาดทุนในโลก การบริหารจัดการการลงทุนเริ่มกลายเป็นศาสตร์ที่ได้รับการยอมรับเมื่อสัก 40-50 ปีที่ผ่านมา ก่อนหน้านั้นมีแต่สาขาเศรษฐศาสตร์ ใครบอกว่าเรียนการเงินมาคงกลายเป็นเรื่องขำขันเพราะชื่อหลักสูตรยังไม่มีด้วยซ้ำ พอมีการจัดตั้งสาขาการเงินการลงทุน ก็ตามมาด้วยเรื่องการคำนวณมูลค่าสินทรัพย์ และการจัดพอร์ตลงทุนสินทรัพย์เสี่ยง พัฒนาต่อมาด้วยเรื่องที่ยากขึ้น เช่น การบริหารความเสี่ยง อนุพันธ์ เป็นต้น ภาควิชาการเงินรุ่งเรืองถึงขีดสุดยามที่คนทั่วไป (Main Street) กล่าวถึงค่าตอบแทนของคนที่ทำงานกับอินเวสเมนท์แบงก์ (Wall Street)


ถ้าเจาะลงไปแค่เรื่องการลงทุน เน้นไปยังการจัดพอร์ตสินทรัพย์เสี่ยงให้กระจายความเสี่ยงด้วยเทคนิคการจัดสรรเงินลงทุน คนส่วนใหญ่บอกว่าเข้าใจ แต่ถ้าทดสอบองค์ความรู้กันอย่างแท้จริง อาจยังขาดตกส่วนสำคัญในบางจุด เช่น ยามที่เกิดวิกฤต จัดสรรเงินลงทุนข้ามประเภทสินทรัพย์เสี่ยงแค่ไหนก็ไร้ประโยชน์ เพราะความสัมพันธ์ราคาของสินทรัพย์เสี่ยงทุกตัวจะไปทิศทางเดียวกัน ประโยชน์ของการกระจายความเสี่ยงหายไปโดยสิ้นเชิง เป็นต้น ปรากฏการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นในเดือนมีนาคมสะท้อนให้เห็นถึงความจริงดังกล่าว สร้างประวัติศาสตร์ของการลดลงของดัชนีหุ้นทั่วโลกเกือบ 50%ในเวลาที่เร็วที่สุดตั้งแต่มนุษย์จำความได้เรื่องตลาดหุ้น

ทฤษฎีหรือตัวอย่างในตำราหุ้นฟากตะวันตกชี้ให้เห็นเสมอว่า การลงทุนในตลาดทุน ขอให้ใจเย็นลากยาวอย่าเป็นกังวล ตราบใดที่ไม่ได้กู้เงินมาซื้อหุ้น เราจะอยู่รอดปลอดภัย แล้ววันหนึ่งราคาหุ้นที่ร่วงลงไปจะกลับมา จากนั้นก็จะแสดงกราฟดัชนีหุ้นสหรัฐเป็นตัวอย่างให้ประจักษ์ว่าทุกครั้งที่ดัชนีพังทลายลงด้วยวิกฤตเศรษฐกิจ โรคติดต่อ หรือสงคราม เมื่อเวลาผ่านไป (บางครั้งต้องรอถึง 10 ปีกว่า) ดัชนีก็จะกลับมาที่ระดับเดิมก่อนจะเดินหน้าขึ้นต่อไป ราวกับเศรษฐกิจเราไม่มีวันตาย


สาเหตุหนึ่งที่เกิดเหตุวิกฤตแล้วหุ้นสหรัฐกลับมาได้รวมถึงไปต่อ เกิดจากการพิมพ์เงินอัดฉีดเข้าระบบนั่นเอง และเมื่อใส่เข้าไปแล้วก็จะออกมาบอกว่า เราจะดึงเงินออกนะแต่ไม่เคยทำสำเร็จ หลักฐานมีอยู่มากมาย ล่าสุดยังจำ Quantitative Easing (QEs) ได้ใช่ไหม ใส่เข้าไปหลังวิกฤตปี 2008 จนมาปี 2018 มีการพูดไปทั่วว่าจะดึงเงินออกจากระบบ ยังไม่ทันได้ทำจริงจัง วันนี้เกิดวิกฤตCovid-19 ก็ประกาศออกมาชัดเจนว่า เราจะพิมพ์เงินใส่เข้าระบบแบบไร้ขีดจำกัด ใช้หมดทั้งนโยบายการเงินและการคลัง เดิมหน่วยงานที่พิมพ์เงินได้ไม่จำกัดมีแค่ธนาคารกลาง วันนี้ท่านออกนโยบายใหม่เรียก MMT อนุญาตให้กระทรวงการคลังเสกเงินขึ้นได้เองแจกตรงประชาชนได้ด้วย ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ ขาดแค่ยังโบราณที่จะแจกเป็นเช็ค เพราะไทยแลนด์มาไกลกว่า เราซ้อมโอนผ่านพร้อมเพย์มาหลายรอบแล้ว ว่างๆ ขอเชิญมาดูงานที่ไทย


หลายคนโทษว่าวิกฤตรอบนี้เป็นเพราะไวรัส อยากให้ทางเลือกอีกนิดว่า วิกฤตรอบนี้อาจเกิดเพราะการพิมพ์เงินแบบไม่มีลิมิตในอดีตหรือไม่ เงินจริงมีแค่ 4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เอาไปปั่นให้ฟูฟ่องเป็น23 ล้านล้านเหรียญในระบบ คล้ายเกมเก้าอี้ดนตรี เก้าอี้มีแค่ 4 ตัวแต่มีคนวนรอบ 23 คน ไวรัสเป็นแค่ตัวกดหยุดเพลง เลยมี 19 คนที่ไม่มีที่นั่ง เหตุการณ์ปัจจุบันแท้จริงแล้วคือการเกิด Margin Call เงินดอลล่าร์สหรัฐโดยคนทั่วโลกเป็นเรื่องของการขาดสภาพคล่องอย่างกะทันหัน และนี่น่าจะเป็นที่มาของการเติมเงินแบบไม่อั้นของสหรัฐในครานี้ เพลงจะดังอีกรอบได้ไหมรอลุ้นกัน เพราะถ้าเพลงไม่ขึ้น เราก็จะได้ Depression เป็นของขวัญแก่ทุกคน สถานการณ์ก็จะคล้ายๆ ตอนสงครามโลกคือ 4 ใน 5 คนไม่มีงาน ไม่มีเงิน เป็นที่มาของคำว่า We are at war.

จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X