> เคล็ดลับลงทุน > BGRIM

26 มิถุนายน 2020 เวลา 15:27 น.

ถอดรหัส 'BGRIM' โตด้วยคุณภาพ

“ในอนาคตยังไงโครงการโรงไฟฟ้าประเภทพลังงานสะอาด (Green Energy) จะเข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้น สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันกับโรงไฟฟ้าในต่างประเทศ จึงมั่นใจว่าในอนาคตโครงการพลังงานสะอาดจะมีบทบาทมากยิ่งขึ้นในประเทศไทย”


หลายคนคงรู้จักบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM เป็นอย่างดี ในฐานะเป็นบริษัทผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ของประเทศไทย ที่ครอบคลุมทั้งในด้านการพัฒนาโครงการ การจัดการด้านการเงิน การก่อสร้าง และการบริหารจัดการโครงการโรงไฟฟ้าที่ก่อสร้างใหม่ เพื่อตอบสนองความต้องการของคู่ค้า พันธมิตรทางธุรกิจ และจากการดำเนินธุรกิจมายาวนาน ทำให้ชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ มาตรฐานการทำงานที่เป็นมืออาชีพและทัดเทียมกับระดับสากล วันนี้จะมาเปิดมุมมอง วิสัยทัศน์ในการทำธุรกิจ จากแม่ทัพหญิงคนเก่ง นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BGRIM กัน


แนวทางการทำธุรกิจของBGRIM

สำหรับแนวทางการดำเนินธุรกิจของ BGRIM ยังเน้นไปในธุรกิจหลักในเรื่องของการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้า ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ซึ่งทาง บริษัทได้มีการกำหนดเป้าหมายที่จะขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มเป็น 5,000 เมกะวัตต์ ในปี 2565 ต้องยอมรับว่าจากศักยภาพการทำงานที่ผ่านมา จึงทำให้ BGRIM มีโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ เข้ามาต่อเนื่อง ถ้ามาพิจารณาโครงการที่มีอยู่ในมือ และผลิตเชิงพาณิชย์(COD) แล้ว มีมากถึง 3,547 เมกะวัตต์ เชื่อว่าเป้าหมายขยายกำลังการผลิตที่ตั้งไว้จะมาเร็วกว่าเป้าแน่นอน แต่การขยายธุรกิจของบริษัทก็ตั้งอยู่บนการบริหารความเสี่ยง (Risk Management) อย่างรอบด้านอย่างและลึกซึ้ง เพื่อให้มั่นใจได้ว่าทุกโครงการที่บริษัทเข้าไปลงทุนจะให้ผลตอบแทนที่ดี


ส่วนรูปแบบพลังงานที่บริษัทจะเข้าไปดำเนินการ ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งยังคงเป็นเป้าหมายหลักของบริษัท เพราะเป็นโครงการที่บริษัทมีความถนัด แต่บริษัทก็ยังให้ความสนใจการลงทุนในโครงการพลังงานทดแทนที่ถือเป็นอนาคตของโลกเลยก็ว่าได้ จะเห็นได้ว่า ประเทศอย่างในยุโรป สแกนดิเนเวีย ญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนาม เป็นต้น มีการพัฒนาในโครงการพลังงานทดแทนจำนวนมาก ทำให้บริษัทก็มีโอกาสที่จะเข้าไปลงทุนในโครงการพลังงานสะอาดในประเทศเหล่านี้ด้วย อย่างเช่นในประเทศเวียดนาม 


บริษัทประสบความสำเร็จจากการ พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งสองแห่ง ขนาดรวม 677 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นโครงการที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน และที่ผ่านมาลงนามสัญญาความร่วมมือกับ บริษัท ปิโตร เวียดนาม เพาเวอร์ เพื่อร่วมศึกษาและพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าขนาดกำลังการผลิต 3,000 เมกะวัตต์ โดยใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เป็นเชื้อเพลิง ทำให้โอกาสทางธุรกิจของBGRIM ในเวียดนามมีแนวโน้มการขยายตัวอย่างมาก สอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่มากขึ้น


ต่อยอดธุรกิจ

ขณะที่ประเทศอื่นๆ บริษัทก็ให้ความสนใจ อย่างในประเทศมาเลเซีย ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการเจรจาซื้อกิจการ( M&A )อยู่อีกกว่า 200 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ยังมีประเทศ อินโดนีเซีย ที่มีความต้องการพลังงานอีกจำนวนมาก เนื่องจากเป็นประเทศที่มีเกาะเยอะ การขยายตัวของจีดีพีก็เติบโตได้ดี พร้อมกันนี้ยังมีลาว ประเทศมาเลเซีย เมียนมาร์ เกาหลี และฟิลิปปินส์ ที่อยู่ระหว่างการเจรจา


ส่วนประเทศไทย มีเจรจาในการ เข้าซื้อกิจการ(M&A ) อีกจำนวน 2-3 แห่ง ทั้งนี้ทิศทางพลังงานทดแทนในประเทศไทย ปัจจุบันอาจจะมองว่ามีราคาค่อนข้างสูง อย่างในเรื่องของการพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา(Solar Roof) ซึ่งมีจำนวนที่เพิ่มขึ้น และต้นทุนมีโอกาสถูกลงมากขึ้นในระยะต่อๆไป การผลิตไฟฟ้าก็มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นด้วย ทำให้แนวโน้มพลังงานทดแทน อย่างพลังงานแสงอาทิตย์(Solar Farm) ในระยะ 5-6 ปีนี้น่าจะไม่ได้มีจำนวนที่เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับ Solar Roof และยังมีผลิตไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ (โซลาร์ลอยน้ำ) ซึ่งเป็นโครงการที่ดีและมีการผลิตไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โครงการดังกล่าวบริษัทก็ได้มีโอกาสเข้าไปดำเนินการโครงการพลังงานหมุนเวียนแบบ Hybrid เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำ ร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ (Hydro-Floating Solar) พื้นที่เขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีขนาดกำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ (MW)


โอกาสธุรกิจหลังเปิดเสรี LNG

มาในส่วนการเปิดเสรี ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ซึ่งเป็นนโยบายของภาครัฐ และบริษัทได้รับใบอนุญาตจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในเป็นผู้จัดหาและนำเข้า ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) หรือ ผู้ใช้บริการ (Shipper) จำนวน 6.5 แสนตันต่อปี ทำให้เมื่อการแข่งขันเสรีทางด้านก๊าซธรรมชาติเกิดขึ้นจริง จะส่งผลให้ต้นทุนค่าก๊าซธรรมชาติถูกลง โดยบริษัทมีการเตรียมความพร้อมเรื่องนี้มาเป็นระยะเวลานานแล้วตั้งแต่มีนโยบายให้เปิดการนำเข้า LNG เสรี ทำให้บริษัทได้เริ่มศึกษาจริงจังมาอย่างต่อเนื่อง เพราะมองเห็นโอกาสทางธุรกิจตรงนี้ และขณะนี้ได้มีซัพพลายเออร์รายใหญ่ มาติดต่อ บริษัทจำนวนมาก เช่น ปิโตรนาส กาต้าร์ เป็นต้น ซึ่งมีกว่า 20 รายใหญ่ และเป็นรายใหญ่ของโลก 


ทั้งบริษัทที่เป็นเทรดเดอร์ และบริษัทที่มีแหล่งก๊าซธรรมชาติเอง และปัจจุบันก็จะเห็นได้ว่าทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติขณะนี้ ล้นตลาด ทำให้การเสนอเงื่อนของบริษัทพันธมิตรถือว่าเป็นเงื่อนไขที่ดี จะเห็นได้ว่าปัจจุบันที่ ปตท.ซื้อก๊าซธรรมชาติอยู่ที่ 2 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ MMBTU แต่ทางบริษัทเองก็ต้องมีในเรื่องค่าใช้จ่าย ด้านอื่นๆ อื่นเช่น ค่าผ่านท่อ ค่าขนส่ง เป็นต้น รวมแล้วถึงหน้าไซด์งานราคาที่จะนำเข้าก๊าธธรรมชาติก็น่าจะประมาณ 5-6 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ MMBTU ก็ยังถือว่าเป็นต้นทุนที่ถูกกว่าเดิมจากก่อนหน้านี้ที่มีการซื้อที่ปตท. อยู่ที่ 9 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ MMBTU ขณะนี้ก็ราว 267 บาทต่อMMBTU หรือก็ยังอยู่ในระดับ 8 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ MMBTU จึงเชื่อว่าต้นทุนก็จะน่าถูกลง ซึ่งเป็นการจัดโครงสร้างราคาที่สะท้อนกับตลาดมากขึ้น


เติบโต

แต่เชื่อว่ายอดขาย ปตท.จะไม่ได้ลดลงมาก และล่าสุดทางปตท.ก็ได้ทำประมาณการราคาก๊าซธรรมชาติมาในครึ่งปีหลัง เหลือราว 221 บาทต่อMMBTU และบริษัทก็ยืนยันว่าจะเป็นลูกค้าของปตท. ต่อไป เพราะที่ขอShipper มานั้นเป็นในส่วนของโรงไฟฟ้าใหม่ และในส่วนที่ขายไฟฟ้าให้กฟผ.ก็เป็นระบบPass-Through ถ้าค่าก๊าซธรรมชาติถูกลง ค่าไฟก็ถูกลงอัติโนมัติ


อย่างไรก็ดีการได้นำเข้า LNG นั้น ถือเป็นการช่วยสร้างโอกาสทางธุริกจมากขึ้นอย่างเช่น ทำให้ภาคอุตสาหกรรมมีความต้องการที่จะมีโรงไฟฟ้าใช้เองหรือที่เรียกว่า IPS ซึ่งขณะนี้ ในบางโรงงานขนาดใหญ่ ได้ให้ความสนใจเข้ามาติดต่อกับบริษัท โดยต้องการจะให้ทาง BGRIM ทำโรงไฟฟ้าให้ และขอเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นด้วยในขนาดเล็ก เป็นต้น ซึ่งเรื่องดังกล่าวก็ถือเป็นโอกาสทางธุรกิจอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งการทำโรงไฟฟ้าใกล้โรงงานก็จะรองรับการใช้งานได้พอดีไม่เกิดการสูญเสีย และในบางโรงงานขนาดใหญ่ การใช้ไฟฟ้า (Load Profile) ค่อนข้างสูง อยู่ในระดับที่ดีมากเกือบ 100% ตลอดเวลา หรือและในบางธุรกิจไฟฟ้าก็อาจจะเป็น Raw Material และเป็นสิ่งที่ BGRIM ถนัดในการทำโรงไฟฟ้าขนาดกลางและขนาดเล็ก


เทคโลโลยีผลักดันพลังงาน

นอกจากนี้ในอนาคตยังไงโครงการโรงไฟฟ้าประเภทพลังงานสะอาด (Green Energy) จะเข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้น สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันกับโรงไฟฟ้าในต่างประเทศ จึงมั่นใจว่าในอนาคตโครงการพลังงานสะอาดจะมีบทบาทมากยิ่งขึ้นในประเทศไทย ขณะเดียวกันบริษัทก็พยายามพัฒนาSmart Solution พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) เพิ่มอย่างต่อเนื่องเพื่อที่ในระยะต่อไป การเข้าไปเสนอโครงการแก่ลูกค้า ก็เหมือนจะเป็นเหมือน Solution ที่จะเป็นโครงการเป็นรูปแบบไฮบริด มากขึ้นเช่นมีทั้งระบบโคเจนเนอเรชั่น( cogeneration) และมีโครงการโซลาร์บนหลังคาด้วย เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ครบถ้วนมากขึ้น


สุดท้าย BGRIM ก็ได้มีการปรับตัวในธุรกิจหลังผ่านวิกฤตโควิด-19 ในการเป็น Next Normal ในส่วนของผู้บริหารก็ต้องทราบว่าไม่มีอะไรที่แน่นอนตลอดไป ทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลง ต้องมีการปรับเปลี่ยนตามการเปลี่ยนแปลงของโลก ในด้านพลังงานทางบริษัทก็มีการปรับตัว พัฒนาเทคโนโลยีที่เข้ามาทุกวงการ ต้องมีการการกระจายความเสี่ยง (Diversify) ปรับเปลี่ยนไปยังประเทศอื่นๆ ธุรกิจทางการพลังงานทดแทน และต้องไปทางพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) ด้วย สอดคล้องกับเทคโนโลยีในปัจจุบัน

จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ่านต่อ

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X