> SET > AOT

01 กรกฎาคม 2020 เวลา 07:45 น.

AOTเปิดน่านฟ้าวันนี้ ลุ้นธนารักษ์ลดค่าเช่า

ทันหุ้น – สู้โควิด – กพท.เปิดน่านฟ้าเปิดรับนักธุรกิจ – นักลงทุนต่างชาติเข้าไทย ด้าน AOT ย้ำการ์ดไม่ตกมาตรการป้องกันเข้ม นักวิเคราะห์ฟันธงหนุน AOT ย้ำรายได้ทยอยฟื้นตัวต่อเนื่อง แย้มมีข่าวดีรอกรมธนารักษ์พิจารณาลดค่าเช่าที่ฯ แนะ “ทยอยสะสม” เป้า 78 บาท


สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) หรือ กพท. ได้ออกประกาศ ขยายเงื่อนไขการเดินทางเข้า-ออกประเทศทางอากาศ ผ่อนปรนบุคคล 11 ประเภท ที่สำคัญ ซึ่งรวมถึงผู้ไม่มีสัญชาติไทยซึ่งได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรตามข้อตกลงพิเศษ (special arrangement) ทั้งนี้ อากาศยาน และผู้โดยสารหรือผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรจะต้องปฏิบัติ ตามเงื่อนไข เงื่อนเวลาและหลักเกณฑ์ของผู้มีอำนาจตามกฎหมาย โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฏาคม 2563 เป็นต้นไป


นางอโนชา พลินสุต ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการพิเศษ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ระบุ ท่าอากาศยานทุกแห่งในกำกับดูแลของ AOT มีดมาตรฐานจุดตรวจจุดคัดกรองป้องกันโรค COVID 19  รวมถึงได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ได้เพิ่มความถี่ในการรักษาความสะอาดทุกพื้นที่ภายในสนามบินสุวรรณภูมิโดยเฉพาะพื้นที่ที่ผู้โดยสารสัมผัสบ่อยๆ


สำหรับการตรวจคัดกรองผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศกลุ่มเสี่ยง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้มีการจัดหลุมจอดไว้รองรับเที่ยวบินที่เดินทางมาไว้ที่หลุมจอดประชิดอาคารC, E , F และ G เป็นพื้นที่เฉพาะอีกด้วย


“ที่ผ่านมาเราก็รับเที่ยวบินเฉพาะที่รับผู้โดยสารซึ่งเดินทางกลับจากต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นทุกท่าอากาศยานสากลของเรามีความพร้อมรองรับการเดินทางของทั้งนักธุรกิจ และนักท่องเที่ยวมากว่า 100%”


AOT รับอานิสงส์ตรง


นายดิษฐนพ วัธนเวคิน นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ โนมูระพัฒนสิน จำกัด (มหาชน) ระบุ การผ่อนปรนชาวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศ ถือเป็นปัจจัยหนุนรายได้จากธุรกิจการบิน (Aero) ของ AOT ให้ทยอยฟื้นตัวขึ้น สอดคล้องกับมุมมองของผู้บริหาร AOT ที่คาดการณ์ว่าจำนวนผู้โดยสารจะฟื้นตัวเทียบเท่าปี 2562 ได้ประมาณเดือนตุลาคม 2564


ขณะเดียวกันรายได้จากธุรกิจที่ไม่เกี่ยวกับการบิน (NON-AERO) ก็ยังได้รับแรกกดดันจากมาตรการเยียวยาคู่สัญญาที่เช่าพื้นที่ภายในท่าอากาศยาน (หากปิดร้านหรือไม่บินจะไม่คิดค่าเช่าหรือค่าลงจอดถ้าเปิดเก็บเพียง 50% บน Revenue sharing และยกเว้น Minimum Guarantee) ซึ่งจะไปสิ้นสุดในช่วงไตรมาส 2/2564 หรือ สิ้นเดือนมีนาคม 2565


อย่างไรก็ตาม AOT มีปัจจัยหนุนรออยู่ คือการเจรจาขอปรับลดอัตราค่าเช่าที่ดินสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จากกรมธนารักษ์ ซึ่งตามปกติ AOT จ่ายเป็น “รายจ่ายประจำ” อยู่ที่ 2,400 ล้านบาทต่อปี ซึ่งหากสามารถปรับลดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ได้ จะทำให้ต้นทุนการดำเนินงานปรับลดลงตั้งแต่ปี 2564 (ปิดงบเดือนกันยายน 2563) นี้เป็นต้นไป


“การฟื้นตัวของรายได้ทั้ง Aero และ NON-AERO จะทยอยฟื้นตัวมากกว่าที่จะเร่งตัวแรงขึ้น เพราะต้องยอมรับว่าสัดส่วนผู้โดยสารที่จะเดินทางเข้ามานั้นแม้จะฟื้นตัวแต่ก็จะไม่เท่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 อย่างแน่นอน ซึ่งผู้บริหาร AOT เองก็มองในทิศทางที่สอดคล้อง อย่างไรก็ตามระยะสั้นความต้องการเดินทางที่อั้นมานานเป็นปัจจัยหนุนรายได้ระยะสั้น ดังนั้นการลงทุนยังเน้นเข้าซื้อเมื่อราคาอ่อนตัวลงเป็นหลัก เพราะปัจจัยพื้นฐานไม่เปลี่ยน แต่ราคาหุ้น ณ ปัจจุบันเคลื่อนไหวบนความคาดหวัง และผันผวนตามกระแสข่าวที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วง”


บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด ระบุในบทวิเคราะห์ การผ่อนคลายให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้าไทยโดยยังต้อง quarantine เป็นปัจจัยหนุนกลุ่มอุตสหกรรมต้นน้ำอย่าง AOT ซึ่งฝ่ายวิเคราะห์มองว่าราคาที่อ่อนตัวลงช่วงที่ผ่านมาตอบสนองผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 3/2563 (เม.ย.-มิ.ย.2563) ไปแล้ว แนะนำ “ทยอยสะสม” เพื่อคาดหวังผลการดำเนินงานปี 2564 ราคาเหมาะสม 78 บาท


@ผลงานรอบ8เดือน


นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ AOT คาดว่าเที่ยวบินและผู้โดยสารจะเริ่มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจนกลับมามีปริมาณการจราจรเป็นปกติ (ที่ระดับเดิมของปี 2562) ในเดือนตุลาคม 2565 ดังนั้น AOT อาจต้องพิจารณาการเปิดใช้อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Satellite 1 : SAT-1) ให้สอดคล้องกับปริมาณผู้โดยสารต่อไป


สำหรับความคืบหน้าในการดำเนินงานก่อสร้าง SAT-1 ดำเนินการแล้ว 88% ซึ่งผลกระทบจากโควิดทำให้ภาพรวมการทดสอบการเตรียมความพร้อมการเปิดให้บริการต้องเลื่อนออกไป โดยคาดว่าจะทำการทดสอบระบบการปฏิบัติงานต่างๆ ร่วมกันแล้วเสร็จในเดือนเมษายน 2565


สำหรับภาพรวมรอบ 8 เดือน (ตุลาคม 2562– พฤษภาคม 2563) มีเที่ยวบินลดลง 29.80% แบ่งเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศ 229,400 เที่ยวบิน ลดลง30.20% และเที่ยวบินภายในประเทศลดลง 29.33% ขณะที่มีผู้โดยสาร 64.20 ล้านคนลดลง 33.94% โดยตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม –31 พฤษภาคม 2563 เที่ยวบินลดลงกว่า 55.28% และผู้โดยสารลดลงกว่า 66.32%


ด้านปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศรอบ 8 เดือนของปีงบประมาณ 2563 มีสินค้าและไปรษณียภัณฑ์จำนวน 825,665 ตัน ลดลง 17.61% โดยในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา (กุมภาพันธ์ - พฤษภาคม 2563) แม้ว่าเที่ยวบินโดยสารจะลดลงมาก จากเดิมเฉลี่ย 6,500 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เหลือเพียง 500 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ (ซึ่งทำให้ปริมาณสินค้าที่ลำเลียงโดยเที่ยวบินโดยสารลดลงถึง 74.22%) แต่เที่ยวบินขนส่งสินค้ากลับมีอัตราการเพิ่มขึ้นถึง 127.22% เพิ่มจาก 160 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เป็น 360 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ซึ่งการเพิ่มขึ้นของเที่ยวบินขนส่งสินค้าอาจช่วยชดเชยปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศได้เพียงบางส่วนเนื่องจากในอดีตนั้นกว่า 80% ของการขนส่งจะถูกดำเนินการผ่านเที่ยวบินโดยสารเป็นหลัก

จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ่านต่อ

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X