> SET > KBANK

21 กรกฎาคม 2020 เวลา 08:00 น.

ลางร้ายNPLตั้งสำรองพุ่ง KBANKวูบหนัก78%

ทันหุ้น - สู้โควิด – ธนาคารพาณิชย์ตั้งสำรองพุ่ง KBANK เร่งตั้งเพิ่ม 70.08% QoQ กดไตรมาส 2/2563 กำไรดิ่ง KKP ตั้งหนาแม้ NPL ลด ห่วงมาตรการพักหนี้ทำภาพลวง ด้าน TMB ใช้วิธีขายหนี้ NPL ออก กูรูชี้หมดมาตรการช่วยเหลือ NPL โผล่สูง เทศกาลตั้งสำรองในปีนี้ยังไม่จบ เล็งลดประมาณการ


ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK แจ้งผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาส 2/2563กำไรสุทธิที่ 2,175 ล้านบาท ลดลง 78.09%เมื่อเทียบกับกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากธนาคารพิจารณาสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นที่ 8,320 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 70.08% QoQ สำหรับเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (%NPL gross) อยู่ที่ระดับ 3.92% ขณะที่สิ้นปี 62 อยู่ที่ระดับ 3.65%โดยธนาคารได้ติดตามให้ความช่วยเหลือ รวมทั้งควบคุมดูแลคุณภาพสินเชื่อของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19อย่างใกล้ชิด


ทั้งนี้ธนาคารตั้งสำรองสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) ที่ระดับ 155.68%เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 62 อยู่ที่ระดับ 148.60%


@ KKPห่วงNPLหลบ


ธนาคาร เกียรตินาคิน หรือ KKP แจ้งผลประกอบการไตรมาส 2/63มีกำไรสุทธิ 1,184.19 ล้านบาท ลดลง 19.5%จากการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตเพิ่มขึ้น โดยธนาคารได้ตั้งสำรอง 744 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.9%ซึ่งเป็นไปตามหลักการพิจารณาอย่างระมัดระวังจากโควิด โดยมาตรการช่วยเหลือในการพักชำระหนี้ อาจไม่ได้สะท้อนคุณภาพสินเชื่อ โดยบริษัทมี NPL ต่อสินเชื่อรวม ณ สิ้นไตรมาส 2/2563ที่ 3.4% ลดลงจากไตรมาสก่อนที่อยู่ที่ระดับ 3.7% อย่างไรก็ตามการตั้งสำรองอย่างเต็มที่ส่งผลให้อัตราส่วนการสำรองต่อสินเชื่อด้อยค่าด้านเครดิตอยู่ที่ 128.7% เพิ่มขึ้นจาก 113.2%


ทางด้านสินเชื่อของธนาคารในไตรมาส 2/63 มีการขยายตัวที่ 5%จากสิ้นปี 2563โดยมาจากการขยายตัวในสินเชื่อเกือบทุกประเภทรวมถึงสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่ยังคงมีการขยายตัวได้จากสิ้นปี  ด้านธุรกิจตลาดทุน บล.ภัทร มีส่วนแบ่งตลาดที่ 10.26% ซึ่งเป็นอันดับ 1จากจำนวนบล.ทั้งหมด 38 แห่ง


@TMB ขาย NPL


ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB แจ้งผลดำเนินงานไตรมาส 2/2563มีกำไรสุทธิ 3,094.93 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 61.42%จากช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) ที่มีกำไรสุทธิ 1,917.31ล้านบาท จากการรวมงบการเงินกับธนาคารธนชาต โดยธนาคารมีอัตราส่วน NPL ต่อสินทรัพย์รวมลดลงเหลือ 2.34% หลังได้มีการขาย NPL ออกไป พร้อมทั้งปรับโครงสร้างหนี้เชิงป้องกันตามมาตรการช่วยเหลือของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อย่างไรก็ดีธนาคารได้มีการตั้งด้อยค่าเงินลงทุนในตราสารหนี้ของ บมจ.การบินไทย THAI แล้ว


ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 ธนาคารมีค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นตามงบการเงินรวมจำนวนทั้งสิ้น 44,374 ล้านบาท ลดลง 5.0%จากไตรมาสก่อนหน้า


นายธนภัทร ฉัตรเสถียร ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด ระบุว่า  ผลประกอบการของหลายธนาคารพาณิชย์ออกมาลดลง จากการตั้งสำรองในสัดส่วนที่สูง สะท้อนให้เห็นถึงความกังวลต่อคุณภาพหนี้เสีย (NPL) ในอนาคตอย่างชัดเจน


@ตั้งสำรองสูงยังไม่จบ


นายธนภัทร คาดการณ์ว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 (2H63) กลุ่มธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะธนาคารที่มีสัดส่วนสินเชื่อรายย่อย และสินเชื่อ SME ที่สูงจะยังคงตั้งสำรองในสัดส่วนที่สูงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากนโยบายผ่อนปรนลูกหนี้ของ ธปท.จะสิ้นสุดลงในเดือนกันยายน 2563จะส่งผลต่อคุณภาพหนี้ที่มีโอกาสตกชั้นลงไปเป็น NPL มากกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์


เบื้องต้นประเมินภาพทั้งปี 2563 ของกลุ่มธนาคารพาณิชว่า จะมีกำไรลดลงราว 20% ยกเว้น TMB ที่คาดจะมีกำไรเพิ่มมากสุดในกลุ่ม เนื่องจากได้รวมผลประกอบการของธนาคารธนชาตเข้ามาด้วย ส่วนธนาคารขนาดเล็กคาดว่ากำไรจะลดลงราว 11% ในขณะที่แนวโน้มในครึ่งปีหลังยังมีปัจจัยเสี่ยงจากคุณภาพหนี้หลังจากหมดมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ต่างๆ ทำให้มีโอกาสที่เราจะปรับลดประมาณการกำไรปี 2563-2564 ลงเพิ่มเติมภายหลังการประชุมนักวิเคราะห์

จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ่านต่อ

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X