> SET > AOT

07 สิงหาคม 2020 เวลา 08:15 น.

คลังหนุนAOTช่วยคู่ค้า แจงคุ้มกว่าเลิกสัญญา

ทันหุ้น – สู้โควิด –คลังย้ำไม่ต้องเรียก AOT แจงกรณีช่วยคู่สัญญา ลั่นมีตัวแทนระดับปลัด-อธิบดีช่วยเคาะอยู่แล้ว ชี้ประเมินผลกระทบรอบด้านแล้ว มั่นใจระยะเวลาสอดคล้องกับการฟื้นตัวการบินโลก สั่ง AOT เดินหน้าลดต้นทุน – สร้างรายได้เสริมสภาพคล่องต่อเนื่อง


แหล่งข่าวระดับสูงในกระทรวงการคลัง ระบุ ทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ยังไม่พิจารณาเรียกตัวแทน บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT เข้ามาชี้แจงกรณีการเยียวยาผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์ โดยยกเว้นการเรียกเก็บผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ ตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 – 31 มีนาคม 2565 แต่จะยังคงเรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนเป็นเปอร์เซ็นต์ตามปกติ ควบคู่กับการเลื่อนระยะเวลาการชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทน, ค่าเช่าพื้นที่ ค่าบริการการใช้บริการในอาคาร เพื่อช่วยเหลือด้านสภาพคล่องของคู่สัญญาทุกรายแต่อย่างใด


เนื่องจากในคณะกรรมการบริษัท (บอร์ดAOT) มีตัวแทนจากกระทรวงการคลังทั้งปลัดกระทรวงการคลัง, อธิบดีกรมศุลกากร เข้าร่วมประชุมด้วยทุกครั้ง โดยการพิจารณาได้ประเมินผลกระทบรอบด้านและสอดคล้องกับผลการศึกษาของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) เดิม ที่คาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมการบินโลกจะฟื้นตัวในอีก 2 ปี ข้างหน้าหรือปี 2565 แต่ล่าสุด IATA พึ่งประกาศปรับคาดการณ์ใหม่ว่าอุตสาหกรรมการบินอาจฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด โดยต้องรอถึงปี 2567


@ช่วยทุกรายไม่เอื้อใคร


แหล่งข่าวกระทรวงการคลัง ยืนยันว่า ในการพิจารณาให้การเยียวยาผู้ประกอบการ คณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการทุกรายผู้ประกอบการสายการบินและผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์กว่า 1 พันสัญญา ไม่ได้เน้นให้ความช่วยผู้ประกอบการรายใดเป็นพิเศษ แต่ในฐานะบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (บจ.) ก็ตระหนักถึงผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้น ซึ่ง AOT จะยังคงเร่งดำเนินงานด้านจัดหารายได้ส่วนอื่นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการพิจารณาควบคุมต้นทุนการดำเนินงานทุกด้าน ไม่เฉพาะการเจรจาขอปรับลดค่าเช่าที่ดินกับสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เพียงด้านเดียว


“AOT มี 2 สถานะคือรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทวงการคลัง และบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้น ซึ่งในฐานะรัฐวิสาหกิจต้องคำนึงถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจรอบด้าน หลายมิติทั้งในประเทศ และระหว่างประเทศ ดังนั้นการให้ความช่วยเหลือคู่สัญญาถือเป็นการลดอัตราการว่างงานในระยะยาวลงได้ทางหนึ่ง ส่วนในฐานะบจ.บอร์ดก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ มีการควบคุมค่าใช้จ่ายและเร่งสร้างฐานรายได้จากธุรกิจอื่นเข้ามาเสริมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการลงทุนก็ต้องมีระยะเวลา แต่เมื่อถึงจุดที่จะสามารถสร้างผลตอบแทนก็จะให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าในระยะยาว”


@คุ้มกว่าเลิกสัญญา


ขณะที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ระบุว่า มาตรการปิดน่านฟ้าได้ผลให้จำนวนผู้โดยสารต่างประเทศลดลงกว่า 99%นั้น เป็นเหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้คู้ค้า สามารถใช้สิทธิขอยกเลิกสัญญาได้โดยไม่มีค่าปรับ หากมีการเปิดประมูลใหม่จะมีความสุ่มเสี่ยงด้านผลตอบแทนทำให้เกิดความเสียหายกว่าเดิม รวมไปถึงหาก ปล่อยให้มีการยกเลิกสัญญา ไม่ว่าจะเป็นสัญญาของผู้ประกอบการขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ จะกระทบต่อการจ้างงานจำนวนมาก


ทั้งนี้ด้านนายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ได้ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ทันหุ้นก่อนหน้านี้ ยังคงเนินงานตามกลยุทธ์เน้นการสร้างรายได้จากธุรกิจที่ไม่ใช่การบิน (Non-Aero) ดังนั้น การที่ AOT ได้พิจารณาลดค่าเช่าเป็นผลกระทบในระยะสั้น ขณะเดียวกัน AOT ยังคงดำเนินโครงการอื่นอย่างต่อเนื่อง ทั้ง เมืองการบิน(Airport City), Digital Platform เพื่อช่วยปรับลดค่าใช้จ่ายในระยะยาว, รวมถึงการพัฒนารูปแบบของแอพพลิเคชั่น AOT Digital Airports ให้ครอบคลุมการบริการและสามารถอำนวยความสะดวกสบายให้กับผู้เดินทางได้มากที่สุด เมื่อภาวะวิกฤติคลี่คลายก็จะสามารถให้บริการเต็มรูปแบบ (Full option)ได้ทันที พร้อมกันนี้ได้เตรียมความพร้อมของบริษัทลูกทั้ง บริษัท รักษาความปลอดภัย ท่าอากาศยานไทย จำกัด และบริษัท บริการภาคพื้น ท่าอากาศยาน จำกัด ให้มีความพร้อมในการรับงานต่างๆ เพื่อสร้างรายได้ส่งกลับเข้ามายัง AOT ในอนาคต


นายดิษฐนพ วัธนเวคิน นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัทหลักทรัพย์โนมูระพัฒนสิน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ฝ่ายวิเคราะห์คาดการณ์ปี 2563 (สิ้นสุดเดือนกันยายน 2563) นี้ AOT จะมีกำไร 2,556 ล้านบาทลดลง 90%YoY และจะพลิกขาดทุนถึง 8,292 ล้านบาทในปี 2564 (ต.ค.63-ต.ค.64) แต่ต้องติดตามผลของมาตรการ “เราเที่ยวด้วยกัน” รวมถึงความคืบหน้ามาตรการ Travel Bubble ที่คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในไตรมาส 4/2563 โดย AOT มีปัจจัยหนุนรออยู่ คือการเจรจาขอปรับลดอัตราค่าเช่าที่ดินสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จากกรมธนารักษ์ ซึ่งตามปกติ AOT จ่ายเป็น “รายจ่ายประจำ” อยู่ที่ 2,400 ล้านบาทต่อปี ซึ่งหากสามารถปรับลดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ได้ จะทำให้ต้นทุนการดำเนินงานปรับลดลงตั้งแต่ปี 2563 (ปิดงบเดือนกันยายน 2563) นี้เป็นต้นไปโดยราคาที่ปรับตัวลดลงในระยะนี้แนะนำ “ซื้อเก็งกำไร” ราคาเหมาะสมที่ 61.50 บาท

จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ่านต่อ

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X