> อาหารสมอง >

28 กันยายน 2020 เวลา 13:09 น.

NRF ผู้นำ Future Food อาหารแห่งอนาคต

“บริษัทมีความต้องการที่จะเพิ่มช่องทางการขายผลิตภัณฑ์ของบริษัท ผ่าน E-commerce จากก่อนหน้านี้ไม่มีช่องทางการขายผ่านออนไลน์ เพื่อรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 เพื่อเร่งการเติบโตของยอดขายในช่องทางออนไลน์ของบริษัท”


สำหรับ IPO น้องใหม่ ป้ายแดงที่เตรียมตัวจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และคงต้องสร้างความตื่นเต้นให้แก่ตลาดหุ้นไทยและอุตสาหกรรมอาหารอยู่ไม่น้อย นั่นคือ บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ NRF ผู้ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายเครื่องปรุงรสอาหาร อาหารสำเร็จรูปพร้อมปรุง อาหาร และเครื่องดื่มสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน อาหารโปรตีนจากพืช โดยผลิตภัณฑ์ของบริษัทมีมากกว่า 2,000 SKU และมากกว่า 500 สูตรอาหาร มีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ไปกว่า 25 ประเทศทั่วโลก ภายใต้วิสัยทัศน์


“เราจะสร้างผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อมอบประสบการณ์ที่มีความสุขให้แก่ผู้บริโภคอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตของทุกคน


เปิดธุรกิจ NRF

นายแดน ปฐมวาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร NRF เป็นผู้ที่มีความรู้ในการพัฒนาธุรกิจอาหารอย่างยั่งยืนได้รับการยอมรับจากหลายองค์กร จะเล่าถึงแนวคิดในการทำธุรกิจให้ฟัง โดยธุรกิจของ NRF จะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. กลุ่ม Ethnic Food ซึ่งประกอบด้วยธุรกิจผลิตภัณฑ์รับจ้างผลิต (OEM และ Private Brand) และธุรกิจผลิตภัณฑ์ภายใต้ตราสินค้าของบริษัท (NRF Brand Ethnic Foods) 2.กลุ่ม Plant-Based Food ได้แก่ธุรกิจผลิตภัณฑ์อาหารโปรตีนจากพืช และ 3. กลุ่ม Functional Product ได้แก่ธุรกิจผลิตภัณฑ์ที่ทำหน้าที่เฉพาะด้าน รวมถึงสินค้าอุปโภคที่ไม่ใช่อาหารในบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม (V-Shapes)


ซึ่งบริษัทมีเป้าหมายที่จะเป็นหนึ่งในผู้นำระดับโลกในการเป็นผู้ผลิตอาหารแห่งอนาคต “Future Food” จะเน้นการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมผลิตภัณฑ์อาหาร Specialty Food อย่างยั่งยืนและมีรสชาติที่ถูกปากเพื่อสร้างความสุขและส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้บริโภค โดยหนึ่งในกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจที่สำคัญคือ การเพิ่มสัดส่วนรายได้ในกลุ่ม Plant-Based Food ผลิตภัณฑ์อาหารโปรตีนจากพืชมีการเติบโตอย่างมากจากกระแสนิยมการรักษาสุขภาพ และต้องการเห็นโลกที่ดีขึ้น ซึ่งในปัจจุบัน ผู้บริโภคมองหาผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่ตอบโจทย์เรื่องคุณประโยชน์และดีต่อสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดในสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และประเทศในทวีปยุโรป


เติบโต

ทั้งนี้เมื่อมองมูลค่าตลาด Plant-Based Food ทั่วโลก เฉพาะกลุ่มเนื้อ (ไม่รวมนมถั่วเหลือง) คือ Plant-Based Meat หรือเนื้อจากพืช อยู่ที่ประมาณ 5,000ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคาดว่าภายใน 10 ปีข้างหน้า จะเติบโตไปที่ 85,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นการเติบโตอย่างมาก ภายในระยะเวลาเพียง 10 ปี ขณะที่ปัจจุบัน ยังไม่มีโรงงานผลิตปราศจากเนื้อสัตว์ (Dedicated Plant-Based Facilities) ที่รับทำ OEM ระดับโลกในเรื่องของ Plant-Based Food ซึ่งบริษัทถือเป็นบริษัทแรกๆที่ดำเนินการ สำหรับในประเทศไทยบริษัทได้เริ่มมีการทดลองโดยนำเข้าผลิตภัณฑ์ของ Meatless Farm ช่วงเทศกาลกินเจในปีที่ผ่านมา ทำให้เห็นว่าคนไทยนิยมผลิตภัณฑ์เนื้อเทียมประเภทใด ลักษณะอย่างไร อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีตัวเลขด้านมูลค่าการตลาดเกี่ยวกับ Plant-Based Food ที่ชัดเจน แต่ปีที่ผ่านมายอดขาย Plant-Based Food ของบริษัทอยู่ที่ 20 ล้านบาท และมีโอกาสที่จะเติบโตเป็นตัวเลข 3 หลัก ซึ่งการเติบโตจะมาจากความน่าสนใจในตัวผลิตภัณฑ์ และจะมีการนำเข้าสินค้ากลุ่มนี้มากขึ้น ทำให้มูลค่าตลาดก็จะเพิ่มขึ้นในอนาคต


แผนอนาคต

สำหรับการลงทุนของกลุ่ม Plant-Based Food ในช่วงที่ผ่านมา บริษัทได้เข้าไปร่วมลงทุนกับ THE BRECKS COMPANY LIMITED หรือ ‘เบรคส์’ ที่มีประสบการณ์ยาวนานกว่า 27 ปี ในธุรกิจผลิตอาหารโปรตีนจากพืช โดยร่วมกันจัดตั้งบริษัทใหม่ภายใต้ชื่อ Plant and Bean Ltd. ที่ประเทศอังกฤษ รับจ้างผลิตอาหารโปรตีนจากพืช ให้กับบริษัทอาหารชั้นนำของโลก ในประเทศอังกฤษและยังมีแผนที่จะขยายโรงงานเพิ่มในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากมีมูลค่าตลาดขนาดใหญ่ หรือคิดเป็นราว 70% ทั่วโลก รวมไปถึงในอนาคตมีแผนที่จะตั้งโรงงานในประเทศจีน เพื่อรองรับความต้องการของประชากรในจีน ขณะที่โรงงานในไทยบริษัทจะดำเนินการก่อสร้าง เพื่อรองรับลูกค้าในเอเชียแปซิฟิคทั้งหมด พร้อมทั้งมีเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนรายได้ของกลุ่ม Plant-Based Food ในปี 2567 ให้ถึงประมาณ 40%  จากรายได้รวมทั้งหมด


ผู้นำผลิตอุตสาหกรรมอาหาร

บริษัทมีความมุ่งมั่นที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำของอุตสาหกรรมผลิตอาหารโปรตีนจากพืชในประเทศไทยและเป็นผู้ผลิตของอุตสาหกรรมนี้ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล และยังมีนโยบายร่วมทุนกับบริษัท ชั้นนำระดับโลกเพื่อเป็นการเพิ่มพูนความรู้และความชำนาญในการผลิตอาหารโปรตีนจากพืชในระดับมาตรฐานสากล ให้ก้าวทันเทคโนโลยี และผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ โดยมีหลักเกณฑ์ในการร่วมลงทุน หรือซื้อกิจการ เพื่อส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจ ทั้งด้านการเงินและการดำเนินงาน


ขณะที่กลุ่มธุรกิจกลุ่ม Ethnic Food (OEM / Private Label และ NRF Brands) แบ่งเป็น ผลิตภัณฑ์รับจ้างผลิต (OEM / Private Label) และ ผลิตภัณฑ์ภายใต้ตราสินค้าของบริษัทฯ จำนวน 6 แบรนด์ ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงต้มยำและเครื่องปรุงแกง ภายใต้แบรนด์ พ่อขวัญ เครื่องปรุงอาหารที่เน้นรสชาติแบบเอเชีย แบรนด์ Lee Brand อาหารสำเร็จรูป ในบรรจุภัณฑ์ที่พร้อมนำเข้าเตาไมโครเวฟและรับประทานได้ทันที เช่น ข้าวราดแกง ผัดไท แบรนด์ Thai Delight เครื่องปรุงรสอาหารและซุปกึ่งสำเร็จรูป แบรนด์ Shanggie เครื่องดื่มสำเร็จรูปชนิดผงและน้ำ แบรนด์ DeDe และเครื่องปรุงรสอาหารและพริกในรูปแบบขนมขบเคี้ยว แบรนด์ Sabzu ซึ่งพร้อมเดินหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์และขยายตลาด โดยผสมผสานการใช้วัตถุดิบหลักจากโครงการที่บริษัทร่วมมือกับเกษตรกร และผู้จัดหาวัตถุดิบที่หลากหลายจากแหล่งผลิตหลักในประเทศไทย


ส่วนธุรกิจกลุ่ม Functional Product หรือ ธุรกิจผลิตภัณฑ์สินค้าอุปโภคที่ไม่ใช่อาหารในบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม (V-shapes) อาทิ ผลิตภัณฑ์เจลแอลกอฮอล์ในบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาการขยายไปยังผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ในอนาคต เช่น อาหาร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขอนามัยส่วนบุคคล เป็นต้น


ฐานแกร่ง-เข้าตลท.

ขณะเดียวกันบริษัทมีความต้องการที่จะเพิ่มช่องทางการขายผลิตภัณฑ์ของบริษัท ผ่าน E-commerce จากก่อนหน้านี้ไม่มีช่องทางการขายผ่านออนไลน์ เพื่อรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 อีกทั้ง เห็นโอกาสในการขยายผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ของบริษัทฯ ผ่านการลงทุนในธุรกิจที่มีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคในระบบออนไลน์ เพื่อเร่งการเติบโตของยอดขายในช่องทางออนไลน์ของบริษัท ซึ่งจากแผนงานเบื้องต้น และโอกาสธุรกิจใหม่ๆ บริษัท คาดว่ายอดขายเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 3,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปีข้างหน้า หรือภายในปี 2567 หรือเพิ่มขึ้น3 เท่าตัว


สำหรับความคืบหน้าในการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (SET) ขณะนี้อยู่ระหว่างการให้ข้อมูลแก่นักลงทุนสถาบัน โดยบริษัทจะเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 340 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นไม่เกินร้อยละ 25.08 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัท โดยแบ่งเป็นการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน จำนวนไม่เกิน 290ล้านหุ้น และเสนอขายหุ้นสามัญโดยผู้ถือหุ้นเดิม คือ บริษัท ดีพีเอ ฟันด์ เอส จำกัด จำนวนไม่เกิน 50 ล้านหุ้น คาดว่าจะนำ NRF จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายในปี 2563 ซึ่งภายหลังเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนครั้งนี้ จะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน ลงทุนโครงการในอนาคต และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนภายในกิจการ


สำหรับผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรกของปี 2563 บริษัท มีรายได้รวม 603.7 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 41.1 ล้านบาท เติบโตเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้ 517.4 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 16.3 ล้านบาท ส่วนปี 2562 บริษัทมีรายได้ 1,119 ล้านบาท และมีกำไรจากการดำเนินงาน 111 ล้านบาท


โดย ณัฏฐ์ชญา ปุริมปรัชญ์ภัทร


อยากลงทุนสำเร็จ เป็นเพื่อนกับเรา พร้อมรับข่าวสารได้ทุกช่องทางที่
APP ทันหุ้น ANDROID คลิ๊ก https://qrgo.page.link/US6SA
APP ทันหุ้น IOS คลิ๊ก https://qrgo.page.link/QJKT7
LINE@ คลิ๊ก https://lin.ee/uFms4n5
FACEBOOK คลิ๊ก https://www.facebook.com/Thunhoonofficial/
YOUTUBE คลิ๊ก https://www.youtube.com/channel/UCYizTVGMealUUalT6VdUdNA
TELEGRAM คลิ๊ก https://t.me/thunhoon_news
Twitter คลิ๊ก https://twitter.com/thunhoon1

จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X