> อาหารสมอง >

17 ตุลาคม 2020 เวลา 11:00 น.

จับตาเศรษฐกิจอาเซียน 4 มีแนวโน้มผ่านจุดต่ำสุด

เศรษฐกิจอาเซียน 4 ในไตรมาส 2 ปี 2020 หดตัวอย่างหนักจากผลกระทบของ COVID-19 โดยการหดตัวมีแนวโน้มผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในเดือนเมษายน-พฤษภาคม มาตรการปิดเมืองอย่างเข้มงวดตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคมในแต่ละประเทศได้ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักลงและนำไปสู่รายได้ที่ลดลงและอัตราการว่างงานที่สูงขึ้นทำให้การบริโภคและการผลิตภายในแต่ละประเทศหดตัวลง 

ทั้งนี้การผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองในช่วงเดือนมิถุนายน ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว แต่ทว่าสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ภายในของแต่ละประเทศในกลุ่มอาเซียน 4 โดยเฉพาะอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ที่กลับมาเร่งตัวขึ้น ยังคงเป็นแรงกดดันให้มาตรการปิดเมืองในเดือนกรกฎาคมเป็นต้นมาจนถึงปลายเดือนสิงหาคมกลับมาเข้มงวดขึ้นอีกครั้ง และส่งผลกดดันต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ 


ในขณะเดียวกันภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงฟื้นตัวช้ายังคงเป็นแรงกดดันต่อการส่งออกและการลงทุนจากต่างประเทศ ที่ผ่านมารัฐบาลและธนาคารกลางของกลุ่มอาเซียน 4 ได้ดำเนินนโยบายแบบการคลังและการเงินแบบผ่อนคลาย เพื่ออัดฉีดสภาพคล่องและช่วยเหลือธุรกิจรวมทั้งแรงงานที่ได้รับผลกระทบ โดย EIC คาดว่านโยบายในครึ่งปีหลังจะยังคงเป็นแบบผ่อนคลายต่อเนื่อง แม้ว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจอาจเริ่มมีข้อจำกัดทั้งในด้านนโยบายการคลังและการเงินจากปัจจัยต่าง ๆ ของแต่ละประเทศ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในระยะต่อไปน่าจะมีแนวโน้มแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยยังมีความเสี่ยงและความไม่แน่นอนอยู่ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 และแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก


อินโดนีเซีย เศรษฐกิจหดตัว -5.3%YOY ในไตรมาส 2 หลังขยายตัว 3%YOY ในไตรมาส 1 จากการหดตัวของการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุน ซึ่งคิดเป็น 53.5% และ 30.6% ของ GDP ตามลำดับ มาตรการปิดเมืองบางส่วนตั้งแต่เดือนเมษายนส่งผลให้ทั้งการบริโภคและการผลิตหดตัวจากรายได้และการจ้างงานที่ลดลงทั้งนี้เมื่อเทียบเป็นรายเดือน การหดตัวมีแนวโน้มผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว สะท้อนได้จากยอดค้าปลีกที่ฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดที่ -20.6%YOY ในเดือนพฤษภาคม กลับมาที่ -17.1%YOY และ -12.3%YOY ในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคมตามลำดับ และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (Manufacturing PMI) รวมทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence Index) ที่มีสัญญาณฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 


การผ่อนคลายนโยบายปิดเมืองตั้งแต่เดือนมิถุนายนจะส่งผลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ในช่วงครึ่งปีหลัง แต่สถานการณ์ผู้ติดเชื้อที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นอุปสรรคสำคัญต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและผู้ผลิต ที่ผ่านมารัฐบาลอินโดนีเซียได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาด 4.4% ของ GDP ในขณะที่ธนาคารกลางอินโดนีเซียได้ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงถึง 100 bps นับตั้งแต่ต้นปี มาอยู่ที่ 4% โดยมีแรงกดดันอ่อนค่าของเงินรูเปียเป็นข้อจำกัดสำคัญในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก ทั้งนี้ EIC คาดว่าเศรษฐกิจอินโดนีเซียจะหดตัว -1% ในปี 2020 และคาดว่าจะกลับมาเติบโตได้ที่ 4.3% ในปี 2021


มาเลเซีย เศรษฐกิจหดตัว -17.1%YOY ในไตรมาส 2 หลังขยายตัว 0.7%YOY ในไตรมาส 1 จากการหดตัวในภาคส่วนสำคัญโดยเฉพาะในภาคบริการและการผลิต ซึ่งคิดเป็น 55.5% และ 21.4% ของ GDP ตามลำดับ มาตรการปิดเมืองตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมได้ส่งผลให้การผลิตและการจ้างงานหดตัวลง สะท้อนได้จากดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ลดลงต่ำสุดถึง -32%YOY ในเดือนเมษายน และอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้นสูงสุดถึง 5.3% ในเดือนพฤษภาคม 


ทั้งนี้การหดตัวของทั้งสองปัจจัยมีแนวโน้มผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วโดย EIC คาดว่าการผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองอย่างเป็นลำดับขั้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคมและมิถุนายน จะส่งผลให้เศรษฐกิจในครึ่งปีหลังฟื้นตัวอย่างช้า ๆ นอกจากนี้ การส่งออกที่กลับมาขยายตัวอีกครั้งในเดือนมิถุนายนโดยเฉพาะในส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ จะเป็นปัจจัยที่ช่วยเร่งการฟื้นตัวในภาคการผลิต แต่ราคาน้ำมันโลกที่ฟื้นตัวช้าอาจยังเป็นความเสี่ยงต่อมูลค่าการส่งออกโดยรวม ที่ผ่านมารัฐบาลมาเลเซียได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาด 4.3% ของ GDP โดยหนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้น 4.7 pptไปเป็น 59% ของ GDP ในไตรมาส 2 อาจเป็นข้อจำกัดสำคัญของนโยบายการคลัง ในขณะเดียวกัน ธนาคารกลางได้ปรับอัตราดอกเบี้ยลงถึง 100 bps นับตั้งแต่ต้นปี มาที่ 1.75% และมีแนวโน้มจะปรับลงได้อีกจากแรงกดดันเงินเฟ้อที่ลดลงในปีนี้ ทั้งนี้ EIC คาดว่าเศรษฐกิจมาเลเซียจะหดตัว -7% ในปี 2020 และคาดว่าจะกลับมาเติบโตได้ที่ 7.5% ในปี 2021

ฟิลิปปินส์ เศรษฐกิจหดตัว -16.5%YOY ในไตรมาส 2 หลังหดตัว -0.7%YOY ในไตรมาส 1 จากการหดตัวของการบริโภคภาคเอกชนซึ่งหดตัว-15.5%YOY และการลงทุนซึ่งหดตัวถึง -53.5%YOY โดยทั้งสองคิดเป็นสัดส่วน 71.2% และ 28.2% ของ GDP ตามลำดับ มาตรการปิดเมืองอย่างเข้มงวดตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม ส่งผลให้เศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ชะงักอย่างรุนแรง ทั้งนี้เมื่อเทียบเป็นรายเดือน การหดตัวทั้งด้านการบริโภคและการผลิตมีแนวโน้มผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว 


สะท้อนได้จากทั้งยอดค้าปลีกและดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Production Index) ที่ฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดในเดือนพฤษภาคม แต่ทั้งสองยังอยู่ต่ำกว่าระดับก่อนวิกฤติอยู่มาก EIC คาดว่าการผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนจะช่วยให้เศรษฐกิจในครึ่งปีหลังฟื้นตัวอย่างช้า ๆ แต่สถานการณ์ระบาดของ COVID-19 ที่รุนแรงขึ้นในเดือนสิงหาคมจนนำไปสู่การปิดเมืองเข้มงวดระยะสั้นอีกครั้งในเกาะลูซอน อาจส่งผลให้การฟื้นตัวช้าลงอีก ที่ผ่านมารัฐบาลฟิลิปปินส์ได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาด 3.1% ของ GDP และอยู่ระหว่างการพิจารณาออกมาตรการเพิ่มเติมในครึ่งปีหลัง ซึ่งยังมีช่องว่างให้ทำได้ สะท้อนจากหนี้สาธารณะของฟิลิปปินส์ที่ยังอยู่ 48.1% ของ GDP ในไตรมาสที่ 2 (เพิ่มสูงขึ้น4.7ppt จากไตรมาสที่ 1) 


ในขณะเดียวกันธนาคารกลางได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงถึง 175 bps นับตั้งแต่ต้นปี มาอยู่ที่ 2.25%และมีแนวโน้มที่จะคงไว้ในครึ่งหลังของปี อย่างไรก็ดี อัตราการว่างงานของฟิลิปปินส์ที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 17.7%ในเดือนเมษายนเป็นประเด็นที่ต้องเฝ้าระวังอย่างยิ่ง เพราะจะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการฟื้นตัวของการบริโภคในประเทศ ทั้งนี้ EIC คาดว่าเศรษฐกิจฟิลิปปินส์จะหดตัว -9% ในปี 2020 และคาดว่าจะกลับมาเติบโตได้ที่ 8.7% ในปี 2021


สิงคโปร์ เศรษฐกิจหดตัว -13.2%YOY ในไตรมาส 2 หลังหดตัว -0.7%YOY ในไตรมาส 1 จากการหดตัวของการบริโภคภาคเอกชนซึ่งหดตัวถึง -28.2%YOY และภาคการลงทุนซึ่งหดตัวถึง -27.2%YOY โดยทั้งสองคิดเป็น 31.3% และ 21.3% ของ GDP ตามลำดับ มาตรการปิดเมืองบางส่วนตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก แต่การผ่อนคลายมาตรการอย่างเป็นลำดับ ในเดือนมิถุนายนเป็นต้นมาส่งผลให้ทั้งการบริโภคและการผลิตฟื้นตัวจากจุดต่ำสุด สะท้อนได้จากยอดค้าปลีกที่ฟื้นตัวจากจุดต่ำสุด -46.3%YOY ในเดือนพฤษภาคม มาที่ -25.2%YOY ในเดือนมิถุนายน และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาพรวมเศรษฐกิจ (Whole Economy PMI) ที่ฟื้นตัวจากจุดต่ำสุด 27.1 ในเดือนพฤษภาคม มาที่ 43.2 ในเดือนมิถุนายน 


โดย EIC คาดว่าการฟื้นตัวจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปในครึ่งปีหลัง เนื่องจากเศรษฐกิจสิงคโปร์พึ่งพาอุปสงค์ต่างประเทศสูงมาก โดยเฉพาะการส่งออกที่คิดเป็น 173.5% ของ GDP การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังเป็นไปอย่างช้า ๆ รวมทั้งความเสี่ยงของการกลับมาระบาดของ COVID-19 ในประเทศคู่ค้าและในสิงคโปร์เอง อาจเป็นแรงกดดันสำคัญต่อการฟื้นตัวของสิงคโปร์ที่ผ่านมารัฐบาลสิงคโปร์ได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดถึง 19.7% ของ GDP โดยกว่า 80%ของงบทั้งหมดเป็นเงินช่วยเหลือครัวเรือนและภาคธุรกิจโดยตรงและงบที่เหลือเป็นกองทุนสำรองสำหรับกิจการในประเทศที่ขาดสภาพคล่อง ในขณะเดียวกันธนาคารกลางสิงคโปร์ยังคงนโยบายผ่อนคลายต่อเนื่อง ทั้งนี้ EIC คาดว่าเศรษฐกิจสิงคโปร์จะหดตัว -6% ในปี 2020 และคาดว่าจะกลับมาเติบโตได้ที่ 5.2% ในปี 2021

จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X