> เป้าลงทุน หุ้นคาร์บอนต่ำ >

20 พฤศจิกายน 2020 เวลา 15:19 น.

ตลาดทุนดิจิทัลในยุค New Normal (ตอนที่ 2)

โดย นางสาวอาชินี ปัทมะสุคนธ์

ผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายธุรกิจตัวกลาง

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)


สวัสดีค่ะทุกท่าน กลับมาพบกันอีกครั้งกับบทความภาคต่อของการยกระดับตลาดทุนไทยสู่ยุคดิจิทัลด้วยการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลกลาง (digital infrastructure) โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาปรับใช้ในกระบวนการตลาดทุนทั้งหมดตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง (end-to-end process) รองรับทุกผลิตภัณฑ์ในธุรกิจตลาดทุน เพื่อให้สอดรับกับวิถีชีวิตใหม่ในยุค new normal ที่ผู้คนหันมาทำธุรกรรมผ่านระบบออนไลน์กันมากขึ้นซึ่งโครงการนี้จะเริ่มใช้งานบางส่วนในอนาคตอันใกล้

ในคราวที่แล้วได้เล่าถึงแนวคิดของ ก.ล.ต ที่ต้องการสร้างสภาพแวดล้อมให้การเข้าสู่ตลาดทุนเป็นเรื่องง่ายจึงริเริ่มการใช้งานแบบฟอร์มมาตรฐาน หรือที่เรียกว่า single form ที่ช่วยให้ผู้ลงทุนกรอกข้อมูลเปิดบัญชีเพียงครั้งเดียวก็สามารถลงทุนได้ทุกรูปแบบ และสามารถนำแบบฟอร์มเปิดบัญชีดังกล่าวไปใช้เปิดบัญชีกับผู้ให้บริการรายอื่นได้อีกโดยไม่ต้องกรอกข้อมูลซ้ำ (คลิกอ่าน “ตลาดทุนดิจิทัลในยุค New Normal” (ตอนที่ 1))


คราวนี้จะขอเล่าให้ฟังกันต่อว่า แม้ผู้ลงทุนจะกรอกข้อมูลตามแบบฟอร์มเปิดบัญชีและ uploadไฟล์หลักฐานผ่านเว็บไซต์หรือ mobile application ของผู้ให้บริการ (หรือ reuse single form ที่มีอยู่แล้วส่งไปยังผู้ให้บริการ) อย่างครบถ้วนแล้วก็ใช่ว่าจะได้รับการอนุมัติให้สามารถทำธุรกรรมได้เลยทันทีเนื่องจากผู้ให้บริการที่เป็นบริษัทหลักทรัพย์จำเป็นต้องนำข้อมูลของผู้ลงทุนไปตรวจสอบเพิ่มเติมก่อน เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ที่ขอเปิดบัญชีนั้นมีตัวตนจริงและไม่ถูกแอบอ้างโดยผู้อื่นที่อาจขโมยข้อมูลและหลักฐานมาเปิดบัญชีโดยที่เจ้าของไม่รู้ตัว ซึ่งในกรณีการเปิดบัญชีออนไลน์แบบไม่พบหน้าผู้ลงทุนยังมีความเสี่ยงอยู่พอสมควร ผู้ให้บริการจึงต้องมีกระบวนการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมตามกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องและอาจใช้เวลาค่อนข้างนาน


ก.ล.ต. จึงริเริ่มให้มีแนวทางในการตรวจสอบและทำความรู้จักลูกค้า (Know Your Client: KYC) ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เรียกว่า e-KYC อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อช่วยยกระดับความน่าเชื่อถือของการตรวจสอบให้สอดคล้องกับโลกยุคดิจิทัลที่เน้นความสะดวกและไม่จำเป็นต้องเดินทางมายังสาขาที่ให้บริการ อีกทั้งยังช่วยให้กระบวนการตรวจสอบทำได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพสูง และที่สำคัญเป็นระบบแบบอัตโนมัติ โดย ก.ล.ต.ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้รองรับการทำ e-KYC พร้อมสนับสนุนผู้ให้บริการที่เป็นบริษัทหลักทรัพย์ทุกรายร่วมเป็นสมาชิกของระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลหรือ National Digital ID (NDID) ซึ่งจะทำให้การตรวจสอบตัวตนของผู้ลงทุนทำได้ง่ายเพียงไม่กี่ขั้นตอน ผ่าน mobile application สามารถดำเนินการจากที่ไหนก็ได้โดยผู้ลงทุนไม่ต้องไปยืนยันตัวตนที่สาขา


การใช้บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตนผ่านระบบ NDID สำหรับผู้ลงทุนนั้นก็ไม่ยาก เนื่องจากหากมีบัญชีเงินฝากกับธนาคารต่าง ๆ กันทุกคนอยู่แล้ว เพียงแจ้งความประสงค์ไปยังธนาคารที่ใช้บริการอยู่เพื่อขอใช้งานการพิสูจน์และยืนยันตัวตนผ่านระบบ NDID ซึ่งปัจจุบันทำได้ผ่านทั้งบริการที่สาขาธนาคารและผ่าน mobile banking ก็ได้เช่นกันซึ่งธนาคารจะดำเนินการตรวจสอบข้อมูลและหลักฐานเพิ่มเติมเล็กน้อย หลังจากนั้นก็จะสามารถใช้งานระบบ NDID ได้ โดยให้ธนาคารที่เราใช้บริการเป็นผู้ดำเนินการยืนยันตัวตนให้แทน ดังนั้นในอนาคตเมื่อผู้ลงทุนจะเปิดบัญชีหลักทรัพย์ใหม่กับบริษัทหลักทรัพย์แห่งใหม่ใดก็ตาม ก็จะสามารถใช้บริการยืนยันตัวตนด้วยระบบ NDID ได้ทันทีเพียงมี mobile banking ของธนาคาร โดยจะต้องเป็นธนาคารที่ผู้ลงทุนแจ้งความประสงค์ไว้เท่านั้นที่จะเป็นผู้ยืนยันตัวตนได้


การเปิดบัญชีผ่านระบบ NDID จะเป็นมิติใหม่ที่ช่วยให้ผู้ลงทุนเริ่มลงทุนได้ง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น สามารถทำได้จากทุกที่สอดรับกับวิถีชีวิตในยุค new normal ได้อย่างลงตัว ซึ่งเรื่องดี ๆ ที่จะเกิดกับผู้ลงทุนในยุคตลาดทุนดิจิทัลยังไม่หมดเพียงเท่านี้ คราวหน้าจะมาเล่าให้ฟังถึงความคืบหน้าด้านอื่น ๆ ที่น่าสนใจ แล้วพบกันใหม่ สวัสดีค่ะ

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)


“ก.ล.ต. ดูแลตลาดทุน เพื่อให้คุณมั่นใจ”

*****************************************

ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X