> SET > SCGP

01 ธันวาคม 2020 เวลา 08:15 น.

SCGPมุ่งตอบโจทย์ลูกค้า จัดเต็มโซลูชัน-เป้า47บาท

ทันหุ้น – SCGP เดินเกมรุกสินค้ากลุ่มแพ็คเก็จจิ้งโซลูชัน อัพฐานโกยเงิน ดันพอร์ตรายได้พุ่ง 20% หรือกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท ในปี 2564 แถมล่าสุดเปิดตัว " SCGP-Inspire Solution Studio" พร้อมทีมออกแบบและนักวิจัยมืออาชีพ หวังตอบโจทย์ลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น โบรกคาดดีล M&Pหนุนรายได้ปรับขึ้นได้อีก 5% และกำไรปรับขึ้นได้อีก 3-5% ในปี 2564 ชูพื้นฐาน 47 บาท


นายสุชัย กอประเสริฐศรี ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กิจการบรรจุภัณฑ์จากเยื่อและกระดาษ บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP เปิดเผยว่า ในปี 2564 บริษัทมีแนวทางทำตลาดสินค้าในกลุ่มบรรจุภัณฑ์ด้านโซลูชั่นให้มากขึ้น หลังพบความต้องผลิตภัณฑ์กลุ่มดังกล่าวมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าตัวเลข 2 หลัก (เติบโตไม่ต่ำกว่า 10%) จึงมองเป็นโอกาสในการสร้างยอดขายให้กับธุรกิจในอนาคต


นอกจากนี้สินค้าในกลุ่มบรรจุภัณฑ์ด้านโซลูชั่นยังมีอัตรากำไรขั้นต้น (Gross Margin) ที่สูงกว่าบรรจุภัณฑ์แบบปกติทั่วไปมากกว่า 10% ดังนั้นหากทุกอย่างเป็นไปตามที่วางไว้คาดได้เห็นสัดส่วนรายได้ในกลุ่มสินค้าโซลูชั่นขยับเพิ่มเป็นมากกว่า 20% ของรายได้รวม หรือคิดเป็นตัวเลขมากกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท ในปี 2564


อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน SCGP มีการนำเสนอบรรจุภัณฑ์และโซลูชันแบบครบวงจรให้แก่ลูกค้าในหลากหลายกลุ่มตั้งแต่ผู้ประกอบการรายย่อย SME ลูกค้าองค์กร รวมไปถึงลูกค้าแบรนด์ชั้นนำระดับโลก สามารถสร้างยอดขายประมาณ 15,000 ล้านบาท หรือราว 20% ของรายได้รวมในช่วง 9 เดือนแรกปี 2563 ที่ผ่านมา


*เปิดตัว"สตูดิโอ"นวัตกรรม


ขณะเดียวกันล่าสุดทาง SCGP ได้เปิดดำเนินการ "SCGP-Inspired Solutions Studio" ภายในนิคมอุตสาหกรรมนวนคร จังหวัดปทุมธานี เพื่อให้ลูกค้าได้สัมผัสประสบการณ์ที่แตกต่างในการนำเสนอสินค้าและบริการด้านบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร ตลอดจนทำความเข้าใจกับโซลูชันต่าง ๆ ของ SCGP เช่น โซลูชันสำหรับเศรษฐกิจหมุนเวียน โซลูชันสำหรับงายย่อย โซลูชันเพื่ออำนวยความสะดวก โซลูชันบรรจุภัณฑ์อัจฉริยะ โซลูชันสำหรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซ โซลูชันด้านกิจกรรมการตลาด เป็นต้น


“เรามองว่านอกจากลูกค้าจะได้รับประโยชน์จากสตูดิโอแห่งนี้ที่เป็นศูนย์รวมโซลูชันและนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ต่างๆ แล้ว ยังถือเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยขับเคลื่อนและเพิ่มศักยภาพในการออกแบบบรรจุภัณฑ์และเพิ่มความน่าสนใจให้อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ ตลอดถึงการเพิ่มความก้าวหน้าของบรรจุภัณฑ์ในปัจจุบันและอนาคตอีกด้วย" นายสุชัย กล่าว


*ดีล M&P เพิ่มอัพไซด์


บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด ระบุถึง SCGP ว่า สืบเนื่องมาจากเจตนารมณ์ที่ SCGP ได้ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะเข้าซื้อธุรกิจบรรจุภัณฑ์ คือ Sovi และ Go-Pak ในประเทศเวียดนาม SCGP คาดว่าธุรกรรมดังกล่าวจะแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม เมื่อใช้สมมติฐานว่า SCGP เข้าซื้อหุ้นส่วนใหญ่ (สัดส่วน 50-100%) ใน Sovi และหุ้นทั้งหมดใน Go-Pak ประเมินว่าธุรกรรมเหล่านี้จะช่วยหนุนให้รายได้ของ SCGP ปรับขึ้นได้อีก 5% และกำไรปรับขึ้นได้อีก 3-5% ในปี 2564

โดยที่ยังไม่ได้รวมเอาประโยชน์จากการผนึกกำลังทางธุรกิจเข้ามา และยังไม่ได้รวมเอาดีล M&P เหล่านี้เข้ามาไว้ในประมาณการ เนื่องจากต้องการรอรายละเอียดที่จะประกาศเพิ่มเติมในเดือนธันวาคมก่อน


ขณะที่คาดกำไรปกติของ SCGP จะเติบโตที่ CAGR 16% ในปี 2562-2565 โดยอิงกับ 1.รายได้ที่เติบโตที่ CAGR 6% ในปี 2562-2565 หลักๆ เกิดจากการขยายกำลังการผลิตและการเติบโตของปริมาณการขายด้วยการดำเนินธุรกิจของบริษัทเอง 2.อัตรากำไรขั้นต้นที่ปรับตัวดีขึ้น ผ่านทางเทคโนโลยีการผลิตใหม่ และการจัดหาวัตถุดิบได้ดีขึ้นในสายธุรกิจบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร 3.ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยที่ลดลง หลังจากนำเงินที่ได้จาก IPO ไปชำระคืนหนี้ ก่อนที่จะลงทุนขยายกำลังการผลิตและโครงการ M&P ในอนาคต ซึ่งยังไม่ได้นำมาใส่ไว้ในประมาณการ


*มีโอกาสเติบโตในอาเซียน


SCGP ตั้งเป้าขยายธุรกิจเพื่อรักษาความเป็นผู้นำผ่านทางการขยายกำลังการผลิตของบริษัท หรือทำ M&P เนื่องจากตลาดบรรจุภัณฑ์กระดาษในอาเซียนที่ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก 1.ได้รับการสนับสนุนจากรายได้ที่ใช้จ่ายได้จริงที่เพิ่มขึ้นตามอัตราการเติบโตของ GDP การเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์จากความเป็นเมืองที่เพิ่มขึ้น การเพิ่มขึ้นของประชากรที่มีรายได้ปานกลางและวัยหนุ่มสาว และปริมาณการใช้บรรจุภัณฑ์กระดาษและพลาสติกต่อประชากรในภูมิภาคที่ยังอยู่ในระดับต่ำ


2.อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์กระดาษและพลาสติกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นอุตสาหกรรมแบบกระจายตัว เนื่องจากผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษและพลาสติก 5 อันดันแรกมีส่วนแบ่งทางการตลาด 45% และ 35% ของตลาดทั้งหมดเมื่อพิจารณาจากกำลังการผลิตในปี 2562 ทำให้มีโอกาสที่จะทำ M&P มากขึ้น


*ชูเป้า 47 บาท


เริ่มต้นการวิเคราะห์ SCGP ด้วยเรทติ้ง OUTPERFORM โดยมีราคาเป้าหมายสิ้นปี 2564 อ้างอิงวิธี DCF อยู่ที่ 47 บาท โดยใช้สมมติฐาน WACC 7.5% และอัตราการเติบโตในระยะยาวที่ 2.5% ปัจจัยความเสี่ยงที่สำคัญ คือ การแข่งขันในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ ความผันผวนของต้นทุนวัตถุดิบ และความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน

จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ่านต่อ

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X