> อาหารสมอง >

22 กุมภาพันธ์ 2021 เวลา 10:58 น.

‘กัญชง’ ในวันที่ปลดล็อกเสรี

หลังจาก นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงนามให้ ‘กัญชง’ (Hemp) พืชล้มลุกในกลุ่มยาเสพติดประเภท 5  สามารถผลิต นำเข้า ส่งออก และจำหน่ายได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ตามประกาศราชกิจจานุเบกษา ตั้งแต่เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2563 โดยมีผลบังคับใช้ 30 วันนับจากออกประกาศ ซึ่งหมายความว่า นับจากวันนี้เป็นต้นไป เราจะมีผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับกัญชงออกมาให้ใช้ประโยชน์กันได้อย่างเสรี


วันนี้ The Momentum จะพาไปรู้จักกับกัญชง สมุนไพรที่กำลังได้รับการจับตามองจากสังคมไทยว่าพืชชนิดนี้มีประโยชน์อะไรบ้าง และการขออนุญาตเพาะปลูก ผลิต จนถึงนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ อย่างถูกต้องตามกฎหมายนั้น มีขั้นตอนอย่างไร


เภสัชกรหญิง สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ตามกฎกระทรวงฯ ว่าด้วยเรื่องกัญชง ปี 2563 ผู้ที่ต้องการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย และครอบครอง มี 4 ข้อที่ควรทราบ คือ


1. ขอใบอนุญาต - กรณีผลิต จำหน่าย ครอบครอง ผู้ที่อยู่ในกรุงเทพมหานครสามารถยื่นขอใบอนุญาตโดยตรงได้กับทาง อย.  ส่วนประชาชนในต่างจังหวัดสามารถขอได้กับทางสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) แต่สำหรับการยื่นคำร้องกรณีนำเข้า-ส่งออก ต้องขออนุญาตจากทาง อย. เท่านั้น


2. ปลูกในสายพันธุ์ที่ได้รับอนุญาต - ต้องมีการตรวจสอบก่อนว่า เมล็ดพันธุ์ที่ครอบครองอยู่ในข่ายได้รับอนุญาตให้เพาะปลูกหรือไม่ โดยวัดจากปริมาณ ‘สารมึนเมา’ หรือ ‘THC’ ในใบและช่อดอก ต้องไม่เกินร้อยละ 1 หากเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ถูกตัดแต่งพันธุกรรม ต้องทำการตรวจสอบสาร THC แล้วจึงจดทะเบียนเป็นเมล็ดพันธุ์รับรองกับกรมวิชาการเกษตร สุดท้ายค่อยนำไปลงทะเบียนเพาะปลูกกับ อย. (หากสาร THC เกินร้อยละ 1 จะถูกนับว่าเป็นกัญชา)


3. มีแผนดำเนินการชัดเจน ปลูกที่ไหน ใช้สายพันธุ์อะไร ขายให้ใคร


4. หากตรวจสอบว่าสาร THC มีปริมาณมากกว่าร้อยละ 1 จะถูกดำเนินการทำลายทิ้ง หรือแล้วแต่ดุลยพินิจของคณะกรรมการ


อย่างไรก็ตาม นักลงทุนและผู้เพาะปลูกกัญชง ยังคงต้องจำเงื่อนไขสำคัญที่บังคับใช้เฉพาะภายในระยะเวลา 5 ปีแรกหลังเริ่มปลดล็อกตรงส่วนนี้ให้ดี เพราะ อย. มีบทเฉพาะกาลห้ามนำเข้าส่วนต่างๆ ของกัญชง ยกเว้นเมล็ดพันธุ์สำหรับเพาะปลูก เหตุผลเนื่องจากช่วง 5 ปีแรก อย. ต้องการส่งเสริมให้เกิดการเพาะปลูกเฉพาะในประเทศไทย โดยเฉพาะในหมู่เกษตรกรรายย่อย แต่หากนำเข้าในกรณีศึกษาวิจัย หรือใช้กับทางหน่วยงานการแพทย์ยังสามารถทำได้ปกติ ซึ่งหมายความว่า เราจะเริ่มเห็นกัญชงล็อตแรกออกมาสู่ท้องตลาดหลังจากนี้อีกประมาณ 6 เดือน (ตามอายุเก็บเกี่ยว)


กัญชง (Hemp) จัดอยู่ในประเภทพืชล้มลุก อยู่ในสายวงศ์ตระกูลเดียวกับกัญชา (Marijuana) แต่มีลักษณะสีเขียวอ่อน ใบยาวกว่า ต้นสูงและกิ่งก้านแตกแขนงน้อยกว่า มีสาร THC (Tetrahydrocannabinol) อันก่อให้เกิดฤทธิ์หลอนประสาทน้อยกว่ากัญชา และมีสาร CBD (Cannabidiol) ที่มีสรรพคุณบำรุงโลหิต แก้อาการวิงเวียนศีรษะ ช่วยให้หลับสบาย แก้ท้องร่วง บรรเทาอาการอักเสบของกล้ามเนื้อ โรคมะเร็ง และสิวบนใบหน้า ลดอาการซึมเศร้า รวมถึงช่วยบรรเทาโรคพาร์กินสัน


สำหรับแต่ละส่วนของกัญชง ส่วนไหนเอาไปทำอะไรได้บ้าง และตรงส่วนไหนยังนับว่าเป็นสารเสพติดให้โทษอยู่ สามารถจำแนกออกเป็น 7 ส่วน ดังนี้


1. เมล็ดกัญชง: ไม่นับเป็นสารเสพติด

- เมล็ดสามารถนำไปสกัดเป็นน้ำมัน เพื่อเป็นส่วนประกอบของยารักษาโรค นำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร เช่น ไอศกรีม ชีส เต้าหู้ น้ำมันสลัด

- ใช้เป็นส่วนประกอบของเครื่องประทินผิว อาทิ แชมพู ครีมนวด โฟมล้างหน้า ฯลฯ (กรณีใช้กับช่องปาก หรือจุดซ่อนเร้นต้องมีสาร THC ปนเปื้อนไม่เกิน 0.001 เปอร์เซ็นต์)


2. ช่อดอก: ยังนับว่าเป็นสารเสพติด

- ปลายทางการสกัดช่อดอกเพื่อนำเอาสาร CBD ไปใช้ เช่น น้ำมันทาแก้อาการเจ็บปวด ยารักษาโรค หรือเครื่องสำอาง ยังคงทำได้ ซึ่งถือว่าไม่เป็นสารเสพติด หากสกัดแล้วไม่พบสาร THC ปนเปื้อนเกิน 0.2 เปอร์เซ็นต์ (โรงงานสกัดสารต้องมีใบอนุญาตครอบครองในการผลิต)


3. เปลือก ลำต้น เส้นใย: ไม่นับเป็นสารเสพติด

- นิยมนำเส้นใยไปแปรรูปเป็นสิ่งทอ ล่าสุดมีการอนุญาตให้นำเส้นใยกัญชงมาทอเป็นเสื้อเกราะกันกระสุน หรือแม้แต่ในประเทศญี่ปุ่นก็นำไปถักทอเป็นกิโมโน เพราะเส้นใยของกัญชงมีความเหนียวแน่นเป็นพิเศษ

- ยางจากลำต้นผสมกับยางพารา สามารถผลิตเป็นยางรถยนต์ และเปลือกนำไปบดผลิตเป็นกระดาษ


4. ใบ: ไม่นับเป็นสารเสพติด

- นิยมนำไปเป็นส่วนประกอบหลักของอาหาร เช่น บราวนี เค้ก คุกกี้ ขนมปัง ซุป ชา เบียร์ ไวน์ หรือนำมาทอดกินเปล่าๆ

- สกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย เพื่อเป็นส่วนผสมสำคัญของเครื่องสำอาง


5. กิ่งก้าน: ไม่นับเป็นสารเสพติด

- ใช้เป็นส่วนผสมหลักของยาสมุนไพรเพื่อใช้ภายนอก เช่น ยาหม่องแก้อาการวิงเวียนศีรษะ ครีมสมุนไพรแก้อาการปวดเมื่อย และลูกประคบสำหรับใช้ในแพทย์แผนไทย

- ใช้เป็นส่วนประกอบเครื่องประทินผิว เช่น สบู่ ครีมขัดผิว และ แชมพู


6. ราก: ไม่นับเป็นสารเสพติด

- ใช้เป็นส่วนประกอบสำคัญของเครื่องประทินผิว เช่น สบู่ ผงขัดผิว


7. กาก: ไม่นับเป็นสารเสพติด

กากที่เหลือจากการบดสกัด หากต้องการนำไปใช้ประโยชน์ต่อ เช่น ปุ๋ยทางการเกษตรต้องมีสาร THC หลงเหลืออยู่ไม่เกิน 0.2 เปอร์เซ็นต์ จึงไม่นับเป็นสารเสพติด


สำหรับผลิตภัณฑ์ยารักษาโรค เครื่องสำอาง และอาหาร ยังคงมีข้อสำคัญที่ต้องคำนึงไว้ คือ


1. ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง - ต้องระบุชื่อ กัญชง (HEMP) พร้อมส่วนที่ใช้ เช่น Hemp seed, Oil Hemp เป็นส่วนหนึ่งของชื่อผลิตภัณฑ์ (ยกเว้นส่วนที่มาจากช่อดอก ห้ามใส่ในชื่อผลิตภัณฑ์)


2. ผลิตภัณฑ์ยารักษาโรค - ตอนนี้ อย. อนุญาตให้ผลิตเฉพาะสำหรับใช้ทาภายนอก เช่น ยาหม่อง ยาน้ำมัน ยาครีม สเปรย์อโรมา ที่มีส่วนผสมของเมล็ดกัญชง ส่วนยาใช้ภายในที่มีส่วนประกอบของสาร CBD สามารถยื่นจดทะเบียนกับ อย. เพื่อรอเกณฑ์การพิจารณา แต่ที่สำคัญคือผลิตภัณฑ์จะต้องมีฉลากแสดงสรรพคุณชัดเจน


3. ผลิตภัณฑ์อาหาร - เบื้องต้น อย. กำลังจัดระเบียบกฎข้อใหม่ออกมารองรับ เนื่องจากขณะนี้ อย. อนุญาตให้นำเมล็ดกัญชงและน้ำมันจากเมล็ดกัญชงใส่ในอาหารเท่านั้น ส่วนสาร CBD ต้องรอพิจารณาว่าจะสามารถใส่ในอาหารได้ปริมาณเท่าใด อีกทั้งผลิตภัณฑ์อาหารต้องมีการแสดงปริมาณส่วนประกอบบนฉลากชัดเจน และที่สำคัญคือ เมื่อเป็นอาหารจะต้องไม่แสดงคุณสมบัติบำบัด บรรเทา แบบเดียวกับยารักษาโรค เพราะเมื่อเป็นอาหารแล้ว ต้องสามารถบริโภเวลาไหน ในปริมาณเท่าไรก็ได้


ส่วนคำถามว่าทำไมสาร CBD จากดอกกัญชงถึงถูกปลดล็อกให้นำมาใส่ในผลิตภัณฑ์ช้ากว่าส่วนอื่น? เภสัชกรหญิงสุภัทราให้คำตอบว่า แม้สาร CBD มีประโยชน์แต่หากมีจำนวนมากไปย่อมให้โทษ


“อย. มีหลักเกณฑ์พิจารณา กรณีเป็นยา เราก็ต้องพิจารณาแล้วว่าใส่ได้ในปริมาณเท่าไรต่อหนึ่งโดส ขณะที่อาหาร เราอนุญาตให้ใส่ได้ แต่มีเงื่อนไขว่าต้องกินได้ทุกวัน และไม่เกิดผลข้างเคียง ส่วนเมล็ดหรือน้ำมันที่ผลข้างเคียงน้อย สามารถออกกฎหมายรองรับได้ทันที แต่ อย. ก็มีความคาดหวังว่าต้องการให้กัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจเต็มตัว ฉะนั้น เราจึงพยายามเร่งนำกฎหมายรองรับออกมาให้เร็วที่สุด


“โรงสกัดน้ำมันเมล็ดกัญชง และโรงกลั่นสารจากช่อดอก ตอนนี้มีคนมาขออนุญาตก่อสร้างรอไว้แล้ว คาดว่าโรงงานต่างๆ จะเสร็จทันช่วงที่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตพอดี ภายในเวลา 3-6 เดือนนี้ หรือปลายปีนี้เราน่าจะได้เห็นภาพที่ชัดมากยิ่งขึ้น


“ส่วนเรื่องการส่งออก อย. ยินดีส่งเสริมเป็นอย่างมากในกรณีที่ปลูกในประเทศ แล้วกัญชงที่มีค่า THC เกินร้อยละ 1 ไม่ได้หมายความว่าจะกลายเป็นยาเสพติดผิดกฎหมาย แต่ทางผู้ผลิตจำเป็นต้องมีใบอนุญาตครอบครองไว้ด้วย และเมื่อต้องการส่งออกกัญชงที่มีค่า THC เกินกว่าร้อยละ 1 (ทางต่างประเทศอย่าง สหรัฐฯ กัญชงจะถูกจำกัดค่า THC ไว้ที่ 0.2) อย. จะออกใบอนุญาตส่งออกแบบเงื่อนไขยาเสพติด ส่วนทางผู้ผลิตก็ให้ไปดูเงื่อนไขการเป็นยาเสพติดของแต่ละประเทศอีกที”


ที่มา:

- https://cannabis.fda.moph.go.th/

- https://oryor.com/อย/search?keyword=กัญชง

- https://www.fda.moph.go.th/.../Narc.../SitePages/Hemp_V.aspx

- https://www.set.or.th/set/

- https://oryor.com/อย/infographic/detail/73/1772


สามารถชมงานเสวนา อย.พบนักวิเคราะห์ แจงกัญชง ย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/watch/live/?v=1052275448617251


เรื่อง: กิตตินันท์ วัฒนธิติกุล

ภาพ: สิริลักษณ์ ตะเภาหิรัญ


#TheMomentum #ทันหุ้น #Hemp #กัญชง #ปลดล็อกกัญชง #กัญชงเสรี #อย #กองควบคุมวัตถุเสพติด


[ ทันหุ้น x The Momentum ]

จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X