> เคล็ดลับลงทุน >

14 เมษายน 2021 เวลา 11:00 น.

เทคนิค Screen หุ้นแบบเร่งด่วน

Highlights

  • ปัจจุบันมีหุ้นซื้อขายบนกระดานกว่า 700 ตัว หากจะไล่ดูทุกตัว ก็คงใช้เวลานานมากๆ กว่าจะได้หุ้นพื้นฐานดีมาลงทุนสักตัว
  • การคัดกรองหุ้นด้วยเงื่อนไขต่างๆ ทำให้เราสามารถคัดเอาหุ้นที่อ่อนแอออกไป เหลือไว้เฉพาะหุ้นแข็งแกร่งเพียงไม่กี่ตัว จากนั้นเราค่อยเข้าไปวิเคราะห์เจาะลึกเฉพาะหุ้นที่คัดกรองออกมาได้ ซึ่งจะช่วยประหยัดเวลาในการวิเคราะห์ไปได้มาก

หุ้นที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้ง SET และ mai มีกว่า 700 บริษัท หากต้องเข้าไปทำความรู้จักและวิเคราะห์ทุกบริษัทคงต้องใช้เวลานานเป็นปีๆ จะมีวิธีใดที่ช่วยให้นักลงทุนคัดกรองเอาหุ้นที่อ่อนแอออกไป เหลือไว้เฉพาะหุ้นที่แข็งแกร่งเพียงไม่กี่ตัว และสามารถเข้าไปเจาะลึกรายละเอียดของหุ้นนั้นๆ ก่อนตัดสินใจลงทุน


8 ต. คัดกรองหุ้นแบบเร่งด่วน


     1.ตรวจสอบภาพรวมอุตสาหกรรมและบริษัท

เริ่มจากการตรวจสอบว่าบริษัทอยู่ในอุตสาหกรรมอะไร เป็นธุรกิจที่เราสนใจหรือไม่ แนวโน้มของอุตสาหกรรมเป็นอย่างไร ความสามารถในการแข่งขันของบริษัทเป็นอย่างไร เพื่อประเมินเบื้องต้นว่า พอใจที่จะเข้าไปลงทุนหรือหลีกเลี่ยงบริษัทหรืออุตสาหกรรมเหล่านี้


ตัวอย่างเช่น ธุรกิจบ้านจัดสรรในอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์จะขายดิบขายดี เมื่อแนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยลดลง แต่จะขายไม่ค่อยออก เมื่ออัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น การคาดการณ์ในอนาคตของเราเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยจะเป็นเครื่องชี้ว่าอุตสาหกรรมนี้จะมีแนวโน้มอย่างไร ทำให้เรามีเหตุผลประกอบที่จะตัดสินใจว่าจะเข้าไปลงทุนหรือไม่


     2.ตรวจสอบมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด


มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) หมายถึง มูลค่าของกิจการโดยวัดจากราคาตลาดของหุ้นคูณด้วยจำนวนหุ้นของบริษัท ซึ่งเราสามารถนำมูลค่าตลาดของหลักทรัพย์มาจัดกลุ่ม แบ่งเป็น 3 กลุ่ม


  • บริษัทที่มีมูลค่าตลาดสูงมาก (Large Cap.)
  • บริษัทที่มีมูลค่าตลาดปานกลาง (Mid Cap.)
  • บริษัทที่มีมูลค่าตลาดน้อย (Small Cap.)

หุ้นแต่ละกลุ่มจะมีลักษณะพิเศษเฉพาะตัว ซึ่งอาจส่งผลทั้งทางบวกและลบ ต้องดูเรื่องผลตอบแทนและความเสี่ยง โดยทั่วไปบริษัทในกลุ่ม Large Cap. จะมีความมั่นคง ส่วนบริษัทที่มีขนาดเล็กลงมาจะมีจุดเด่นในเรื่องการเติบโต


การตัดสินใจว่าสนใจหุ้นกลุ่มใดเป็นพิเศษ จะทำให้เราตัดบริษัทที่อยู่ในกลุ่มอื่นออกไปได้ ทำให้จำนวนหุ้นที่เราจะพิจารณาอย่างจริงจังเหลือน้อยลง


     3.ตรวจสอบอัตราส่วนที่ใช้ในการประเมินมูลค่า


อัตราส่วนทางการเงินที่ใช้ในการประเมินมูลค่าบางตัว เช่น อัตราส่วนราคาต่อกำไร (P/E Ratio) หรืออัตราส่วนราคาต่อยอดขาย (P/S Ratio) สามารถใช้เป็นตัวกำหนดหรือพิจารณาว่านักลงทุนในตลาดมองแนวโน้มการเติบโตของผลการดำเนินงาน (ยอดขายหรือกำไร) ของบริษัทอย่างไร


หากบริษัทมีอัตราส่วนเหล่านี้ “สูง” แสดงว่า 1 บาทของกำไรหรือยอดขาย นักลงทุนในตลาดให้ความสำคัญมาก มองว่าบริษัทนั้นจะเติบโตต่อไปได้ ราคาหุ้นในวันนี้จึงมีค่าสูง ซึ่งหุ้นที่มีอัตราส่วนที่ใช้ในการประเมินมูลค่าสูง มักถูกประเมินว่าเป็นหุ้นเติบโต (Growth Stock)


ส่วนหุ้นที่มีอัตราส่วนเหล่านี้ “ต่ำ” จะถูกประเมินว่าเป็นหุ้นคุณค่า (Value Stock) เนื่องจาก 1 บาทของกำไรหรือยอดขาย นักลงทุนเห็นว่าไม่ได้มีผลกระทบต่อการขยายตัวของกิจการ ราคาหุ้นในตลาดจึงไม่สะท้อนมากนัก


การแบ่งกลุ่มประเภทหุ้นออกเป็น Growth หรือ Value Stock จึงสามารถใช้คัดสรรหุ้นให้เหลือกลุ่มเป้าหมายจำนวนน้อยลงได้


     4.ตรวจสอบปริมาณการซื้อขาย


ปริมาณการซื้อขาย (Trading Volume) คือ จำนวนเฉลี่ยของหุ้นที่ซื้อและขายต่อวันในช่วงระยะเวลาหนึ่ง หากค่าเฉลี่ยของปริมาณการซื้อขายต่อวันมีค่าน้อย สะท้อนว่าหุ้นของบริษัทนั้นไม่ค่อยมีสภาพคล่องในการซื้อขาย ถือเป็นอุปสรรคในการลงทุนอย่างหนึ่ง เราจึงสามารถนำปริมาณการซื้อขายมาเป็นเกณฑ์ในการคัดกรองหุ้นให้เหลือน้อยลงได้เช่นกัน


     5.ตรวจสอบจำนวนหุ้นที่สามารถซื้อขายได้


จำนวนหุ้นที่สามารถซื้อขายได้ (Free Float) คือ จำนวนหุ้นของบริษัทที่อยู่ในมือของนักลงทุนโดยไม่รวมจำนวนของผู้บริหารและกรรมการซึ่งอยู่ระหว่างการห้ามนำออกมาขายแก่สาธารณชน (Silent Period) จำนวนหุ้นที่เรียกว่า “Float” แสดงให้เห็นถึงโอกาสที่จะมีการเปลี่ยนมือในการซื้อขายประจำวัน


การดูจำนวนหุ้นที่ Float นี้ เกี่ยวข้องกับกลยุทธ์การเลือกหรือค้นหาหุ้น นักลงทุนบางคนค้นหาบริษัทที่น่าสนใจและมีจำนวนหุ้นที่ Float ไม่มากนัก เนื่องจากถ้ามีข้อมูลในทิศทางบวกของบริษัทและซื้อเอาไว้ก็จะมีโอกาสได้กำไรสูง และมีนักลงทุนบางคนสนใจหุ้นที่มี Float มาก เพราะมีแนวโน้มของสภาพคล่องในการซื้อขายสูง โอกาสเข้าหรือออกจากตลาดในการซื้อขายก็จะทำได้ง่าย


     6.ตรวจสอบกระแสเงินสดของกิจการ

การคัดเลือกหุ้นเข้าพอร์ตก็ดูจากกระแสเงินสดได้ โดยเฉพาะกระแสเงินสดสุทธิจากการดำเนินงาน ซึ่งมาจากกำไรสุทธิและกระแสเงินสดสุทธิอื่นๆ ที่ได้จากการดำเนินงาน โดยดูได้จากงบกระแสเงินสด ซึ่งกระแสเงินสดนี้ใช้เป็นเกณฑ์เบื้องต้นที่จะบอกว่าบริษัทมีฝีมือในการบริหารงานจากธุรกิจหลักอย่างไร


     7.ตรวจสอบประวัติการเติบโตของยอดขายและกำไรในอดีต

เกณฑ์อันหนึ่งที่เราใช้พิจารณาว่าหุ้นของบริษัทนั้นน่าสนใจหรือไม่ คือ การติดตามดูประวัติการเติบโตของยอดขายและกำไรในอดีต บริษัทที่น่าสนใจจะมีขนาดและอัตราการเติบโตของยอดขายและกำไรที่เพิ่มขึ้นและมีความต่อเนื่อง


     8. ตรวจสอบความล้าสมัยของผลิตภัณฑ์ของกิจการ

การเลือกหุ้นเข้าพอร์ตต้องดูด้วยว่า... สินค้าและบริการของบริษัทมีแนวโน้มล้าสมัยหรือไม่ เพราะมีผลกระทบต่อโอกาสการเติบโต ทั้งการลงทุนในสินทรัพย์ ยอดขาย และกำไร ถ้าพบว่าผลิตภัณฑ์ของบริษัทล้าสมัย เราสามารถใช้เป็นเกณฑ์ตัดหุ้นของบริษัทเหล่านั้นออกจากการพิจารณาได้


เพียงเท่านี้... ก็สามารถคัดกรองหุ้นให้เหลือจำนวนน้อยลง อยู่ในวิสัยที่พอรับมือได้ งานที่เหลือหลังจากนี้เป็นหน้าที่ของนักลงทุนที่จะต้องไปศึกษาข้อมูลปัจจัยพื้นฐานต่างๆ เพื่อตัดสินใจลงทุนต่อไป


ที่มา : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย


อยากลงทุนสำเร็จ เป็นเพื่อนกับเรา พร้อมรับข่าวสารได้ทุกช่องทางที่
APP ทันหุ้น ANDROID คลิก https://qrgo.page.link/US6SA
APP ทันหุ้น IOS คลิก https://qrgo.page.link/QJKT7
LINE@ คลิก https://lin.ee/uFms4n5
FACEBOOK คลิก https://www.facebook.com/Thunhoonofficial/
YOUTUBE คลิก https://www.youtube.com/channel/UCYizTVGMealUUalT6VdUdNA
TELEGRAM คลิก https://t.me/thunhoon_news
Twitter คลิก https://twitter.com/thunhoon1


จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X