> รู้ทันการลงทุน >

23 เมษายน 2021 เวลา 14:09 น.

Green Premium –ผลตอบแทนส่วนเพิ่มสีเขียว

ในช่วงที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นสิ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงกันอย่างหนาหู เนื่องจากการมีคนจำนวนมากที่เริ่มตระหนักถึงภัยพิบัติธรรมชาติที่มีผลลัพท์มาจากการทำลายสิ่งแวดล้อมของน้ำมือมนุษย์เองนั้น ทำให้เกิดแรงกระตุ้นที่ผลักดันให้เกิดความร่วมมือกันทั่วโลกเพื่อต่อสู้กับปัญหาดังกล่าว


สิ่งหนึ่งที่สะท้อนว่าทั่วโลกกำลังต่อสู้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คือ ความตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งประเทศที่เข้าร่วมในข้อตกลงนั้น จะต้องเปิดเผย Nationally determined contribution หรือ NDCซึ่งเป็นเสมือนแผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของแต่ละประเทศ ที่ระบุถึงแนวทางการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายตามความตกลงปารีส 


ดังนั้น NDC จึงเปรียบเสมือนคำมั่นสัญญาที่สะท้อน “ระดับความมุ่งมั่น”ของแต่ละประเทศในการลดโลกร้อน ซึ่งจากข้อมูลล่าสุดนั้น มีถึง 197 ประเทศที่เข้าร่วมในข้อตกลงดังกล่าว หรือก็คือเกือบทั้งโลกที่แสดงจุดยืนต่อการต่อสู้กับปัญหาโลกร้อนไปแล้ว


จากแรงขับเคลื่อนของการต่อสู้กับปัญหาโลกร้อนนี้ ทำให้ประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกลายเป็นหนึ่งในกระแสหลักของโลกที่แม้แต่ในโลกการลงทุนเองก็ถูกนำมาพูดถึงกันอย่างเข้มข้นทีเดียว เนื่องจากแรงขับเคลื่อนจากภาครัฐจะทำให้ต้นทุนการดำเนินงานของธุรกิจที่ปล่อยคาร์บอนปรับสูงขึ้น หรือมีอัตรากำไรต่ำกว่าธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งทำให้หุ้นของธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมีแนวโน้มสร้างผลตอบแทนให้กับนักลงทุนได้เหนือกว่า 


โดยผลตอบแทนส่วนเพิ่มนี้ถูกเรียกว่า Green premium หรือผลตอบแทนส่วนเพิ่มสีเขียว อย่างไรก็ตาม หากภาครัฐของประเทศนั้นไม่ได้เข้มงวดในการออกมาตรการเพื่อจัดระเบียบธุรกิจให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากพอ  Green premiumก็อาจไม่เกิดขึ้นในตลาดหุ้นของประเทศเหล่านั้น


NDCสะท้อนการสนับสนุนของรัฐ

ดังนั้น ด้วยตรรกะนี้ เราสามารถสรุปได้หรือไม่ว่า Green premium เกิดขึ้นเพราะส่วนหนึ่งมาจากแรงสนับสนุนของภาครัฐ? งานศึกษาของMSCI บริษัททำดัชนีราคาหุ้นชั้นนำของโลก ช่วยสนับสนุนแนวคิดนี้ได้เป็นอย่างดี โดยหลักฐานเชิงประจักษ์ชี้ให้เห็นว่าGreen premium เกิดขึ้นเมื่อภาครัฐของประเทศนั้นมี NDC ที่แสดงถึงความมุ่งมั่นและเข้มงวดต่อประเด็นด้านสภาพภูมิอากาศ และมีลักษณะตรงข้ามเมื่อประเทศเหล่านั้นยังไม่มี NDC ที่เข้มงวดมากพอ 


โดยจากชุดข้อมูลช่วงปี 2014-2021 นั้น ตลาดหุ้นในประเทศพัฒนาแล้ว (ไม่รวมสหรัฐฯ) แสดงให้เห็นว่ากลุ่มธุรกิจคาร์บอนต่ำมีผลตอบแทนและอัตราการเติบโตของกำไรที่สูงกว่ากลุ่มธุรกิจที่ปล่อยคาร์บอนสูง


ส่วนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ นั้นกลุ่มธุรกิจคาร์บอนต่ำมีผลตอบแทนเหนือกว่าหุ้นที่ปล่อยคาร์บอนสูงอยู่เล็กน้อย แต่ปรากฎว่าอัตราการเติบโตของกำไรต่ำกว่า ซึ่งเป็นเพราะในช่วงของชุดข้อมูลบางส่วนเป็นช่วงของยุคประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่มีนโยบายด้านพลังงานในการสนับสนุนธุรกิจน้ำมันที่ได้จากฟอสซิล ซึ่งทำให้กลุ่มธุรกิจพลังงานฟอสซิลเติบโตดี 


กลุ่มคาร์บอนต่ำทำยิลด์ดี

แต่ถึงกระนั้น เพื่อพ้นช่วงกลางปี ค.ศ. 2018 ฝั่งราคาหุ้นธุรกิจคาร์บอนต่ำก็สามารถเด้งกลับมาเฉือนชนะได้ในช่วงท้ายของชุดข้อมูลอย่างสวยงาม ในขณะที่ในกลุ่มของประเทศกำลังพัฒนากลับไม่ได้มีปรากฎการณ์นี้เกิดขึ้น หนำซ้ำหุ้นกลุ่มธุรกิจคาร์บอนต่ำกลับมีผลตอบแทนและอัตราการเติบโตของกำไรที่ด้อยกว่าหุ้นกลุ่มธุรกิจที่ปล่อยคาร์บอนสูงอยู่เล็กน้อยอีกด้วย


ทาง MSCI ชี้ให้เห็นว่า ความแตกต่างของ NDC ระหว่างประเทศพัฒนาแล้ว กับประเทศกำลังพัฒนา สามารถอธิบายผลลัพท์ข้างต้นได้ เนื่องจากกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วถือเป็นผู้นำในด้านการผลักดันนโยบายและมาตรการต่างๆเพื่อให้ประเทศตัวเองเข้าสู่สังคมไร้การปล่อยคาร์บอน เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ 


สหภาพยุโรปทำจริง

โดยเฉพาะในสหภาพยุโรป ที่มีความจริงจังในเรื่องนี้มากที่สุด มีทั้งการประกาศนโยบาย “European Green Deal” เพื่อเร่งให้ภูมิภาคเป็นสังคมไร้การปล่อยคาร์บอน และไม่นานมานี้ยังประกาศแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบขนส่งอัจฉริยะอย่างยั่งยืนฉบับใหม่ (EU Strategy on Sustainable and Smart Mobility) ที่เน้นให้ระบบการขนส่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น หรือแม้แต่ธนาคารกลางยุโรปเองก็นำประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้ามารวมเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายในการดูแลเสถียรภาพราคาและระบบการเงิน


 ในขณะที่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนายังดูมีความโลเลอยู่ เนื่องจากประเทศเหล่านี้ยังต้องพึ่งพารายได้จากกิจกรรมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เห็นได้จากซาอุดิอาระเบีย บราซิล รัสเซีย ที่ยังคงมองหาการลงทุนในพลังงานฟอซซิลอย่างต่อเนื่อง


มีแต้มต่อ เพราะเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม

 โดยสรุปแล้ว ความแตกต่างของ NDCในแต่ละภูมิภาค นำไปสู่ผลการดำเนินงานด้านการเงินของบริษัทจดทะเบียนที่แตกต่างกัน ประเทศที่เข้มงวดในด้านปัญหาสภาพภูมิอากาศมีแนวโน้มที่Green premium จะสะท้อนอยู่ในราคาหุ้น หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมี “แต้มต่อ” มากกว่าธุรกิจที่ปล่อยคาร์บอนด้วยปัจจัยหลักจากแรงสนับสนุนของภาครัฐ 


ในขณะที่ประเทศที่ยังไม่มีมาตรการที่เข้มงวด ตลาดหุ้นก็จะไม่สะท้อน Green premium อยู่ในมูลค่า ดังนั้นยิ่งภาครัฐมีความมุ่งมั่นในการลดโลกร้อนมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นแรงผลักดันที่ทำให้เกิด Green Premium ในตลาดหุ้นมากเท่านั้น แรงสนับสนุนจากภาครัฐจึงถือเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักในการวิเคราะห์กระแสการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศมากกว่าการลงทุนในประเด็นอื่นๆพอสมควร


จีน-อินเดีย-ไทย

ขานรับการลดคาร์บอน

ถึงแม้ Green premium ดูเหมือนยังไม่สะท้อนในมูลค่าหุ้นของกลุ่มตลาดเกิดใหม่ในปัจจุบันก็จริง แต่ก็มีแนวโน้มที่ในอนาคต เราจะเห็นปรากฎการณ์แบบนี้เกิดขึ้นในตลาดหุ้นของภูมิภาคนี้ได้ เพราะช่วงที่ผ่านมา หลายประเทศกำลังพัฒนาเริ่มหันมาเดินทางเข้าสู่สายรักษ์โลกกันเป็นจำนวนมาก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือประเทศจีนที่ประกาศแผนพัฒนาเศรษฐกิจระยะ 5ปี ฉบับที่ 14 มาเมื่อไม่นานมานี้ โดยตั้งเป้าหมายเป็นสังคมไร้การปล่อยคาร์บอนภายในปี 2060 หรือในอินเดีย ที่ผู้นำประเทศ นเรนทระ โมที ก็เน้นย้ำอยู่บ่อยครั้งในเรื่องปัญหาภูมิอากาศ และพร้อมจะเพิ่มปริมาณการผลิตพลังงานหมุนเวียนภายในประเทศ 


รวมถึงประเทศไทยเองก็เริ่มเตรียมความพร้อมมาบ้างแล้วจากการจัดตั้งองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก หรือ อบก.ในปี 2007และตั้งเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจกลง 20-25% จากการดำเนินงานปกติของเศรษฐกิจภายในปี 2030 นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยเองก็เข้าร่วมเป็นสมาชิกในเครือข่าย Network for Greening the Financial System (NGFS) ในปลายปี พ.ศ.2562เพื่อร่วมสนับสนุนเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ บอกโดยนัยว่าภาครัฐไทยก็เริ่มตระหนักถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศที่มีต่อเสถียรภาพของระบบการเงินและเศรษฐกิจเช่นกัน


ดังนั้น เราอาจจะเห็น Green premium สะท้อนในมูลค่าตลาดหุ้นกำลังพัฒนา รวมถึงตลาดหุ้นไทย เพื่อให้นักลงทุนได้ไขว่คว้าผลตอบแทนสีเขียวเหล่านั้นเข้ามาในพอร์ตโฟลิโอได้บ้าง และเชื่อว่าเมื่อทิศทางของนโยบายต่างๆเริ่มเดินไปในทิศทางของเศรษฐกิจสีเขียวมากขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เราอาจจะได้เห็นตำราการลงทุนที่ต้องปรับปรุงเพิ่มเติม เพื่อสะท้อนวิธีการประเมินมูลค่าหลักทรัพย์ที่คำนึงถึงสิ่งที่เรียกว่า Green premium ก็เป็นได้


ผู้เขียน: ยุทธวีร์ ชื่นบรรลือสุข, CFA, FRM

[email protected]

จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X