> เคล็ดลับลงทุน >

08 มิถุนายน 2021 เวลา 18:07 น.

QE Tapering กับหุ้นกลุ่ม Growth

สถานการณ์โควิดในต่างแดนหลายแห่งเริ่มปรับตัวดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เศรษฐกิจของประเทศเหล่านั้นก็ส่งสัญญาณดีขึ้นตามไปด้วย ล่าสุดตัวเลขการเดินทางด้วยสายการบินของสหรัฐฯ ฟื้นตัวกลับขึ้นมากว่า 60% ของที่หดตัวลงไปในช่วงโควิด แต่เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น แถมตัวเลขเงินเฟ้อก็ปรับตัวเพิ่มขึ้น ทำให้หลายคนเริ่มมีความกังวลว่าเฟดจะถอนมาตรการ QE ซึ่งความกังวลดังกล่าวส่งผลให้หุ้นกลุ่มที่เน้นการเติบโต (Growth stocks) ที่ให้ผลตอบแทนดีในปีก่อน


ทั้งนี้ ในช่วงที่สภาพคล่องอยู่ในระดับสูงอย่างเช่นในปีก่อน ดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ ต้นทุนทางการเงินต่ำลง กำไรของบริษัทก็เพิ่มขึ้น ในด้านนักลงทุนเมื่อต้นทุนทางการเงินต่ำลงก็สามารถหาโอกาสสร้างกำไรได้เพิ่มขึ้น จึงทำให้หุ้นประเภทที่เน้นการการเติบโตมักจะให้ผลตอบแทนที่ดี ดัชนี MSCI ACWI Growth Index ปรับตัวขึ้นถึง 32.4% ในปี 2020 ผิดกับดัชนี MSCI ACWI Value Index ซึ่งสะท้อนหุ้น “คุณค่า” ทั่วโลกที่ให้ผลตอบติดลบที่ -2.9%


แต่พอมาในปีนี้ (จนถึงวันที่ 4 มิ.ย.) กลายเป็นดัชนี MSCI ACWI Value ให้ผลตอบแทน 15.6% มากกว่าผลตอบแทนของ MSCI ACWI Growth ที่ 6.1% ถึงกว่าเท่าตัวเลยทีเดียว ซึ่งอาจเป็นเหตุผลด้วยความ Laggard หรือการมองไปถึงธีมเปิดประเทศ (Re-opening) ซึ่งมักจะให้ประโยชน์กับอุตสาหกรรมที่อยู่ในกลุ่มหุ้น “คุณค่า” หรือแม้กระทั่ง ความกังวลต่อการทำ QE Tapering ก็กดดันหุ้นกลุ่ม Growth ไปด้วย

ทั้งนี้เรามองว่าเป็นไปได้ที่เฟดจะออกมาประกาศลดวงเงินเข้าซื้อพันธบัตรในช่วงปลายปีนี้ก่อนที่จะเริ่มดำเนินการจริงในช่วงปีหน้า เมื่อเศรษฐกิจส่งสัญญาณฟื้นตัวที่ชัดเจนกว่านี้และเข้าใกล้ระดับศักยภาพมากกว่าในปัจจุบัน โดยการเพิ่มขึ้นของ Yield ที่ผ่านมาเป็นผลจากการคาดการณ์เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น จึงเป็นไปได้ว่าหากเฟดประกาศถอน “คันเร่ง” ก็อาจทำให้ Yield เพิ่มขึ้นได้อีก ทำให้ตลาดตกใจได้บ้าง แต่กระนั้นปริมาณเงินที่ยังคงมากในระบบ จะทำให้การปรับขึ้นของดอกเบี้ยนั้นไม่มากจนถึงขั้นกระทบกระเทือนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

มิหนำซ้ำ เรามองถึงความเป็นไปได้ว่า Taper Tantrum ได้ “เกิดขึ้น” ไปแล้ว และอาจจะ “จบลงไปแล้ว” เพราะหากมองในการเฟดทำ Tapering ในครั้งก่อนในช่วงปี 2013 เราเห็น Yield ของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีปรับเพิ่มขึ้น 110 bps ใน 7 เดือนช่วงแรก ตั้งแต่ประธานเฟดในสมัยนั้นคือ คุณเบน เบอร์นันเก้ ออกมาแถลงต่อหน้ากรรมาธิการด้านการเงินของสภาคองเกรสว่าเฟดจะเริ่มลดการซื้อพันธบัตรในมาตรการ QE ลง


ซึ่งในครั้งนั้น QE ถือเป็นของใหม่ นักลงทุนจึงยังไม่รู้ว่าเฟดจะถอนมาตรการกระตุ้นเมื่อใด หรือจะถอนหรือไม่ เพราะในตอนนั้นมีการพูดถึง “QE Infinity” เสียด้วยซ้ำ คือ คิดว่าเฟดจะ “พิมพ์” เงินออกมาเรื่อยๆ ทำให้ตลาดตกอกตกใจเป็นอย่างมาก นำไปสู่การเร่งขายพันธบัตร แต่ในรอบนี้ นักลงทุนรับทราบอยู่แล้วว่าซักวันหนึ่งเฟดก็ต้องชะลอมาตรการดังกล่าว ดังนั้น นักลงทุนจึงไม่จำเป็นต้องรอให้เฟดออกมาประกาศจริงๆ แต่ด้วยภาวะแวดล้อมต่างๆ ทำให้เชื่อได้ว่าเฟดน่าจะถอนมาตรการกระตุ้นในวันใดวันหนึ่งข้างหน้า นั่นก็อาจจะเพียงพอที่ทำให้นักลงทุนเริ่มที่จะ “รับรู้” เรื่องของ QE Tapering ไปแล้ว


แถมในการปรับเพิ่มขึ้นของ Yield ตั้งแต่ปลายปีก่อนก็ใกล้เคียงกับการปรับเพิ่มของ Yield ในรอบที่ทำ Tapering ในครั้งแรกด้วย และหลังจากที่ Yield ปรับเพิ่มขึ้นถึง 7 เดือน หลังจากนั้นก็เป็นขาลงในกว่า 2 ปีต่อมา จึงน่าชวนให้คิดว่า Tapering จบไปแล้วหรือยัง? และถ้าตลาด “รับข่าว” ไปมากแล้ว ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นคงต้องบอกว่า “น้อย” เมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นจริง


หากมองในมุมเฟด เฟดเองก็รับทราบว่าในครั้งก่อนตลาด “รับข่าว” การทำ QE Tapering ค่อนข้างรุนแรง สร้างภาวะตึงตัวให้กับตลาดการเงิน สินทรัพย์เสี่ยงปรับตัวลดลง ส่งผลให้ความมั่งคั่ง (Wealth) และความเชื่อมั่นของประชาชนลดลง กลายเป็นสิ่งหักล้างความพยายามของเฟดที่ดำเนินมาตรการ QE มาหลายปี


บทเรียนในครั้งนั้นน่าจะทำให้เฟดเตรียมการในการถอนมาตรการช่วยเหลือได้ดีขึ้นในคราวนี้ การสื่อสารต่างๆ เป็นความตั้งใจ (By design) ของเฟดที่จะทำให้ตลาดค่อยๆ ทยอยๆ “รับข่าว” QE Tapering ไปเรื่อยๆ ซึ่งจะทำให้ตลาดอาจมีความผันผวนเล็กน้อย เป็นระยะๆ แต่จะไม่ทำให้เกิดการตกอกตกใจครั้งใหญ่จนนำพามาซึ่งความผันผวนขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นสิ่งที่เฟดต้องการหลบเลี่ยงมากกว่า


ด้วยมุมมองเช่นนี้ ทำให้เรามองว่าหุ้นกลุ่มที่เน้นการเติบโตอาจจะกลับมีความน่าสนใจเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ โดยรวม เรายังให้เน้นการลงทุนใน “สินทรัพย์” อยู่ และยังคงเน้นให้มีการ “กระจายการลงทุน” ที่เพียงพอ เพราะในอนาคตเรายังเชื่อตลาดยังจะมีความผันผวนเป็นระยะๆ อย่างที่กล่าวข้างต้น แต่ในพอร์ตสินทรัพย์เสี่ยงนั้น อาจจะเริ่มทยอยสะสมหุ้นกลุ่ม Growth ได้มากขึ้นเมื่อความผันผวนเหล่านั้นเกิดขึ้น โดยอาจจะมองไปยังกองทุนเช่น


กองทุนเปิดเคแทม เวิลด์ เทคโนโลยี อาร์ทิฟิเชียล อินเทลลิเจนซ์ อิควิตี้ ฟันด์ (KT-WTAI) ซึ่งเป็นกองทุนมีนโยบายเน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน Allianz Global Artificial Intelligence (กองทุนหลัก) ในหน่วยลงทุนชนิด Class AT (USD) ซึ่งเสนอขายสำหรับลูกค้ารายย่อย โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของ NAV โดยกองทุนรวมหลักมีนโยบายการลงทุนที่เน้นการเติบโตของเงินทุนระยะยาว โดยลงทุนอย่างน้อย 70% ของมูลค่าทรัพย์สินของกองทุน ในตลาดตราสารทุนทั่วโลกที่ธุรกิจของบริษัทจะได้รับประโยชน์จาก/ หรือเกี่ยวข้องกับวิวัฒนาการของปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ในปัจจุบัน


รวมไปถึง กองทุนเปิดเคแทม ไชน่า อิควิตี้ ฟันด์ (KT-CHINA-A)ซึ่งมีนโยบายการลงทุนที่ส่งผลให้มี Net Exposure ที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงต่างประเทศ โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน โดยกองทุนจะเน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน BGF China Fund (กองทุนหลัก) เพียงกองเดียว โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชี ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม หรือตามอัตราส่วนที่สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. จะประกาศกำหนด โดยกองทุนหลักดังกล่าวมีนโยบายที่จะสร้างผลตอบแทนรวมสูงสุด โดยลงทุนอย่างน้อย 70% ของสินทรัพย์รวมของกองทุนในตราสารทุนของบริษัทที่มีภูมิลำเนาอยู่ใน หรือเป็นส่วนหนึ่งที่ได้รับผลประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจ ในสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นต้น นะครับ


คอลัมน์ Investment-Focus

โดย ดร.สมชัย อมรธรรม

ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนและลูกค้าสัมพันธ์

บลจ. กรุงไทย

จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X