> Digital Coin >

12 มิถุนายน 2021 เวลา 17:00 น.

ธนาคารกลางชาติไหนบ้างที่หนุนเงินดิจิทัล

กระแสของเงินดิจิทัลในเวลานี้ต้องยอมรับว่าเป็นการบ่งชี้ถึงนวัตกรรมทางการเงินที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป และการเปลี่ยนแปลงนี้ย่อมสร้างผลกระทบต่อรูปแบบการเงินยุคเก่า ที่เป็นเงินเหรียญหรือเงินกระดาษที่ใช้งานกันมาหลายร้อยปี ให้เกิดความสั่นคลอนอยู่ไม่น้อย เนื่องจากการพัฒนาทางเทคโนโลยีการเงินที่ก้าวกระโดดไกลกว่าที่ระบบการควบคุมการเงินในแบบเดิมจะก้าวตามทัน ทำให้ธนาคารกลางของแต่ละประเทศมีความหวั่นวิตกว่า เงินดิจิทัลเหล่านี้จะมาทำให้ระบบการเงินดั้งเดิมนั้นอ่อนแอลง และเสื่อมค่าอย่างรวดเร็ว หลายประเทศจึงต้องรีบออกตัวป้องกัน เพื่อไม่ให้เงินดิจิทัลมากระทบกับระบบการเงินดั้งเดิม


แต่ก็มีอีกหลายประเทศที่เล็งเห็นว่า อย่างไรเสียโลกก็ต้องเข้าสู่ยุคของเงินดิจิทัล ไม่ว่าจะเร็วหรือช้าก็ต้องถึงวันนั้น สู้กระโดดเข้าไปเพื่อสร้างสกุลเงินดิจิทัลในนามของแบงก์ชาติเลยจะดีกว่า เพราะสามารถควบคุมเสถียรภาพค่าเงินได้ รวมทั้งยังมีความน่าเชื่อถือเพราะเป็นสกุลเงินที่แบงก์ชาตินั้นๆ เป็นเจ้าของ


เมื่อโลกการเงินเริ่มแบ่งออกเป็น 2 ฝั่งแบบนี้ ไปดูกันว่าธนาคารกลางของประเทศไหนบ้างที่สนับสนุนเงินดิจิทัล


จีน : หลายคนคงทราบแล้วว่าเงินหยวนดิจิทัล สกุลเงินที่ถูกสร้างขึ้นโดยธนาคารกลางของจีน ถูกผลักดันอย่างมากที่จะให้สามารถใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน และมันก็เป็นจริงดังที่แบงก์ชาติของจีนตั้งเป้าเอาไว้ ด้วยการที่ประเทศจีนมีระบบสังคมไร้เงินสด หรือการจ่ายเงินผ่านแอปพลิเคชันมานานหลายปีก่อนหน้านี้ ทำให้เป็นสิ่งที่คนจีนคุ้นชินกับการใช้เงินโดยไม่ต้องถือเงินในมือ และหยวนดิจิทัลก็มีมูลค่าเท่ากับเงินหยวนในรูปแบบกระดาษ ใช้แทนเงินหยวนในชีวิตประจำได้ เพียงแต่เปลี่ยนจากธนบัตรมาเป็นแบบดิจิทัล โดยจะใช้ผ่านแอปที่ชื่อว่า “DCEP Wallet App” ซึ่งเป็นแอปกระเป๋าเงินที่รัฐบาลสร้างขึ้น รวมถึงสามารถใช้ผ่านแพลตฟอร์มจ่ายเงินอื่น ๆ ที่คนจีนนิยมกัน เช่น Alipay หรือ WeChat Pay ทำให้จีนกลายเป็นประเทศแรกในโลกที่มีสกุลเงินดิจิทัลแห่งชาติอย่างเป็นทางการ


ตอนนี้เงินหยวนดิจิทัลเริ่มทดลองใช้แล้วใน 4 เมืองใหญ่ของจีน ได้แก่ เซินเจิ้น ซูโจว สงอัน และเฉิงตู โดยมีธุรกิจรายใหญ่เข้าร่วมโปรเจ็กต์นำร่องหลายราย รวมถึง Starbucks, McDonald’s และ Subway นอกจากนี้รัฐบาลยังมีแผนจะจ่ายเงินเดือนพนักงานของรัฐเป็นหยวนดิจิทัลแล้วเร็ว ๆ นี้ ซึ่งแปลว่าอีกไม่นานห้างร้านต่าง ๆ ก็น่าจะถูกต้อนกลาย ๆ ให้เข้าร่วมโครงการไปด้วย ถ้าหากว่าทิศทางเป็นไปได้สวยในเมืองนำร่องเหล่านี้ ก็จะมีการผลักดันให้ใช้ทั้งประเทศ รวมทั้งการใช้ซื้อขายแลกเปลี่ยนกับประเทศคู่ค้าของจีนในอนาคตแน่นอน


สหรัฐอเมริกา : นายเจโรม พาเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ หรือ Fed เคยได้กล่าวถึงทิศทางการใช้งานเงินดิจิทัลของธนาคารกลางโดยบอกว่า ตอนนี้ Fed กำลังศึกษาการออกเงินดิจิทัลที่อาจเปิดให้คนทั่วไปใช้งานได้ด้วย (General Public) แต่การใช้ดอลลาร์ดิจิทัลที่ดีต้องเป็นส่วนเสริมของเงินสด ไม่ใช่มาแทนเงินสด และต้องมีคุณสมบัติ 4 ด้านคือ Safe, Effective, Dynamic, Efficient ที่ดีกว่าระบบจ่ายเงินในปัจจุบัน โดย Fed จะออกรายงานศึกษาเงินดิจิทัลในช่วงกลางปีนี้ และจะเปิดรับความเห็นให้รอบด้านต่อไป


ทั้งนี้นายพาเวลยังบอกว่าเงินคริปโตในปัจจุบันยังไม่ตอบโจทย์เรื่องการจ่ายเงิน (Payment) ด้วยเหตุผลว่ามูลค่าแกว่งไปมา ส่วนเงินคริปโตที่ผูกกับสกุลเงินจริง (Stablecoint) แก้ปัญหาเรื่องมูลค่าได้ ช่วยให้กระบวนการจ่ายเงินเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ก็มีความเสี่ยงในแง่การคุ้มครองผู้ถือแบบเดียวกับที่เงินสด หรือเงินฝากในบัญชีธนาคารมีอยู่ ทำให้ Fed ต้องหันมาสนใจบริษัทเอกชนกลุ่มนี้ ที่ไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลแบบดั้งเดิม


เกาหลีใต้ : ธนาคารกลางเกาหลีใต้ หรือ BoK ประกาศว่าได้เปิดตัว กระบวนการเสนอราคาเพื่อเลือกพันธมิตรด้านเทคโนโลยีสำหรับการศึกษาการปฏิบัติจริง ในการเปิดตัวสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางในสภาพแวดล้อมการทดสอบ ซึ่งความเคลื่อนไหวล่าสุดเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในระบบการเงินโลกโดยระบุว่า “ส่วนแบ่งของธุรกรรมเงินสดลดลงอย่างมาก ขั้นตอนที่เรากำลังดำเนินการตอนนี้คือ การเตรียมความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงในระบบการชำระเงินซึ่งเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว”


สำหรับ BoK จะมีการนำร่องในระบบแพล็ตฟอร์มเพื่อจำลองธนาคารพาณิชย์และร้านค้าปลีก ทดสอบการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือการโอนเงินและการฝากเงิน โครงการนำร่องมีกำหนดดำเนินการตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงธันวาคม 2564 และอาจขยายไปในปีหน้า โดยก่อนหน้านี้ในเดือนมีนาคม Shinhan Bank ธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ของเกาหลีใต้ ได้พัฒนาแพลตฟอร์มนำร่องที่ใช้บล็อกเชนสำหรับ เงินดิจิทัลแล้วโดยร่วมมือกับ LG CNS ซึ่งเป็นแผนกบริการด้านไอทีของ LG Corporation มีรายงานว่าธนาคารยินดี ที่จะร่วมมือกับ BoK ในการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลของประเทศ


รัสเซีย : ธนาคารกลางรัสเซียเตรียมพัฒนาระบบการเงินในสกุลเงิน รูเบิลดิจิทัล ที่จะเป็นอนาคตของระบบการเงินของประเทศ โดยเอลวิรา นาบิอุลลินา ผู้ว่าการธนาคารกลางของรัสเซียกล่าวยืนยันว่า เงินดิจิทัลเป็นอนาคตของระบบการเงินของประเทศ เพราะมันสัมพันธ์กับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งรัฐบาลรัสเซียได้ตีพิมพ์เอกสารการปรึกษาหารือเกี่ยวกับเงินรูเบิลดิจิทัลในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว และตั้งเป้าว่าจะมีต้นแบบพร้อมใช้ภายในสิ้นปี 2021 ในโครงการนำร่องและการทดลองต่างๆ อาจเริ่มในปีหน้า แม้ว่าเงินคริปโเตอร์เรนซี่จะเคยเป็นเรื่องผิดกฎหมายในรัสเซียจน แต่เมื่อต้นปีที่ผ่านมามีการอนุมัติสถานะใหม่ให้สกุลเงินดิจิทัลจะได้รับอนุญาต (ให้มีอยู่) ในรัสเซีย แต่จะยังไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้เพื่อแลกกับสินค้าหรือบริการใดๆ ในเวลานี้ จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงระบบการเงินของรัฐบาลเสียก่อน


ไทย : ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ ได้มีการพัฒนารูปแบบการใช้เงินดิจิทัลเพื่อการทำธุรกรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเป็นความร่วมมือระหว่างแบงก์ชาติและธนาคารกลางของประเทศอื่นๆ เช่น โครงการอินทนนท์-ไลออนร็อก (Project Inthanon-LionRock) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างธนาคารแห่งประเทศ และธนาคารกลางฮ่องกง นับเป็นโครงการสกุลเงินดิจิทัลที่มีความก้าวหน้าที่สุดทั้งในด้านการออกแบบและพัฒนาระบบแบบ Wholesale CBDC ซึ่งในปี 2562 ทางแบงก์ชาติของไทยได้ร่วมมือกับธนาคารกลางฮ่องกงในการทดสอบการใช้งาน CBDC เพื่อทำธุรกรรมข้ามพรมแดนขึ้น รวมทั้งยังเป็นการพัฒนาซอฟต์แวร์ต้นแบบในการชำระเงินระหว่างประเทศและขยายขอบเขตการใช้งานไปในด้านอื่นๆ


ทั้งนี้โครงการดังกล่าวกำลังเข้าสู่การพัฒนาระยะที่ 2 โดยได้ขยายขอบเขตการชำระเงินข้ามพรมแดนจากแบบทวิภาคี ไปสู่การรองรับสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางอื่นๆ และครอบคลุมหลายสกุลเงินมากขึ้น ซึ่งการพัฒนาเงินดิจิทัลระหว่างประเทศของไทยนั้นส่งผลให้ PwC CBDC Global Index 2021 ซึ่งจัดทำดัชนีเพื่อวัดระดับความพร้อมของธนาคารกลางทั่วโลกในการปรับใช้สกุลเงินดิจิทัล พบว่าประเทศไทยมีความก้าวหน้าด้านการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลสำหรับการทำธุรกรรมระหว่างธนาคารมากเป็นอันดับที่ 1 ของโลก ร่วมกับเขตปกครองพิเศษฮ่องกง โดยมีค่าดัชนีที่ 80 เท่ากัน


ปัจจุบันมีธนาคารกลางทั่วโลกจำนวนมากกว่า 60 แห่งที่กำลังศึกษาการพัฒนาเงินสกุลดิจิทัลทั้งในรูปแบบการใช้งานธุรกรรมระหว่างธนาคาร (Wholesale CBDC) และการใช้งานสำหรับธุรกรรมรายย่อยของภาคธุรกิจและประชาชน (Retail CBDC) โดยโครงการสกุลเงินดิจิทัลประเภทรายย่อยจะมีบทบาทในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่ต้องการมีบริการทางการเงินที่ทั่วถึง (Financial inclusion)


ขณะที่โครงการประเภทระหว่างสถาบันส่วนใหญ่เกิดอยู่ในประเทศที่มีเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วที่มีระบบกู้ยืมเงินระหว่างธนาคาร และตลาดทุนที่มีความพร้อม ซึ่งจะเห็นได้ว่าต่อให้คนจะยังไม่เข้าใจเงินดิจิทัล แต่สุดท้ายมันก็จะอยู่ในการใช้ชีวิตประจำวันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


เพราะโลกไม่เคยหยุดหมุน ไม่เคยหยุดพัฒนา ใครที่ตามไม่ทันโลก โดยเฉพาะโลกการเงิน วันหนึ่งเราจะเป็นคนล้าหลังไปทั้งๆ ที่ยืนอยู่กับที่นั่นเอง


ที่มา : วัชราทิตย์ เกษศรี 

ประวัตินักเขียน : 10 ปี ในอาชีพผู้ประกาศข่าว ผู้สื่อข่าว และครีเอทีฟโปรดิวเซอร์รายการทีวี สิงสถิตสายเศรษฐกิจมหภาค อาเซียน และต่างประเทศ จากกรุงเทพธุรกิจทีวี NOW26 NEW18 GMM25 JKN-CNBC และ NBT WORLD


ผู้ก่อตั้งเพจและเว็บไซต์ Reporter Journey ที่มีผู้ติดตามทุกแพล็ตฟอร์มกว่ากว่า 250,000 คน



อยากลงทุนสำเร็จ เป็นเพื่อนกับเรา พร้อมรับข่าวสารได้ทุกช่องทางที่
APP ทันหุ้น ANDROID คลิก https://qrgo.page.link/US6SA
APP ทันหุ้น IOS คลิก https://qrgo.page.link/QJKT7
LINE@ คลิก https://lin.ee/uFms4n5
FACEBOOK คลิก https://www.facebook.com/Thunhoonofficial/
YOUTUBE คลิก https://www.youtube.com/channel/UCYizTVGMealUUalT6VdUdNA
TELEGRAM คลิก https://t.me/thunhoon_news
Twitter คลิก https://twitter.com/thunhoon1

จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X