> SET > BAM

19 พฤศจิกายน 2021 เวลา 19:48 น.

BAM บริหารหนี้ทำทรัพย์โต ปี65ตั้งบริษัทซื้อเอ็นพีแอล

ทันหุ้น - BAM จัดเก็บเงินสดจากทรัพย์ NPL และขาย NPA ช่วง 9 เดือนแรกที่ 1.1 หมื่นล้านบาท มั่นใจผลงานปีนี้ตามเป้า 1.7 หมื่นล้านบาท หลังเดินแผนกระตุ้นตลาดต่อเนื่อง เดินหน้าเจรจาพันธมิตรคาดตั้งบริษัทร่วมทุนได้ปีหน้า เพื่อเตรียมซื้อหนี้เข้ามาบริหาร


นายรฐนนท์ ฟูเกียรติ ผู้จัดการกลุ่มนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM กล่าวว่า ผลการเรียกเก็บเงินสดงวด 9 เดือนแรกของปี 2564 ที่ทำได้ 1.1 หมื่นล้านบาท สะท้อนให้เห็นว่ากลยุทธ์การตลาดที่บริษัทดำเนินมาเพื่อกระตุ้นการตัดสินใจของกลุ่มเป้าหมาย ทั้งการเลือกซื้อทรัพย์รอการขาย (NPA) และการกลับมาผ่อนจ่ายสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPL) ของลูกหนี้


โดยการจำหน่ายทรัพย์ NPA นั้นบริษัทจะยังคงดำเนินกลยุทธ์ตามความเหมาะสมทั้งรูปแบบ ออนไลน์ และ ออนเฟส รวมถึงเดินหน้าเพิ่มสัดส่วนลูกค้าซื้อทรัพย์ “เงินผ่อน” ให้ได้ 1-1.5 พันบัญชีต่อปีควบคู่การเพิ่มบัญชีปรับโครงสร้างหนี้ลูกค้าที่เป็นหนี้เสีย (NPL) ประมาณ 3-3.5 พันบัญชีต่อปี สร้างรายได้ประจำอย่างต่อเนื่องให้กับบริษัท


เก็บเงินสดเข้าเป้า1.7หมื่นล.

ทั้งนี้บริษัทยังคงเป้าผลเรียกเก็บเงินสดงวดไตรมาส 4/2564 ที่ 6.3 พันล้านบาท โดยบริษัทอยู่ระหว่างปิดการขายทรัพย์ NPA ขนาดใหญ่มูลค่ากว่า 400 ล้านบาทกับลูกค้าเป้าหมาย 3-4 รายการ และทรัพย์ NPAขนาดกลางมูลค่าประมาณ 100 ล้านบาทกับลูกค้า 2-3 ราย ควบคู่กับการคัดทรัพย์กว่า 1 พันรายการมาจัดมหกรรม “บ้านดีสี่ดาว” พร้อมโปรโมชั่นหลากหลายเพื่อกระตุ้นการขาย


สำหรับทรัพย์ NPLนั้นบริษัทมีเงินค้างรับจากกรมบังคับคดีบางส่วน รวมถึงหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายกรมบังคับคดีก็เริ่มจัดประมูลทรัพย์ในวันเสาร์ เพื่อเร่งเคลียร์ทรัพย์ในพอร์ตที่ค้างอยู่อย่างต่อเนื่อง รวมถึงกลุ่มลูกหนี้ NPL โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย (SME) ที่มีภาระหนี้ต่ำกว่า 20 ล้านบาท, และลูกหนี้รายย่อยที่มีมูลหนี้ไม่เกิน 10 ล้านบาทเริ่มกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติมากขึ้น จึงมั่นใจว่าจะสามารถจัดเก็บเงินสดได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ และหนุนให้ผลเรียกเก็บทั้งปี 2564 แตะ 1.7 หมื่นล้านบาทได้


ปีหน้าตั้งบริษัทร่วมทุนซื้อหนี้

นายรฐนนท์ ยังกล่าวถึงความคืบหน้าการจัดตั้ง "กิจการร่วมค้า" (JV) กับสถาบันการเงิน เพื่อดำเนินธุรกิจบริหารจัดการ NPLว่าอยู่ระหว่างเจรจากำหนดวงเงินที่เหมาะสม ที่สถาบันการเงินจะใส่ทุนตั้งต้นเพื่อให้ JV สามารถดำเนินกิจการได้คล่องตัว และสามารถสร้างกำไรได้ คาดว่าจะชัดเจนภายในปีนี้ จากนั้นคาดว่าจะสามารถจัดตั้งบริษัทได้ภายในปี 2565 หนุนจากปริมาณ NPLที่คาดว่าจะทยอยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องหลังจากสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)


พร้อมกันนี้ บริษัทยังได้ตั้งกลุ่มธุรกิจจัดเก็บสินเชื่อไม่มีหลักประกัน (Clean Loan) ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าประมาณ 2 แสนล้านบาท แม้ว่าจะจัดเก็บได้เพียง 10-15% ก็จะสามารถสร้างกำไรได้ทันที โดยหากผลการเรียกเก็บมีประสิทธิผล บริษัทมีแผนจะยกระดับกลุ่มธุรกิจนี้เป็นบริษัทตามแผนการแปลงรสภาพเป็น "โฮลดิ้ง คอมพานี" ในอนาคต


กระแสเงินสดพร้อมช็อป

นายวีรเดช ศิริชาติไชย รองผู้จัดการใหญ่ สายสนับสนุนองค์กร BAM กล่าวว่าโดย ณ สิ้นไตรมาส 3/2564 บริษัทซื้อหนี้เพิ่มเข้ามาบริหารแล้วทั้งสิ้น 6,174 ล้านบาท และมียอดสะสมในงวด 9 เดือนแรกของปี 2564 ที่ 14,967 ล้านบาท ด้วยเงินลงทุนทั้งสิ้น 626 ล้านบาท แบ่งเป็นสินเชื่อ SME 83% และสินเชื่อที่อยู่อาศัย 17%


และคาดว่าบริษัทจะซื้อหนี้มากขึ้นในไตรมาส 4/2564 โดยเบื้องต้นบริษัทชนะการประมูล NPLเมื่อเดือนตุลาคม 2564 ที่ผ่านมาด้วยมูลค่าประมาณ 700 ล้านบาท จากมูลค่าทรัพย์กว่า 1,200 ล้านบาท และอยู่ระหว่างการทำ Due Diligence อีกราว 11,454 ล้านบาท  ด้านเงินทุน บริษัทอยู่ระหว่างการออกหุ้นกู้ ซึ่งมีวงเงินที่เหลือการได้รับอนุมัติอีก 3 พันล้านบาทในไตรมาส 4/2564 และมีวงเงินกู้รองรับเพื่อเสริมสภาพคล่องทั้งระยะสั้นและระยะยาวในระดับหมื่นล้านบาท

จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ่านต่อ

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X