> Digital Coin >

10 มกราคม 2022 เวลา 18:32 น.

มาแน่!ภาษีคริปโตเคาะม.ค. ซิปเม็กซ์ชงทางออกสัปดาห์นี้

สำนักข่าว “ทันหุ้น” รายงานว่า สรรพากรเตรียมสรุปเกณฑ์คิดภาษีกำไรคริปโตภายในเดือนมกราคมนี้ ฟาก“ซิปเม็กซ์”นัดจับเข่าคุยสัปดาห์นี้ พร้อมชงทางออกเก็บภาษีแบบขั้นบันได กำไรเยอะเสียภาษีเยอะ หรือคิดเทียบเท่าภาษีขายหุ้น 0.1%


ทันทีที่มีข่าวภาครัฐพิจารณาเก็บภาษีกำไรคริปโต 15% ก่อเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์และเสียงโอดครวญของบรรดาเหาฉลามและวาฬเล็ก วาฬใหญ่กันอย่างหนาหู พร้อมรอคอยความชัดเจนของข่าวดังกล่าว ล่าสุดมีข่าวว่า กรมสรรพากร เตรียมเสนอแนวทางการจัดเก็บภาษีการลงทุนในคริปโตเคอเรนซี โดยเน้นเก็บจากการเทรด และการขุดเป็นหลักในอัตรา 15% แต่ผู้ที่มีกำไรไม่เกิน 2.1 แสนบาทต่อปีจะไม่ต้องเสียภาษี แต่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภายในเดือน มี.ค.65


นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กรมสรรพากร เร่งสร้างความชัดเจนในเรื่องของหลักเกณฑ์การคิดคำนวนภาษีจากกำไร การขายหรือการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ คริปโตเคอเรนซี ให้แก่นักลงทุนและประชาชนทั่วไปนั้น กรมสรรพากรกำลังเร่งดำเนินการหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางหลักเกณฑ์การคิดภาษีจากกำไรการขายหรือการลงทุนในคริปโตเคอเรนซีให้มีความเหมาะสม คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน ม.ค.65นี้

ทั้งนี้ กรมสรรพากรได้เร่งหารือกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) รวมถึงเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชนที่ดำเนินการในเรื่องของสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อนำมาจัดทำแนวทางการปฏิบัติในการเก็บภาษีเพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับรูปแบบการลงทุนและบริบทในปัจจุบัน โดยยึดถือประโยชน์สูงสุดกับประชาชนและทุกฝ่ายเป็นสำคัญ และขอย้ำว่า กรมสรรพากรยึดแนวทางการถือเอาผู้เสียภาษีเป็นศูนย์กลาง (Taxpayer-Centric) จึงพร้อมที่จะหาแนวทางปฏิบัติเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้แก่นักลงทุนและผู้ที่เกี่ยวข้อง จากการถือครองหรือได้รับผลประโยชน์จากสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อส่งเสริมการลงทุน และสร้างแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจจากนวัตกรรมทางการเงินดังกล่าวของประเทศต่อไป


**ถกทางออกสรรพากรสัปดาห์นี้

"เอกลาภ ยิ้มวิไล" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้งซิปเม็กซ์(Zipmex)ประเทศไทย ยืนยันกับ“ทีมข่าวทันหุ้น”ว่าเตรียมเข้าพบกรมสรรพากรภายในสัปดาห์นี้เพื่อนำเสนอ 2 เรื่อง คือ นำเสนอความเข้าใจเกี่ยวกับวงการสินทรัพย์ดิจิตอลและการเก็บภาษีในประเทศอื่นๆเป็นอย่างไร นอกจากนี้ สินทรัพย์ดิจิตอลไม่ได้เป็นสินค้า จึงไม่ใช่การหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้วเข้ารัฐได้ทันที เหมือนเวลาไปตลาด ผู้ขายคือนักลงทุนคนอื่นไม่เหมือนเวลาซื้อของในตลาดที่สามารถหักภาษีได้เลย ซึ่งต้องไปหักจากผู้ขายที่ไม่ได้เป็นบริษัทหรืออะไรแต่เป็นคนอื่น ซึ่งวิธีการเก็บจะยุ่งยาก ส่วนใหญ่การเก็บภาษี ณ ที่จ่าย ไม่ใช่กับสินค้าหรือสินทรัพย์ที่มีราคาผันผวนแบบนี้ก็คงต้องอธิบายเรื่องนี้ แต่ถ้าตีความว่าเป็นสินทรัพย์จะหักภาษีบนกำไรก็ต้องนำส่วนที่ขาดทุนมาหักลบได้เช่นกัน เช่น ลงทุน 1 ปีได้กำไรสุทธิก็สามารถหักตรงนี้ได้เช่นกัน

ในส่วนของ Zipmex สามารถช่วยเก็บข้อมูลและช่วยคำนวณให้ได้ เพียงแต่ขอความชัดเจนว่าจะเก็บภาษีจากกำไรสุทธิ ไม่ได้เก็บบนสินค้าใช่หรือไม่ เป็นต้น หากมีความชัดเจนดังกล่าว เราก็สามารถสร้างระบบเพื่ออำนวยความสะดวกกับลูกค้า เช่น เทรด 1 ปีเสียภาษีเท่าไหร่เพื่อที่ลูกค้าจะสามารถกรอกรายละเอียดได้

“ส่วนตัวยืนยันว่า เรายินดีจ่ายภาษีเพราะภาษีจะช่วยให้สามารถพัฒนาวงการสินทรัพย์ดิจิตอลให้สามารถขยายการเติบโตได้ ทั้งนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดคือความชัดเจน”

แต่หากรัฐคงยืนยันเก็บภาษีจากการเทรด และการขุดในอัตรา 15%ตามเดิมนั้น ในมุมมองส่วนตัวมองว่า นักลงทุนก็จะไม่มาเปิดบัญชีซื้อขายในประเทศไทยและออกไปลงทุนต่างประเทศแทนเพราะในโลกของการเงินการลงทุนดิจิตอลนั้นไร้พรแดน นักลงทุนสามารถเปิดบัญชีหรือโอนเงินไปเทรดในต่างประเทศได้ ใช้แพลตฟอร์มต่างประเทศได้ นั่นหมายความว่าเม็ดเงินลงทุนจะไหลออกต่างประเทศ รวมทั้งผู้ประกอบการไทย อย่าง Zipmex ก็ไม่รู้จะพัฒนาการบริการและผลิตภัณฑ์ให้กับวงการไทยทำไมเพราะไม่มีนักลงทุนสนใจ ซึ่งอาจจะทำให้เสียโอกาสตรงนี้ไปเพราะตลาดสินทรัพย์ดิจิตอลไทยติด 1 ใน 10 ของโลก เรามีกฎหมายมาดูแลทำให้นักลงทุนหันมาสนใจตลาดดิจิตอลมากขึ้น ดังนั้นถือว่าสูญเสียโอกาสที่จะเป็นประเทศชั้นนำด้านสินทรัพย์ดิจิตอลในภูมิภาคนี้ ถือเป็นการเสียโอกาสอย่างมาก นอกจากนี้ยังส่งผลเสียให้คนที่สนใจทำงานในวงการนี้อาจจะลดลงทำให้นวัตกรรมไม่ได้เกิด ท้ายที่สุดระบการเก็บภาษีที่มีความชัดเจนและยุติธรรมให้กับทุกฝ่ายจะช่วยให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านสินทรัพย์ดิจิตอลได้ เราพัฒนาให้ไทยเป็นอินโนเวชั่นฮับได้อย่างแท้จริง

**ชงทางออกเก็บภาษี

ทางออกครั้งนี้ โดยส่วนตัวมองว่าสามารถเก็บภาษีแบบขั้นบรรไดได้ เช่น นักลงทุนที่ทำกำไรได้มากกว่า 1 ล้านบาทก็อาจจะเสียภาษี 15%หรือใครที่ไม่ได้มีกำไรขนาดนั้นก็เสียภาษี 5% เป็นต้น หรือหากเก็บภาษีแบบคงที่ Flat Rate 15% หรือ เก็บภาษีผู้ประกอบการ โดยทุกการซื้อขายจะบวกค่าธรรมเนียมอีก 0.1% เช่น 1 ล้านบาท คิด 1,000 บาท ดังนั้นเวลาซื้อขายผู้ประกอบการจะได้ส่งให้ทางสรรพากรได้เลย ช่วยให้นักลงทุนไม่ต้องคำนวณอะไร เป็นต้น หรือใช้มาตรฐานเดียวกับเกณฑ์ภาษีขายหุ้น 0.1% เป็นต้น

จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X