> ประกัน > BKI

30 มีนาคม 2022 เวลา 16:56 น.

ประกันโควิด BKI จบพ.ค.นี้ คาดยอดเคลมทะลุ 7 พันล.

#BKI #ทันหุ้น BKI เผย กรมธรรม์โควิดส่วนใหญ่ที่คุ้มครองจะหมดอายุสัญญา ในเดือนเมษายนนี้ และอีก 30% จะหมดในเดือนพฤษภาคมนี้ เปิดยอดเคลมโควิดคาด 7.7 พันล้านบาท ลอสเรโชสูงถึง 1,000%ขณะที่สถานะยังแกร่ง งบรวมกำไรพันล้าน พร้อมเปิดมุมมองประกันภัยต้องเตรียมรับภัยที่อุบัติขึ้นใหม่


ดร.อภิสิทธิ์ อนันตนาถรัตน ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ BKI กล่าวว่า ในส่วนของประกันโควิดที่ BKI ให้ความคุ้มครองนั้น ปัจจุบันมีอยู่ราว 1.3 ล้านกรมธรรม์ ในจำนวนนี้ราว 70%จะหมดสัญญาคุ้มครองในเดือนเมษายนปีนี้ และอีก 30% จะหมดสัญญาคุ้มครองในเดือน พฤษภาคม 2565 และในปี 2564ที่ผ่านมาสรุปเคลมโควิด ของบริษัทอยู่ที่ 3,726 ล้านบาท


ในส่วนของปี 2565 แม้กรมธรรม์จะหมดความคุ้มครองในเดือนพฤษภาคม แต่ยอมรับว่าการระบาดของสายพันธุ์โอไมครอน (Omicron) ที่ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อเร่งตัวขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมซึ่งเป็นช่วงพีคของการแพร่ระบาด ซึ่งยอดติดเชื้อมากกว่าที่บริษัทคาดไว้ อย่างไรก็ตาม บริษัทมานะการเงินแข็งแกร่งเพียงพอต่อการจ่ายเคลมที่เกิดขึ้น


ลอสเรโช1,000%

ดร.อภิสิทธิ์ คาดว่า เคลมโควิด ของปี 2565 น่าจะไม่น้อยกว่าปีที่ผ่านมา ด้วยตัวเลขคาดการณ์ที่อาจมากกว่า 4,300 ล้านบาท ซึ่งหากเทียบกับเบี้ยประกันโควิดที่บริษัทรับมาตั้งแต่เปิดขายครั้งแรก จะอยู่ที่ 670 ล้านบาท ส่วนตัวเลขเคลมโควิด รวมของปีที่ผ่านมา กับคาดการณ์ของปีนี้จะอยู่ที่กว่า 7.7พันล้านบาท คิดเป็นอัตราค่าสินไหมทดแทน (Loss Ratio) ที่สูงถึง1,000% อย่างไรก็ตามบริษัทยังคงบริหารธุรกิจให้มีกำไรได้ โดยเป็นกำไรจากการลงทุน และกำไรจากการรับประกันภัยประเภทอื่นๆ จึงทำให้สามารถนำมาทดแทนในส่วนที่ขาดทุน ส่งผลให้งบปี 2564 กำไรสุทธิ 1,055.9 ล้านบาท


แม้ความคุ้มครองของประกันโควิด BKI จะสิ้นสุดอายุสัญญาในเดือน พฤษภาคมปีนี้ แต่ภาวะ Long COVIDหรือ อาการหลงเหลือหลังติดเชื้อโควิด-19 จะเป็นความเสี่ยงด้านสุขภาพตัวใหม่ของประชากรทั่วโลก และนั่นทำให้ ประกันสุขภาพยังคงเป็นความคุ้มครองที่ประชาชนจะให้ความสำคัญ


ดร.อภิสิทธิ์  กล่าวต่อไปว่า ภาวะ Long COVIDนั้นได้สร้างผลกระทบต่อระบบร่างกายของมนุษย์ ทั้งระบบหายใจ ระบบหลอดเลือด เป็นต้น ถือเป็นผลกระทบต่อร่างกายอย่างมีนัยยะสำคัญ สิ่งที่ BKI มองคือ แนวโน้มของความคุ้มครองด้านสุขภาพ (Health Care) จะต้องปรับเปลี่ยนให้เสอดคล้องกับโรคภัยใหม่ๆที่อุบัติขึ้น หรือการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค


ยกตัวอย่างว่า อย่างช่วง 2 ปีที่ผ่านมา คนทั่วโลกกลัวการการติดเชื้อโควิด-19 ความเป็นอยู่และการใช้ชีวิตประจำวันจะมีความระมัดระวังสูง ทั้งการรักษาระยะห่าง การล้างมือ การรักษาความสะอาดปัจจัยเหล่านี้ทำให้จำนวนผู้ติดเชื่อลดลง แต่ความสะอาดที่ดีมากก็ส่งผลกับการกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้เช่นกัน ซึ่งนั้นหมายความว่า โอกาสของการเจ็บป่วย ทั้งจากไข้หวัด หรือโรคภัยต่างๆก็จะง่ายตามไปด้วย และในแง่ของบริษัทประกันภัย ต้องวางแผนและเตรียมพร้อมรับความเสี่ยงรูปแบบใหม่เหล่านี้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย


เกณฑ์จ่ายชดเชยรายวัน

ในส่วนของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ. ได้อธิบายถึง สาเหตุที่ผู้ป่วยโควิด-19 รักษาตัวอยู่ที่บ้านโดยไม่ได้ไปทำงาน ไม่สามารถเคลมค่าชดเชยรายวันได้ เนื่องจากเงื่อนไขความคุ้มครองค่าชดเชยรายวัน หรือค่าชดเชยรายได้ ตามกรมธรรม์ประกันภัยสุขภาพ เป็นการให้ความคุ้มครองเฉพาะกรณีผู้ป่วยในที่เข้ารับการรักษาตัวในสถานพยาบาลเท่านั้น ฉะนั้นการรักษาตัวแบบ Home Isolation (HI) แบบCommunity Isolation (CI) หรือ แบบ Hotel Isolation จึงไม่สามารถเคลมประกันตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ได้


ซึ่งตามแนวทางเวชปฏิบัติปัจจุบัน ผู้ป่วยที่มีภาวะเสี่ยงหรืออาการปานกลางและผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง (ผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองและสีแดง) จะต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล/สถานพยาบาล ส่วนการรักษาพยาบาล แบบ HI แบบ CI หรือแบบ Hotel Isolation เป็นการรักษากลุ่มผู้ป่วยไม่มีอาการ หรืออาการไม่รุนแรง (ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว) จึงไม่เข้าลักษณะว่ามีความจำเป็นต้องเข้ารักษาเป็นผู้ป่วยใน อย่างไรก็ตาม อนุโลมจ่ายค่าชดเชยรายวันสำหรับผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ กรณีที่ต้องเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยใน แต่สถานพยาบาลที่รองรับมีไม่เพียงพอทำให้ต้องรักษาตัวแบบ HI-CI หรือ แบบ Hotel Isolation

จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ่านต่อ

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X