> SET > SAK

29 เมษายน 2022 เวลา 13:05 น.

SAK ยอดสินเชื่อQ1กระฉูด เดินหน้าขยายพอร์ตโต31%

SAK #ทันหุ้น - SAK ชูยอดปล่อยสินเชื่อไตรมาส 1/65 เติบโตดี สอดคล้องตามเศรษฐกิจ-กำลังซื้อที่ฟื้นตัว มองความต้องการสินเชื่อหมุนเวียนยังขยายตัว พร้อมเดินหน้าขยายสาขาใหม่ต่ออีกกว่า 140 สาขา ในไตรมาส 2-3/65 หวังเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงลูกค้าใหม่ หวังเพิ่มสัญญาสินเชื่อใหม่ได้มากถึง 400,000 สัญญาก่อนสิ้นปีนี้


นายศิวพงศ์ บุญสาลี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศักดิ์สยามลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SAK ผู้ให้บริการสินเชื่อรายย่อยภายใต้แบรนด์ศักดิ์สยามลิสซิ่ง เปิดเผยว่า ประเมินภาพรวมธุรกิจและอุตสาหกรรมในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2565มองว่ามีทิศทางการเติบโตที่ดีขึ้นเมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อน ซึ่งสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและกำลังซื้อในประเทศ ที่เริ่มส่งสัญญาณการขยายตัวมาตั้งแต่ปลายปีก่อน


โค้งแรกยอดพุ่ง

ทั้งนี้ จากการที่เศรษฐกิจโดยเฉพาะในต่างจังหวัดมีการขยายตัวในทิศทางที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน ด้วยปัจจัยการเติบโตของการส่งออก ราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวขึ้น ทำให้บรรยากาศการใช้จ่ายและการดำเนินกิจกรรมการค้าเป็นไปอย่างคึกคักมากขึ้น ซึ่งมีส่วนสำคัญที่ช่วยห้ความต้องการสินเชื่อเพิ่มขึ้นเพื่อนำมาหมุนเวียน และต่อยอดธุรกิจให้กับชาวบ้านหรือเกษตรกร


สะท้อนต่อยอดการปล่อยสินเชื่อใหม่ (New loan) ที่มีการเติบโตเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และคาดว่าในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้มีโอกาสเห็นการเติบโตในระดับตัวเลขสองหลักได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ ทั้งนี้ ในปี 2565บริษัทวางเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อใหม่ไว้ที่ไม่น้อยกว่า 2,500 ล้านบาท และสนับสนุนให้พอร์ตสิ้นเชื่อคงค้างในช่วงสิ้นปีนี้จะเพิ่มขึ้นแตะระดับ 11,379 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตถึง 31% จากสิ้นปี 2564 ที่ทำได้ 8,685 ล้านบาท


นอกจากนี้ บริษัทยังคงเดินหน้าขยายสาขาใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยวางเป้าหมายเพิ่มสาขาใหม่อีก 210 สาขา ซึ่งในช่วงไตรมาสแรกปีนี้สามารถขยายเพิ่มได้แล้วกว่า 70 แห่ง คาดว่าในไตรมาส 2/2565และ 3/2565จะเพิ่มสาขาใหม่ได้อีก 140 สาขาตามเป้าหมายที่วางไว้ ขณะเดียวกันปัจจุบันบริษัทยังสนใจออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อใหม่ๆ โดยเฉพาะสินเชื่อที่ดินเพื่อการทำมาหากิน และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มเติม


คุมNPL 2.5%

โดยการขยายสาขาใหม่นั้นบริษัทจะมุ่งเข้าไปในจังหวัดที่ยังไม่มีพื้นที่ให้บริการ เพื่อสร้างฐานลูกค้าใหม่ และทำให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น สะท้อนต่อความสามารถในการรับสัญญาสินเชื่อใหม่ของบริษัทได้มากถึง 400,000 สัญญา จากสิ้นปี 2564 ที่มีสัญญาสินเชื่อแล้วประมาณ 300,000 สัญญา รวมเป็น 600,000-700,000 สัญญา ขณะเดียวกันยังคงความสามารถในการควบคุมสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในปี 2565 ให้อยู่ที่ระดับไม่เกิน 2.2-2.5% ได้ต่อเนื่อง จากสิ้นปี 2564 ที่ทำได้ 2.2% ตามเป้าหมายที่วางไว้


ส่วนบริษัทย่อย บริษัท ศักดิ์สยาม เมกเกอร์ โดรน จำกัด ที่ทาง SAK ถือหุ้นสัดส่วน 70% นั้น ในปี 2565บริษัทวางเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อโดรนไว้ที่ไม่น้อยกว่า 1,000 ลำ หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 200 ล้านบาท และด้วยความต้องการที่ขยายตัวมากทำให้มีโอกาสเห็นการเติบโตเป็นเท่าตัวจากเป้าหมายที่วางไว้ เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่มีกิจการด้านเกษตรกรรมมาก ซึ่งโดรนจะเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวก ย่นระยะเวลาการดำเนินงานและลดต้นทุน


สำหรับมุมมอง ธุรกิจสินเชื่อรายย่อยในช่วงไตรมาส 2 ถือว่าเป็นไฮซีซั่นของธุรกิจ คาดการณ์ว่าความต้องการสินเชื่อจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังเห็นสัญญาณการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมาที่ขยายตัวได้ดี โดยมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการขอสินเชื่อทะเบียนรถเป็นประกัน, สินเชื่อทะเบียนรถ (เพื่อการลงทุน) และสินเชื่อรถแลกเงิน (เช่าซื้อ) เพิ่มขึ้น


ขณะที่การบริหารควบคุมหนี้ NPLs แม้มีการแพร่ระบาดโควิด-19 บริษัทฯ ยังบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพสามารถรักษาระดับหนี้ NPLs ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม โดยการชำระค่างวดนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ของกลุ่มลูกค้ายังอยู่ในภาวะปกติ

จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ่านต่อ

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X