> กองทุน > BKI

18 กรกฎาคม 2022 เวลา 08:45 น.

“ลองโควิด”ภัยเสี่ยงระลอกใหม่ ห่วงฐานะการเงินธุรกิจประกัน

#BKI #ทันหุ้น –BKI ชี้ลองโควิดจะทำให้ตลาดประกันสุขภาพต้องจ่ายเคลมสูง โดยเฉพาะแผนที่ให้ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาล มองเป็นคลื่นความเสี่ยงภาคธุรกิจต่อจาก “เจอจ่ายจบ” ขณะที่พอร์ตงาน BKI ไม่ได้เน้นขายส่วนนี้ แต่เป็นแผนประกันโรคร้ายแรง เจอแล้วจ่ายเป็นเงินก้อน มีสัญญาณบริษัทเริ่มปฏิเสธขายให้ผู้ที่เคยป่วยโควิด


ดร.อภิสิทธิ์ อนันตนาถรัตน ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ BKI กล่าวว่า แม้แผนประกันโควิดเจอจ่ายจบ จะครบอายุความคุ้มครองหมดแล้ว แต่ภาคธุรกิจประกันภัยยังต้องเผชิญต่อผลกระทบของภาวะลองโควิด (Long COVID) จากผู้เอาประกันภัย โดยเฉพาะในแบบประกันสุขภาพที่ให้คุ้มครองเรื่องค่ารักษาพยาบาล


“เราไม่รู้ว่าผลกระทบจากลองโควิดมากน้อยแค่ไหน ยังไม่มีผลวิจัย เพราะเป็นโรคอุบัติใหม่ แต่ที่แน่ๆ ผลกระทบจากลองโควิดยังคงทำให้ผู้ป่วยบางรายแม้จะหายจากป่วยจากโควิด-19 ก็ยังต้องเข้ารับรักษาพยาบาลอย่างต่อเนื่อง และไม่รู้ว่าแต่ละรายต้องใช้เวลาการรักษานานแค่ไหน เพราะร่างกายแต่ละคนแตกต่างกัน ซึ่งเราประเมินว่า แผนประกันสุขภาพที่คุ้มครองค่ารักษาพยาบาลอาจจะมียอดเคลมที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งตรงส่วนนี้จะกระทบทั้งธุรกิจประกันชีวิต และประกันวินาศภัยที่มีพอร์ตงานประกันสุขภาพเยอะ”


ดร.อภิสิทธิ์  กล่าวว่า ในส่วนของ BKI แม้จะมีประกันสุขภาพ แต่แผนที่เน้นเสนอขาย ส่วนใหญ่เป็นความคุ้มครองโรคร้ายแรง เช่นมะเร็ง ไข้เลือดออก เป็นต้น ส่วนใหญ่ไม่ได้เน้นผลิตภัณฑ์ที่ให้ค่ารักษาแบบผู้ป่วยใน (IPD) หรือ ผู้ป่วยนอก (OPD) ซึ่งสำหรับบริษัทที่มีแผนประกันสุขภาพที่เน้นค่ารักษาพยาบาลก็ต้องบริหารจัดการความเสี่ยงให้ดี เพราะลองโควิดเป็นความเสี่ยงที่ไม่ได้นำมาคิดไว้ในกรมธรรม์ที่ออกมาก่อนหน้านี้


ขณะเดียวกัน การบังคับใช้ประกันสุขภาพ แบบแบบมาตรฐาน หรือ New Health Standard ที่มีผลบังคับใช้กับภาคธุรกิจในวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 นั้น ส่งผลให้ผู้ประกับการไม่สามารถบอกยกเลิกการต่ออายุกับลูกค้ารายเดิมได้ ยกเว้นกรณีที่พิสูจน์ว่ามีการฉ้อฉลค่าสินไหม นั่นหมายความว่าผู้ประกอบการต้องรับความเสี่ยงจากลองโควิดที่จะเกิดขึ้นด้วย เนื่องจากปัจจุบันการเปิดเมืองในหลายประเทศส่งผลให้ยอดติดเชื้อกลับมาเพิ่มขึ้น แม้อาการป่วยจะไม่รุนแรง แต่หลายคนก็เผชิญกับการเป็นลองโควิด


อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากสมาคมประกันชีวิตไทยชี้ว่า แม้บริษัทประกันจะปฏิเสธการต่อประกันสุขภาพไม่ได้ แต่กฎหมายก็เปิดทางให้ภาคธุรกิจสามารถปรับเงื่อนไขกฎเกณฑ์ให้สอดรับกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นได้เช่นกัน คือการเพิ่มเงื่อนไข ความรับผิดส่วนแรก (Deductible) และ ค่าใช้จ่ายร่วม (Copayment) เช่นบริษัทประกันออกค่าใช้จ่าย 80% ผู้เอาประกันภัยออก 20% ของค่าใช้จ่ายที่ได้รับความคุ้มครอง เป็นต้น


ปัจจุบันการทำประกันสุขภาพอาจจะยากขึ้น โดยเฉพาะผู้ป่วยโควิดบางรายอาจได้รับการปฏิเสธจากบริษัทประกันภัย ในกรณีที่จะทำประกันสุขภาพ ซึ่งเป็นภาพสะท้อนว่าภาคธุรกิจเริ่มกังวลกับผลกระทบของลองโควิด

จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ่านต่อ

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X