> เคล็ดลับลงทุน >

30 กรกฎาคม 2022 เวลา 14:00 น.

เลือกหุ้นลงทุน รับมือสถานการณ์ดอกเบี้ยขาขึ้น

ปี 2565 ทั่วโลกกำลังเผชิญกับวิกฤติเงินเฟ้อที่รุนแรง ตัวเลขเงินเฟ้อของเกือบทุกประเทศทั่วโลกพุ่งสูงสุดในรอบหลายสิบปี ต้นทุนการผลิต หรือ วัตถุดิบ มีราคาเพิ่มสูงขึ้น มีที่มาหลักๆจากราคาน้ำมัน ราคาก๊าซ ราคาอาหาร ราคาปุ๋ย ฯลฯ ที่ถูกกดดันมาจาก ต้นทุนเพิ่ม (Cost - Push Inflation)

ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นตาม นำไปสู่ราคาสินค้าสูงขึ้น ตามราคาต้นทุนที่สูงขึ้นนั่นเอง แน่นอนว่า การปล่อยให้เงินเฟ้อไหลไปโดยไม่ทำอะไรเลย จะทำให้ประชาชนกลุ่มฐานรากลำบากมาก เข้าสู่ยุคข้าวยากหมากแพง ซึ่งเป็นศัตรูตัวสำคัญของรัฐบาลและผู้กำหนดนโยบายในทุกประเทศ


นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (FED : เฟด) ซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบายดอกเบี้ย เคยย้ำถึงความมุ่งมั่นของเฟด ที่พร้อมจะทำทุกวิถีทาง เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่สูง นอกจากนี้ เขายังยืนยันด้วยว่าเฟดกำลังขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็ว โดยเพิ่มอัตราดอกเบี้ยไปแล้ว 3 ครั้งในครึ่งแรกของปี 2565 โดยครั้งล่าสุด ปรับเพิ่ม 75bps ในระหว่างการประชุมในเดือนมิถุนายน 2565 แทนที่จะเป็น 50bps ตามที่คาดการณ์ไว้ในตอนแรก เพราะอัตราเงินเฟ้อสหรัฐยังคงเร่งตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง


ในขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่เฟดหลายคนได้เรียกร้องให้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วเพื่อกดให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมายที่ 2% คาดว่าจะต้องปรับเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 50bps หรือ 75bps ในเดือนกรกฎาคม และอีกหลายครั้งตลอดช่วงเวลาที่เหลือของปี เพื่อคุมอัตราเงินเฟ้อให้ได้

เพื่อทำสงครามกับภาวะเงินเฟ้อ ทำให้ธนาคารกลางของหลายประเทศจำเป็นต้องส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย รวมทั้งประเทศไทย ที่ประเมินว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยภายในครึ่งหลังของปี 65 นี้ ทำให้นับจากนี้เราอยู่ในช่วงสถานการณ์ “ดอกเบี้ยขาขึ้น” อย่างเต็มตัว ซึ่งแน่นอนว่าจะกระทบต่อการลงทุนในตลาดหุ้นอย่างแน่นอน เพราะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ย่อมมีทั้งกลุ่มธุรกิจที่ได้รับประโยชน์และเสียประโยชน์


‘ดอกเบี้ยขาขึ้น’ ในทางทฤษฎีแล้ว จะเป็นลบต่อตลาดหุ้น

ในทางทฤษฎีการเงินแล้ว การขึ้นดอกเบี้ยจะเป็นลบต่อตลาดหุ้น เพราะการวัดมูลค่าหุ้น(Valuation) ด้วยวิธี DCF Discounted Cashflow จะต้องใช้อัตราคิดลด (discounted rate) ที่เพิ่มขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อมูลค่ากลุ่มหุ้นเติบโต ที่คาดหวังการเติบโตของกำไรในระยะยาวๆ เมื่อถูกคิดลดมาเป็นมูลค่าปัจจุบัน จะมีมูลค่าลดลง ดังที่ได้เห็นหุ้นสหรัฐฯ โดยเฉพาะกลุ่มหุ้นเติบโต กลุ่มหุ้นเทคโนโลยี ถูกเทขายออกมาตั้งแต่ช่วงต้นปี เมื่อตลาดเริ่มรับรู้ว่าดอกเบี้ยกำลังจะเพิ่มขึ้น


แล้วตลาดหุ้นไทยจะได้รับผลกระทบอย่างไร?

ตลาดหุ้นไทย ก็ได้รับผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของ FED เช่นเดียวกัน เพราะที่สุดแล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทยก็คงจำเป็นต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายตามไปในไม่ช้า


อย่างไรก็ตาม แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย จะยังไม่ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของไทยเลยในปีนี้ แต่ในความเป็นจริง อัตราผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปี (bond yield) ของไทย ได้วิ่งขึ้นตามสหรัฐฯมาตั้งแต่ก่อนหน้านี้ ซึ่งได้กดดันตลาดหุ้นไทย โดย SET Index YTD -6.7% (as of 12 ก.ค. 65) โดยเฉพาะกดดันต่อหุ้นหลายกลุ่มที่ไม่ชอบการปรับขึ้นดอกเบี้ย เช่น หุ้นกลุ่มการเงิน กอง REIT และ กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน Infrastructure Fund เป็นต้น ราคาหุ้นเหล่านี้ทยอยปรับลดลงมารับปัจจัยลบแล้วตั้งแต่ต้นปี ปรับตัวลงตั้งแต่ 5-20%


ดังนั้นเมื่อถึงเวลาที่ต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยจริง ตลาดหุ้นไทยอาจจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะตลาดหุ้นมักจะเล่นบนข้อมูลอนาคต สะท้อนภาพอย่างน้อย 6 เดือนล่วงหน้าเสมอ


หน้าที่ของนักลงทุนคือ การมองหา “หุ้นได้ประโยชน์และหุ้นเสียประโยชน์”

ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยขึ้นต่อเนื่อง ตัวอย่างกลุ่มหุ้นที่จะได้รับประโยชน์ คือหุ้นกลุ่มธนาคารและกลุ่มประกัน

  • กลุ่มธนาคาร จะได้กำไรจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ ดังนั้น ธนาคารที่ปล่อยกู้ลูกค้ารายใหญ่ ซึ่งมีเครดิตลูกหนี้ดี จะได้เปรียบมาก เพราะได้ผลต่างของดอกกู้และดอกฝากสูงขึ้น หรือ ค่า NIM(Net Interest Margin) สูงขึ้น อีกทั้งยังมีความเสี่ยงจากหนี้เสีย NPL น้อยกว่า จึงได้รับประโยชน์ทางตรง
  • กลุ่มประกัน ซึ่งมีรายได้หลักสองทาง คือ กำไรสุทธิจากเบี้ยรับรายปี และผลตอบแทนจากเงินลงทุน ซึ่งบริษัทประกันได้ประโยชน์จากการลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาว จากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่สูงขึ้น

หุ้นที่จะได้รับผลกระทบเชิงลบจากการขึ้นดอกเบี้ยมีหลายกลุ่ม ที่ชัดเจนอาจแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่

  1. หุ้นที่มีภาระหนี้สินสูง โดยเฉพาะหนี้ในระยะสั้น
  2. หุ้นที่ปล่อยกู้ให้แก่ลูกหนี้เสี่ยงสูง ที่มีความสามารถในการชำระหนี้ได้ต่ำ โดยเฉพาะหนี้ในระยะสั้น เช่น หุ้นสินเชื่อจำนำทะเบียน หุ้นกลุ่มสินเชื่อส่วนบุคคล ฯลฯ

ดังนั้น เพื่อลดความเสี่ยงจากการลงทุน ควรเน้นลงทุนหุ้นคุณภาพที่มีความปลอดภัยสูงที่เรียกว่า Defensive Stock เช่น กลุ่มอุปโภคบริโภคสินค้าจำเป็น กลุ่มบริหารหนี้ ที่มีโอกาสจะได้รับหนี้เสียที่จะถูกขายออกสู่ตลาดในราคาถูกมากขึ้น และกลุ่มบริการจำเป็น เช่น บริการสาธารณูปโภค และ บริการทางการแพทย์ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีอำนาจในการกำหนดราคาสินค้า สามารถปรับขึ้นราคาได้ และเมื่อขึ้นราคาแล้วยังมีลูกค้าต้องการสินค้าและบริการ จึงลดผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่มีโอกาสถดถอยได้


ที่สำคัญ หุ้นที่ตัดสินใจลงทุนต้องมีมูลค่าที่แท้จริงอยู่ในระดับที่เหมาะสม ราคาไม่แพงจนเกินไป คุ้มค่าเมื่อเทียบกับความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอย (Recession) อีกด้วย

จึงนับเป็นการลงทุนที่ปลอดภัย มีแต้มต่ออย่างแท้จริง



โดย นิ้วโป้ง Fundamental VI



รู้ทันเกม รู้ก่อนใคร ติดตาม "ทันหุ้น" ที่นี่

FACEBOOK คลิก https://www.facebook.com/Thunhoonofficial/

YOUTUBE คลิก https://www.youtube.com/channel/UCYizTVGMealUUalT6VdUdNA

Tiktok คลิก https://www.tiktok.com/@thunhoon_

APP ทันหุ้น ANDROID คลิก https://qrgo.page.link/US6SA

APP ทันหุ้น IOS คลิก https://qrgo.page.link/QJKT7

LINE@ คลิก https://lin.ee/uFms4n5

TELEGRAM คลิก https://t.me/thunhoon_news

Twitter คลิก https://twitter.com/thunhoon1

จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X