> ประกัน >

06 สิงหาคม 2022 เวลา 19:30 น.

จารึกไว้...ประวัติศาสตร์ประกันภัยไทย “เจอ จ่าย จบ” บทเรียนราคาแพง

#ทันหุ้น - ในระยะเวลาไม่ถึง 1 ปี สถานการณ์โควิด-19 ทำให้บริษัทประกันวินาศภัยต้องปิดตัวลงถึง 4 แห่ง ผลจากพิษบาดแผลประกันโควิด “เจอจ่ายจบ” ที่มีมูลค่าสินไหมสูงหลักหลายหมื่นล้านบาท ความเสียหายดังกล่าวยังคงทวีความรุนแรงต่อภายใต้การระบาดของสายพันธุ์โอไมครอน สมาคมประกันวินาศภัยไทยประเมินตัวเลขเจ็บหนักครั้งนี้น่าจะจบที่ราว 200,000 ล้านบาท ภายใต้กรมธรรม์โควิดที่มีทั้งหมดไม่เกิน 20 ล้านฉบับ เบี้ยประกันที่ 10,400 ล้านบาท ลอสเรโช (Loss ratio) เป็น 1000% ผลการรับประกันขาดทุนยับ


“ภาคธุรกิจเคยได้รับผลกระทบจากเคลมสินไหม สูงถึง 400,000 ล้านบาท จากน้ำท่วมครั้งใหญ่ในปี 2554 แต่ไม่มีบริษัทประกันภัยวินาศภัยรายไหนล้มหายตายจากธุรกิจ ขณะที่ประกันโควิดเจอจ่ายจบ มูลค่าเคลมสินไหม 200,000 ล้านบาท กลับมาบริษัทประกันปิดตัวลงถึง 4 แห่ง เป็นเรื่องที่เราภาคธุรกิจและหน่วยงานเกี่ยวข้องต้องทำเป็นกรณีศึกษา ถอดบทเรียนเพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย” กี่เดช อนันต์ศิริประภา” ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าว


**บริหารจัดการผิดพลาด


งานนี้ สมาคมประกันวินาศภัยไทย แถลงยอมรับถึงความผิดพลาดของภาคธุรกิจที่ประเมินความเสี่ยงต่ำไป แต่จริงๆแล้วในภาคธุรกิจไม่ใช่ทุกคนที่เห็นด้วยกับการเกิดขึ้นของประกัน เจอจ่ายจบ แต่ด้วยเจตนารมณ์ดีหวังให้ประชาชนระดับไมโครได้เข้าถึงความคุ้มครองในวันที่มีการล็อกดาวน์เมือง ลดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่สามารถทำมาค้าขายได้ ซึ่งหากติดเชื้อก็จะได้มีเงินก้อนไว้ใช้จ่ายยามวิกฤติ


ภายใต้เจตนารมณ์ดี บริษัทที่เข้ามารับประกันโควิด ประเมินความเสี่ยงด้วยฐานของมูลจากอู่ฮั่น ที่คิดอัตราการติดเชื้ออยู่ที่ 0.25% ทำให้สามารถเคาะเบี้ยออกมาได้ราว 500 บาทต่อกรมธรรม์ ความคุ้มครองเป็นแสนบาทหากติดเชื้อเจอปุ๊บจ่ายปั๊บ แน่นอนว่าความเข้มงวดจากภาครัฐในการเดินทาง รวมถึงความหวาดกลัวของผู้คน เป็นผลให้ผู้เล่นปีแรกทำกำไรจากการรับประกันโควิด


ข้อมูลสมาคมประกันวินาศภัยไทยระบุว่า ปี 2563 เริ่มขายประกันโควิด-19 จบปีนั้นภาคธุรกิจมีเบี้ยรวมราว 4 พันล้านบาท ส่วนเคลมแค่ 77 ล้านบาทเท่านั้น กำไรจากการรับประกันภัยช่างสดใสในปี2563 จนทำให้ปี 2564 มีผู้เล่นรายใหม่กระโดดเข้ามาแย่งส่วนแบ่ง ด้วยหารู้ไม่ว่าจะกลายเป็นกองไฟในเวลาต่อมา


** กลิ่นความเสี่ยงที่รุนแรง


แถมประกันภัยโควิด-19 เจอ จ่าย จบ ยังซื้อง่ายขายคล่องผ่านช่องทางออนไลน์ ผู้เล่นทั้งรายใหม่-เก่า รวม 16 แห่ง ออกมาโปรโมทกระตุ้นยอดขายอย่างคึกคัก โดยคิดไม่ถึงว่าโควิด-19 จะสามารถกลายพันธุ์ได้จาก อู่ฮั่น ไป เดลต้า จนมาสู่ โอไมครอน ซึ่งทุกๆการกลายพันธ์จะทำให้อัตราการติดเชื้อเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่ประเมินอัตราการติดเชื้ออยู่ที่ 0.25% ก็มาเป็น 0.5% ขยับมาจนอยู่ที่ 10%


สะท้อนอัตราการติดเชื้อที่ง่ายขึ้น กระจายได้เร็วขึ้น แต่กรมธรรม์เจอจ่ายจบส่วนใหญ่ที่ขายยังใช้ความเสี่ยงเดิมในการกำหนดเบี้ย และวงเงินคุ้มครอง ขณะที่หน่วยงานกำกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ. ในฐานะผู้อนุมัติประกันโควิดก็ไม่ได้ออกมาแตะเบรกชะลอการขายแต่ประการใด ทั้ง ๆ ที่กลิ่นความเสี่ยงเริ่มโฉยออกมา


บางบริษัทไหวตัวทันปรับแผนใหม่ ทั้งลดเงินคุ้มครอง ทั้งหยุดขายแผนเจอจ่ายจบแบบเดิม ปรับมาเป็นค่ารักษา คุ้มครองโคม่า จำกัดวงเงินคุ้มครองสำหรับการการรับประกัน เป็นต้น แต่กระนั้นก็มีหลายบริษัทปรับตัวไม่ทัน ที่ในท้ายสุดแล้วก็นำไปสู่การปิดบริษัทผ่านการเพิกถอนใบอนุญาตจาก คปภ. ตั้งแต่ เอเชียประกันภัย เดอะวันประกันภัย อาคเนย์ประกันภัย และ ไทยประกันภัย


**ห้ามยกเลิกกรมธรรม์


หรือแม้กระทั้งการขอยกเลิกกรมธรรม์โควิดจาก สินมั่นคง ที่กลายเป็นเรื่องทอร์คออฟเดอะทาวน์ ดราม่าในทุกพื้นที่สื่อ จนหน่วยงานกำกับอย่าง คปภ. ต้องมาออกคำสั่งห้ามไม่ให้มีการยกเลิกกรมธรรม์ที่ออกไปแล้วได้โดดเด็ดขาย ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ที่แพร่ระบาดอย่างรวดเร็วจนน่าใจหาย พร้อมกับคำถามในใจที่ว่า “เงื่อนไขการขอยกเลิกกรมธรรม์โควิดโดยบริษัท” ก็ได้รับการอนุมัติจาก คปภ. มาก่อนที่ภาคธุรกิจจะขายได้ มิใช่หรอกรึ?


ข้อมูลจากสมาคมประกันวินาศภัย เบี้ยประกันโควิดปี 2564 อยู่ที่ราว 6,000 ล้านบาท (ปี 2563 ที่ 4,000 ล้านบาท) ยอดรวมเบี้ยโควิด-19 ทั้งหมดอยู่ที่ราว 10,000 ล้านบาท ขณะที่เคลมสินไหมโควิด ยอดรวม 5 เดือน ปี 2565 อยู่ที่ราว 180,500 ล้านบาท ซึ่งสมาคมประเมินไว้ยอดเคลมโควิดทั้งหมดน่าจะอยู่ที่ 200,000 ล้านบาท เป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับเบี้ยรับรวมของอุตสาหกรรมประกันวินาศภัยปี 2565 ที่เบี้ยรับรวมอยู่ที่ราว 260,000 ล้านบาท


อย่างไรก็ตาม เรื่องที่เกิดขึ้นเกินกว่าจะต่อความยาว สาวความยืดหาผู้รับผิดชอบ แต่การถอดบทเรียนเพื่อเป็นกรณีศึกษาไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยดูจะประโยชน์ทั้งต่อภาคธุรกิจ หน่วยงานกำกับ และรวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง


กี่เดช กล่าวว่า จากการพูดคุยกับประกันภัยต่างชาติ มุมมองที่สะท้อนออกมาต่อเหตุการณ์ครั้งนี้ คือการบริหารงานที่ผิดพลาด จะเห็นว่าบริษัทประกันไทยสัญชาตินอก ส่วนใหญ่ไม่เข้ามาเล่นเจอจ่ายจบ เพราะบริษัทแม่ในต่างประเทศมองว่าโรคระบาดเป็นภัยที่รับเสี่ยงไม่ได้ อัตราความเสียหายไม่รู้ไปจบที่ตรงไหน ยิ่งในต่างประเทศเจอการระบาดของไข้หวัดสเปนยิ่งทำให้เข้าใจสถานการณ์ชัด ในขณะที่ประเทศไทยไม่ได้มีประสบการณ์แบบนั้นจึงอาจเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้มองข้ามความเสี่ยงจากโรคระบาด


** Stress Test ต้องเข้มข้นมากขึ้น


การทดสอบภาวะวิกฤต หรือการทำ Stress Testต้องกลับไปดูว่าใส่ปัจจัยเสี่ยงในกรณีที่เลวร้ายที่สุดไปแล้ว ความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น เรามีเงินทุนเพียงพอที่จะรับมือไหวหรือไม่ ถ้าคุณมีสินทรัพย์หนุนหลังเป็นหมื่นล้านบาท แสนล้านบาท คุณทำได้ แต่ถ้าคุณยังมีงบที่ขาดทุนสะสมคุณก็ไม่ควรเล่นกับความเสี่ยง และยิ่งบริษัทรับประกันภัยต่อไม่รับงานประเภท เจอจ่ายจบ ยิ่งต้องหยุด


กี่เดช เล่าอีกว่า นักคณิตศาสตร์ประกันภัย ยังให้ความเห็นเพิ่มด้วยว่า การทำ Stress Test ให้ทำมากกว่าดูการอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน (Capital Adequacy Ratio: CAR) ซึ่ง คปภ. กำหนดไว้ 140% แต่ให้เพิ่มการประเมินเป็นรายผลิตภัณฑ์ เช่น ประกันพืชผล ถ้ามีความเสี่ยงเกิน 10% ความเสียหายเท่าไร ต้องทำประกันภัยต่อในสัดส่วนมากน้อยแค่ไหน ในกรณีดีที่สุดจะได้กำไรเท่าไร และถ้าเลวร้ายที่สุด จะขาดทุนแค่ไหน เพื่อให้ภาคธุรกิจประกันภัยได้ประเมินพอร์ตงานในแต่ละประเภทว่าสามารถรับเสี่ยงเองได้แค่ไหน ที่เหลือก็ส่งรีออกไปประกันภัยต่อ


“เหมือนการจัดพอร์ตการรับประกันภัย ถ้าคุณรับประกันภัยรถยนต์ 100% หากมีเหตุการณ์ใหญ่แบบคาดไม่ถึงเกิดขึ้น คุณเสียหาย 100%ได้เลย แต่ถ้าคุณเพิ่มพอร์ตงาน นอนมอเตอร์ เช่นประกันอัคคีภัย ประกันเบ็ดเตล็ด เป็นต้น จะเป็นการกระจายความเสี่ยงในพอร์ตงานคุณ ซึ่งแต่ละบริษัทก็จะต้องบริหารสัดส่วนของพอร์ตงานให้สมดุลกับเงินทุน หรือสินทรัพย์ที่หนุนหลังอยู่”


และเมื่อเวลาที่ผลิตภัณฑ์ใหม่ออกไปแล้วยังคงต้องติดตามอัตราความเสียหาย ซึ่งอาจจะสูงกว่าที่นักคณิตศาสตร์ประกันภัยคิดไว้ หรือต่ำกว่าก็ได้ ตรงจุดนี้นำไปสู่การปรับเปลี่ยนความคุ้มครอง หรือราคาเบี้ยที่เหมาะสมได้ต่อไป


**ความเสี่ยงจากการฉ้อฉล


ยังไม่รวมถึงการฉ้อฉลประกันภัย ซึ่งเป็นภัยที่เกิดขึ้นตลอดในธุรกิจนี้ ไม่จำกัดแค่ประกันโควิด-19 แต่การออกมาให้ข้อมูลก็เหมือนการชี้โพรงให้กระรอก และในเหตุการณ์ครั้งนี้ทางภาคธุรกิจพบว่า มีผู้เอาประกันภัยปลอมเอกสารการรักษาตัวมาเคลมประกันโควิด ขณะที่บางเหตุการณ์ก็พิสูจน์เจตนาได้ยาก เช่น การซื้อประกันโควิดไว้หลายฉบับโดยมีเจตนาติดเชื้อด้วยการใช้ชีวิตแบบเสี่ยง ๆ ใกล้ชิดผู้ป่วยโควิด


อย่างไรก็ตาม บริษัทประกันภัยไม่ได้ตีความว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเจตนาของผู้เคลมประกันทุกราย แต่ต้องการแจ้งเตือนผู้ประกอบการในภาคธุรกิจเดียวกันได้รับรู้ว่ามีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น ซึ่งนำไปสู่การตรวจสอบที่รอบคอบยิ่งขึ้น รวมถึงการตรวจสอบย้อนหลังที่อาจมีเคลมผิดปกติหลุดรอดออกไปได้


กี่เดช มองว่าธุรกิจประกันวินาศภัยจะต้องถอดบทเรียนเพื่อก้าวไปข้างหน้า เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบันนำมาซึ่งความเสี่ยงใหม่ ๆ ที่อาจไม่มีสถิติตัวเลข หรือข้อมูลที่เพียงพอ แต่มีโอกาสในการเติบโตทางธุรกิจ ผู้ประกอบการยังต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดรับกับความต้องการของผู้คน และในเหตุการณ์ เจอจ่ายจบ ครั้งนี้จะเป็นบทเรียนสำคัญที่ทำให้ภาคธุรกิจ ผู้บริหาร หน่วยงานที่รับผิดชอบ ตระหนักถึงการบริหารจัดการความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ



รู้ทันเกม รู้ก่อนใคร ติดตาม "ทันหุ้น" ที่นี่

FACEBOOK คลิก https://www.facebook.com/Thunhoonofficial/

YOUTUBE คลิก https://www.youtube.com/channel/UCYizTVGMealUUalT6VdUdNA

Tiktok คลิก https://www.tiktok.com/@thunhoon_

APP ทันหุ้น ANDROID คลิก https://qrgo.page.link/US6SA

APP ทันหุ้น IOS คลิก https://qrgo.page.link/QJKT7

LINE@ คลิก https://lin.ee/uFms4n5

TELEGRAM คลิก https://t.me/thunhoon_news 

Twitter คลิก https://twitter.com/thunhoon1

จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X