> SET > DTCENT

05 มกราคม 2023 เวลา 18:26 น.

DTCENTรายได้ปี66โต15% แย้มเปิดดีลพาร์ทเนอร์ใหม่

#DTCENT #ทันหุ้น - DTCENT ปักธงปี 66 รายได้เติบโตไม่ต่ำกว่า 10-15% จากปีก่อน อวดแบ็กล็อกแน่น 2 พันล้านบาท รับรู้เป็นรายได้ยาว 3 ปี จ่อออกผลิตภัณฑ์ใหม่ต่อเนื่อง แย้มมีลุ้นปีนี้ปิดดีลพาร์ทเนอร์ต่างชาติรายใหม่เพิ่มเติม กูรูเคาะราคาเหมาะสม 3.3 บาท


นายทศพล คุณะเพิ่มศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ดี.ที.ซี. เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) หรือ DTCENT เปิดเผยว่า แผนการดำเนินงานในปี 2566 บริษัทวางเป้าหมายการเติบโตของรายได้รวมไว้ที่ไม่ต่ำกว่า 10-15%จากปีก่อน แรงขับเคลื่อนหลักๆ มาจากการรับรู้รายได้จากสัญญาให้เช่าบริการระบบติดตามยานพาหนะด้วยดาวเทียม (GPS Tracking) ทำให้ค่าบริการรายเดือนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันบริษัทมีงานในมือ (Backlog) ด้าน GPS ที่เป็นสัญญาระยะยาว 3 ปี อยู่ที่ 1,000-2,000 ล้านบาท คาดทยอยรับรู้รายได้เฉลี่ยปีละ 600 ล้านบาท


ดีลพาร์ทเนอร์ใหม่

ทั้งนี้ ประเมินภาพรวมอุตสาหกรรมปี 2566มีแนวโน้มการขยายตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปี 2565โดยเฉพาะในภาคส่วนของธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับขนส่งและโลจิสติกส์ สะท้อนต่อความต้องการใช้งานระบบของบริษัทที่เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ในช่วงไตรมาส 1/2566 จะมีการปล่อยผลิตภัณฑ์ Mobile Application Tracking รวมถึงจะมีการปล่อยผลิตภัณฑ์และโปรโมชันด้าน Smart city ออกมาเพิ่มเติม ขณะเดียวกันบริษัทอยู่ระหว่างการเจรจาร่วมกับพันธมิตรต่างประเทศ คาดว่าในปี 2566 จะได้ข้อสรุปที่ชัดเจน


กรณีข่าวลือที่เกิดขึ้นว่าทางผู้ถือหุ้นของ DTCENT ได้มีการเทขายหุ้นออกไป รวมถึงผลการดำเนินงานที่ขาดทุนนั้น บริษัทขอปฎิเสธว่าไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด ผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ยังคงมีความต้องการถือหุ้นต่อไป ขณะที่ผลการดำเนินงานยังคงมีการเติบโตดี ทั้งในส่วนของรายได้และกำไร แม้ว่าจะย่อตัวลงไปบ้างในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19แต่หลังจากที่มีการเปิดประเทศเกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวดีขึ้น ทำให้ผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งหลังปี 2565 กลับมามีการขยายตัวดีขึ้น


อีกทั้งล่าสุดทางบริษัท ยาซากิ เอ็นเนอร์จี ซิสเท็ม คอร์ปอเรชั่น (YES) ที่เป็นผู้ถือหุ้น DTCENT ในสัดส่วน 13.44 % ได้ส่งผู้บริหารเข้ามานั่งบอร์ดบริหาร เพื่อร่วมผลักดันโครงการงานพัฒนาระบบ GPS & Telematics ให้กับผู้ผลิตรถยนต์ในรูปแบบ OEM Tier 1พัฒนา IoT Solution เพื่อรองรับด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานจากนโยบายของภาครัฐ รวมถึงโครงการงานวิจัยพัฒนาสินค้า และบริการให้กับธุรกิจรถ EV และ Solution ด้าน Smart city ตลอดจนใช้เครือข่ายจากทาง YES ในการขยายสาขายังตลาดในภูมิภาคอาเซียน และประเทศอื่นๆ ในอนาคต


ราคาเหมาะสม3.3บ.

บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด ระบุว่า ทางฝ่ายคาดผลประกอบการปี 2565-66 เติบโตเฉลี่ย CAGR 46% ต่อปี โดยฝ่ายวิจัยคาดการณ์รายได้ปี 65-66 ราว 702 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน และ 977 ล้านบาท เติบโต 39% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน ตามลำดับ หรือเติบโตเฉลี่ย CAGR 29% ต่อปี โดยมีปัจจัยเติบโตจาก 1) ธุรกิจ GPS Tracking ฟื้นตัวตามสถานการณ์โควิด-19 ที่คลี่คลายลง 2) รายได้จากกลุ่มบริษัทย่อยที่จำหน่าย Software และ Application ใหม่ปีนี้


และ 3) กลุ่มงาน IoT Solution ของภาครัฐ เริ่มเปิดประมูลมากขึ้น ส่วนสมมติฐาน %GPM คาดที่ระดับ 49-50% อ่อนลงจากค่าเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลังที่ 56%จากการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในอุตสาหกรรม ประกอบกับงาน IoT Solution ที่มาร์จิ้นราว 30% มีสัดส่วนรายได้เพิ่มขึ้น ขณะที่ %SG&A คาดจะปรับลดมาที่ระดับ 27-31%จากค่าเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลังที่ 34% จากการประหยัดจากขนาด ส่งผลให้คาดการณ์กำไรปี 65-66 ราว 106 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 38% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน และ 165 ล้านบาท เติบโต 55% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน ตามลำดับ หรือเติบโตเฉลี่ย CAGR 46% ต่อปี


มองว่าธุรกิจเติบโตพร้อมกับกลุ่มโลจิสติกส์ และ IoT Solution ซึ่งบริษัทมีสัดส่วนรายได้จากกลุ่ม GPS Tracking ราว 89%ซึ่งกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่เกือบ 42%อยู่ในหมวดของธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ ดังนั้น รายได้ของกลุ่ม GPS Tracking จะเติบโตควบคู่ไปกับการเติบโตของกลุ่มธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์


ส่วนงาน IoT Solution ซึ่งจะมาช่วยเสริมรายได้ให้กับบริษัทในช่วงปี 65-66มีแนวโน้มเติบโตดีเช่นกัน อ้างอิงจากงานวิจัยของบริษัท Frost & Sullivan และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ประเมินว่ามูลค่าตลาดอุตสาหกรรมไอโอทีในประเทศไทย จะมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดคิดเป็นอัตราเติบโตCAGR (ปี 61-76) เฉลี่ย 30.18%ต่อปี จากความพร้อมของ Digital Infrastructure โดยเฉพาะโครงข่าย 5G ที่มีพัฒนาการที่ดีขึ้น และการสนับสนุนของภาครัฐตามนโยบาย Thailand 4.0


นอกจากนี้ ในช่วงปี 2563-64 ที่ผ่านมา งบประมาณส่วนใหญ่ของภาครัฐให้ความสำคัญกับการกระตุ้นการบริโภคเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 อย่างไรก็ดี ภายหลังจากสถานการณ์โควิด-19 ที่คลี่คลายลง งบประมาณในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจะปรับเพิ่มขึ้น รวมถึงงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งเป็นโอกาสของบริษัทในการเข้าไปประมูลงานด้าน IoT Solution อย่างไรก็ดี ฝ่ายวิจัยประเมินราคาเหมาะสมในปี 2566 ของ DTCENT ราว 3.30 บาทต่อหุ้น

จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ่านต่อ

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X