> กองทุน >

20 มกราคม 2023 เวลา 12:42 น.

บลจ.แอสเซทพลัสรุกหนัก เร่งAUMแตะแสนล้านปี67

#บลจ. แอสเซท พลัส #บลจ. แอสเซท พลัส  คาด AUM แตะ 1 แสนล้านบาทแน่ ปี 2567 ขณะที่ปีนี้ตั้งเป้าโตแรง 22% ด้วยAUM กว่า 8 หมื่นล้านบาท เดินหน้าธุรกิจ PVDต่อยอดสินทรัพย์ภายใต้การบริหารโต เตรียมปล่อยกองทุนใหม่ เข้าธีมรักษ์โลก กับ “กองทุนคาร์บอนเครดิต” มั่นใจเป็นโอกาสดีในระยะยาว


นายคมสัน ผลานุสนธิ กรรมการบริหาร ประธานเจ้าหน้าที่สายงานการตลาดและผลิตภัณฑ์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน แอสเซท พลัส จำกัด หรือ บลจ. แอสเซท พลัส กล่าวว่าในปี 2567 สินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) ของ บลจ. แอสเซท พลัส น่าจะแตะ 100,000 ล้านบาทได้ สะท้อนการเติบโตทางธุรกิจ จากกลยุทธ์ที่มุ่งออกผลิตภัณฑ์ลงทุนให้แตกต่างจากตลาด เพิ่มทางเลือกที่หลากหลายให้กับลูกค้าของบริษัท ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มผู้ลงทุนรายใหญ่ หรือ High Net Worth


“เรายังคงเน้นกลุ่มนักลงทุนรายใหญ่มากกว่ารายย่อย ส่วนหนึ่งเพราะเราเข้าถึงฐานลูกค้ารายย่อยได้ค่อนข้างจำกัด แตกต่างจาก บลจ.ที่มีแบงก์เป็นแม่ค่อยซัพพอร์ตบริการให้กับลูกค้าผู้ลงทุนได้ในหลายพื้นที่ อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาเราก็ได้มีการพัฒนาระบบเทคโนโลยี จับมือเป็นพันธมิตรกับทุกแบงก์ซึ่งช่วยให้ลูกค้ารายย่อยที่สนใจผลิตภัณฑ์จากเราเข้ามาลงทุนได้”


ปีกระต่ายแรงโต 22%

ขณะที่ปี 2565 ที่ผ่านมา บลจ. แอสเซท พลัส มี AUM กว่า 72,000 ล้านบาท เติบโต 11% เมื่อเทียบกับปี 2564 โดยการเติบโตของ AUM ในปีที่ผ่านมาส่วนใหญ่มาจากธุรกิจไพรเวทฟันด์ (Private Fund) ที่โตเกือบ 200% ขณะที่กองทุนรวมปีที่ผ่านมา AUM ลดลง สอดคล้องกับภาพรวมอุตสาหกรรมที่ลดลงจากความผันผวนของตลาด


ส่วนปี 2566 ตั้งเป้า AUM ที่ 88,250 ล้านบาท เติบโต 22% จากปี 2565 โดยเป็นการเติบโตจากธุรกิจกองทุนรวม 25% จากธุรกิจไพรเวทฟันด์ 10% ส่วน PVDเนื่องจากเพิ่มเริ่มทำธุรกิจ ตัวเลข AUMที่คาดหวัง 1.5 พันล้านบาท


โดยปีนี้บลจ. แอสเซท พลัส ได้ขยายเข้าสู่ธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ PVD ซึ่ง นายคมสัน มองว่า ในปีแรก PVD จะมี AUM ที่ 1.5 พันล้านบาท และภายใน 5 ปี คาดว่า AUM จะเป็น 8.5 พันล้านบาท - 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งคิดเป็นส่วนแบ่งตลาด 0.6 - 0.7%ของอุตสาหกรรม PVD โดยรวมที่มี AUM ราว 1.3 ล้านล้านบาท โดยฐานลูกค้าจะเน้นไปที่ บริษัทเอกชน ซึ่งต่อยอดมาจากลูกค้า High Net Worth


นายคมสัน กล่าวอีกว่า ในส่วนของธุรกิจกองทุนรวม ปี 2566 คาดว่าจะมีกองทุนออกใหม่ราว 3-4 กองทุน ซึ่งจะทยอยออกมาในครึ่งปีแรกในกลุ่มประเทศ หรือในภูมิภาคที่เห็นศักยภาพการเติบโต ส่วนในครึ่งปีหลัง คาดว่าจะออกกองประหยัดภาษี ที่เป็น RMF 1 กองทุน เพื่อรองรับกับดีมานด์ลูกค้าใกล้เกษียณอายุ ที่ไม่ต้องถือยาว 10 ปี แบบSSF


ขายกองคาร์บอนเครดิต

เพื่อเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับนักลงทุน บริษัทอยู่ระหว่างการจัดตั้งกองทุนสินทรัพย์ทางเลือกใหม่ที่ชื่อว่า กองทุนเปิด แอสเซทพลัส โกลบอลคาร์บอนเครดิต ห้ามขายผู้ลงทุนรายย่อย (ASP-GCC-UI) ซึ่งเป็นกองทุนไทยกองทุนแรกที่ลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าคาร์บอนเครดิต ซึ่งบริษัทมองว่าเป็นโอกาสดีในการสร้างผลตอบแทนระยาว และเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้นักลงทุนได้กระจายความเสี่ยงในช่วงที่ตลาดมีการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้


กองทุนไทย กองทุนแรกที่ลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าคาร์บอนเครดิต ผ่านกองทุนKraneShares Global Carbon Strategy ETF Feeder Fund (กองทุนหลัก) โดยที่มีนโยบายลงทุนในกองทุนหลักเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80 % ของ NAV 


"เรามองเห็นโอกาสการเติบโตของคาร์บอนเครดิตทั่วโลก จากการที่นานาประเทศ มีเป้าหมายในการให้ความสำคัญในการลดการปล่อยคาร์บอน ผสานกับ นโยบายภาครัฐและความกระตือรือร้นขององค์กร ที่ส่งผลให้ตลาดคาร์บอนเครดิตมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยความต้องการคาร์บอนเครดิตเพิ่มขึ้น 100 เท่าในปี 2050 (Source: McKinsey as of Jan 2022) จุดนี้จะเป็นโอกาสที่น่าเข้าไปลงทุนเพื่อโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีในอนาคต"


สำหรับกองทุน ASP-GCC-UI สร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียงกับผลตอบแทนของดัชนี IHS Markit Global Carbon Index จึงเหมาะกับผู้ลงทุนที่มีความเข้าใจในการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าฟิวเจอร์สเป็นอย่างดี ทั้งนี้สัดส่วนการลงทุนขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน1 กองทุนนี้มีความเสี่ยงในระดับ 8+ กำหนดเสนอขายครั้งแรก (IPO) ตั้งแต่ 25 – 31 ม.ค. 2566 (ทั้งนี้กองทุนอยู่ระหว่างการขออนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต.)

จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X