> ประกัน >

30 มกราคม 2023 เวลา 13:17 น.

โอกาสธุรกิจประกันรุ่ง รับงานเสี่ยงภัยโลกร้อน

#TDRI #ประกันภัย #ทันหุ้น TDRI ชี้ประกันภัยเป็นธุรกิจที่มีอนาคตจากเมกะเทรนด์โลกเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่นำไปสู่ภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้น ถี่ขึ้น แนะใช้จุดแข่งในธุรกิจรับความเสี่ยงสร้างโอกาส ผ่านการดึงเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนความแม่ยำของข้อมูล ใช้ดาวเทียมเพื่อวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยง และในฐานะนักลงทุนสถาบันระวังการลงทุนในธุรกิจที่ปล่อยก๊าซ CO2 สูง เพราะมูลค่าในอนาคตอาจลดลง จากเป้าหมายการ ลดคาร์บอนให้เหลือศูนย์


ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเป็นทั้งความเสี่ยง และโอกาสของธุรกิจประกันภัย ซึ่งในมุมของความเสี่ยง มนุษย์กำลังเผชิญกับภัยธรรมชาติที่ใหญ่ขึ้น รุนแรงขึ้น และถี่ยิ่งขึ้น ทั้งภัยแล้ง น้ำท่วม ไฟป่า พายุ สร้างความเสียหายทั้งชีวิต และทรัพย์สินให้กับมวลมนุษยชาติ


ประกันธุรกิจมีอนาคต

“การเกิดมหันตภัยใหญ่ๆ ไม่มีใครมองว่าเป็นโอกาสทางธุรกิจเท่าประกันภัย ที่จับกับความไม่แน่นอน ความเสี่ยงที่คาดไม่ถึง ซึ่งจากการประเมินเรื่องภาวะโลกร้อนที่จะนำไปสู่ภัยธรรมชาติอันรุนแรงมากขึ้นในอนาคต ธุรกิจประกันภัยคือหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีอนาคต ในการเข้าไปรับความเสี่ยงตรงนี้ แต่ก็ต้องมีเครื่องไม้เครื่องมือ ฐานข้อมูล หรือเทคโนโลยีที่จะเข้ามาช่วยสนับสนุนการประเมินความเสี่ยงให้แม่นยำ เพื่อสามารถกำหนดอัตราเบี้ยประกันได้อย่างเหมาะสมตามแต่ละพื้นที่ หรือแบบรายบุคคล”


ดร.สมเกียรติ กล่าวต่อไปว่า ในช่วง2ปีที่ผ่านมา ภัยธรรมชาติ ทั้งน้ำท่วม ภัยแล้ง เกิดในพื้นที่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน หรือบางพื้นที่เคยเกิดแล้วก็รุนแรงยิ่งขึ้น ที่สำคัญคือเป็นภัยเสี่ยงที่เกิดขึ้นใกล้กับที่อยู่อาศัยของมนุษย์ ตัวอย่างเช่น เกิดน้ำท่วมหนักและลงไปถึงรถไฟฟ้าใต้ดินในประเทศจีน ไฟป่าในแคนนาดาที่ใกล้กับพื้นที่อยู่ของผู้คน ทอร์นาโดหลายลูกในสหรัฐอเมริกา สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้คนตระหนักถึงภัยเสี่ยง และการทำประกันภัยมากขึ้น อย่างไรก็ตามผู้คนไม่น้อยที่มีการประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าความเป็นจริง


ข้อมูลแน่นได้เปรียบ

ในสหรัฐอเมริกา ผู้คนชอบสร้างบ้านอยู่ใกล้ธรรมชาติ ภูเขาก็ดี หรือทะเลก็ตาม แต่ผลจากภาวะโลกร้อนที่ทำให้ภัยธรรมชาติเกิดถี่ขึ้น พื้นที่ดังกล่าวจะกลายเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นได้ ดร.สมเกียรติ มองว่า หากมีการเก็บข้อมูลที่ดี มีดาวเทียมช่วยในการประเมินผล สภาพดาฟ้าอากาศ จะช่วยสะท้อนความเสี่ยงที่แท้จริงให้กับผู้อยู่อาศัยได้ หรือผู้ที่จะซื้อบ้านได้ว่าหากเข้ามาอยู่ในพื้นที่นี้มีความเสี่ยงอะไรบ้าง และต้องซื้อประกันอะไรบ้างถึงจะครอบคลุมกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น


“ในต่างประเทศมีธุรกิจเกิดใหม่ที่เข้ามาช่วยประเมินความเสี่ยงให้กับผู้ที่อยากซื้อที่อยู่อาศัยว่า ในพื้นที่ดังกล่าวมีความเสี่ยงด้านใดบ้าง แต่สิ่งสำคัญคือความแม่นยำของข้อมูลว่ามีมากน้อยแค่ไหน แต่นั่นก็ทำให้เราเห็นว่า ภายใต้การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ไม่ได้มีแต่ปัจจัยลบอย่างเดียว แต่ยังเป็นปัจจัยบวกสำหรับผู้ที่มองเห็นโอกาส”


ดร.สมเกียรติ ยังแนะนำ ธุรกิจประกันภัยด้วยว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือการเกิดโรคร้อน ยังมีมุมที่สร้างผลกระทบกับสินทรัพย์ของบริษัทประกันภัยด้วย โดยเฉพาะในมุมของการลงทุนสินทรัพย์ หรือหุ้นของธุรกิจที่ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ตัวที่ทำให้เกิดโลกร้อน กลุ่มธุรกิจเหล่านี้จะมีต้นทุนการดำเนินงานที่สูงขึ้นจากการเสียภาษีคาร์บอน


คาร์บอนเป็นศูนย์บทบาทมากขึ้น

ยุโรปเริ่มใช้ ภาษีคาร์บอนในหลายธุรกิจ เพื่อให้เป้าหมายการลดคาร์บอนให้เหลือศูนย์ เพื่อให้อุณหภูมิโลกไม่เพิ่มขึ้นเกิน 2.0 องศาเซลเซียส ตามเป้าหมาย ปัจจุบัน จำกัดในส่วนของธุรกิจพลังงานแบบเดิม เช่น น้ำมันฟอสซิล ถ่านหิน แต่ในเร็วๆนี้จะขยายไปยังธุรกิจการบิน ธุรกิจเดินเรือ และไม่ได้มีผลเฉพากับอุตสาหกรรมในยุโรปที่ต้นทุนการดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้นหากไม่ปรับตัว ในส่วนของคู่ค้าเองก็จะต้องจ่ายเสียภาษีตรงนี้เพิ่มขึ้นด้วย หากเป็นธุรกิจที่ปล่อย CO2สูง


“ต้นทุนการดำเนินธุรกิจที่สูงขึ้น จากการเป็นธุรกิจที่ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซCO2 มาก หากไม่มีการปรับตัว จะเป็นธุรกิจที่มูลค่าลดลงในอนาคตได้ โดยเฉพาในธุรกิจพลังงานแบบดั่งเดิม ซึ่งในอดีตเคยสร้างมูลค่าให้กับนักลงทุนผู้ถือหุ้นได้สูง แต่ในอนาคตอาจไม่ใช่ ตรงนี้บริษัทประกันภัยในฐานะนักลงทุนสถาบันก็จะต้องพิจารณาผลกระทบจากการลงทุนด้วย”


นอกจากนี้ การเข้าไปรับประกันภัย จะต้องกระจายไปในหลายๆ พื้นที่ ไม่รับประกันหรือรับความเสี่ยงแบบกระจุกตัว ซึ่งจะช่วยกระจายความเสี่ยงในการรับประกันภัยได้ดี


ดึงTHCOMวิเคราะห์เสี่ยง

นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า ในส่วนของภาคธุรกิจประกันวินาศเห้นความสำคัญของการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยประเมินความเสี่ยง ซึ่งได้เริ่มจากประกันข้าวนาปี ที่ได้ร่วมมือกับ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) หรือ THCOM ผู้ดำเนินธุรกิจดาวเทียม พัฒนาระบบเทคโนโลยีจากดาวเทียมสำรวจทรัพยากร Earth Observation (EO) เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลในงานประกันภัยข้าวนาปี นำร่องในพื้นที่ 6จังหวัด คือ ขอนแก่น นครราชสีมา นครสวรรค์ นครศรีธรรมราช ร้อยเอ็ด สุโขทัย ให้เป็นพื้นที่ในการเก็บข้อมูล (Sandbox Areas) รวม 3 ล้านไร่ ในการนำข้อมูลมาวิเคราะห์ เพื่อการรับมือกับภัยธรรมชาติ


“เรามองว่า ภาพถ่ายจากดาวเทียมมีความแม่นยำสูงในการประเมินความเสี่ยง ซึ่งเริ่มต้นเฟสแรกใช้งบลงทุนในส่วนนี้ไปราว 20 ล้านบาท อย่างไรก็ตามเป็นโครงการในระยะยาว ซึ่งก็ต้องใช้งบส่วนนี้หลายร้อยล้านบาท แต่เชื่อว่าประสิทธิภาพจากภาพถ่ายดาวเทียมที่แม่ยำ จะทำให้เราทำงานได้สะดวกและรวดเร็วมากขึ้น”


นายอานนท์ กล่าวว่า สมาคมจะได้รับ ชุดข้อมูลที่ถูกวิเคราะห์ในด้านพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปี พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ เช่น ฝนทิ้งช่วง ภัยแล้ง อุทกภัย ข้อมูลเปรียบเทียบพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติระหว่างระบบวิทยาศาสตร์ และข้อมูลจากการรายงานความเสียหายตามแบบประมวลรวบรวมความเสียหายและการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัย (กษ.02)

จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X