> SET > SAMART

27 กุมภาพันธ์ 2023 เวลา 08:00 น.

SAMARTเคลียร์คัตจ่อรุ่ง โบนัสได้สิทธิจองหุ้นSAV

#SAMART #ทันหุ้น - SAMART เคลียร์ตัวเองเร่งตั้งด้อยค่าปี 2565ขาดทุน 955 ล้านบาทเจ็บแต่จบ ปีนี้จะพลิกฟื้นกลับมาโดดเด่น สายงานดิจิทัล SDC จะรุ่งแรง พร้อมเคาะแผนนำ SAV นำธุรกิจการบินในกัมพูชาเข้าตลาดหุ้น ให้สิทธิผู้ถือหุ้น SAMART จองอัตรา 100:1 โบรกชี้เป็นจุดเปลี่ยน คาดเงินขายหุ้นจะเข้ากระเป๋าสูง 3 พันล้านบาท ให้เป้า 8-9 บาท


นายธีระชัย  พงศ์พนางาม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAMART เปิดเผยผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า คณะกรรมการบริษัทอนุมัติ แผนการนำหุ้นของบริษัท สามารถ เอวิเอชั่น โซลูชั่นส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SAV ผู้ประกอบธุรกิจวิทยุการบินในประเทศกัมพูชา ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ SAMART ถือหุ้นทางอ้อมผ่านบริษัท สามารถ ยู-ทรานส์ จํากัด (SUT) จำนวน 66.67% และบริษัท สามารถ อินเตอร์ โฮลดิ้ง จํากัด (SIH) จำนวน 33.33% เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) และผู้ถือหุ้นของบริษัทตามสัดส่วนการถือหุ้น (Pre-Emptive Right) รวมทั้งการนํา SAV เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย


ในการเสนอขายหุ้นครั้งนี้บริษัทมีความประสงค์จะเสนอขายหุ้นสามัญเดิมของ SAV ซึ่งถือผ่าน SUT และ SIH จํานวนไม่เกิน 30% ของทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วภายหลังการเพิ่มทุนไปพร้อมกันด้วย ส่วนการเสนอขายหุ้น SAV ให้กับผู้ถือหุ้น SAMART มีจํานวนไม่เกิน 11,742,548 หุ้น คิดเป็นจำนวนไม่เกิน 10% ของทุนจดทะเบียนที่ชําระแล้วภายหลังการเพิ่มทุน กำหนดอัตราส่วนของหุ้น SAV ที่จะจัดสรรให้กับผู้ถือหุ้นของบริษัท 100 หุ้นของ SAMART ต่อ 1 หุ้น SAV


โดยบริษัทจะนําเงินที่ได้จากการขายหุ้นสามัญเดิมของ SAV ไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกลุ่มกิจการ ซึ่งภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนและหุ้นสามัญเดิมของ SAV ต่อประชาชนทั่วไปแล้ว บริษัทจะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นทางอ้อมใน SAV โดยมีสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 65% ของทุนจดทะเบียนชําระแล้วของ SAV ภายหลังการเพิ่มทุน


ทั้งนี้ธุรกิจของ SAV ประกอบธุรกิจลงทุนในบริษัทอื่น (Holding Company) ซึ่งเน้นการลงทุนในบริษัทที่ประกอบธุรกิจการจราจรทางอากาศ หรือธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการจราจรทางอากาศ โดยปัจจุบันได้มีการถือหุ้นสัดส่วน 100% ในบริษัท แคมโบเดีย แอร์ ทราฟฟิค เซอร์วิส จํากัด (CATS) เป็นบริษัทสัญชาติกัมพูชาที่ประกอบธุรกิจระบบและให้บริการควบคุมการจราจรทางอากาศในประเทศกัมพูชาแต่เพียงผู้เดียวตามสัญญาสัมปทานที่ได้รับจากรัฐบาลประเทศกัมพูชาตั้งแต่ปี 2544 มีระยะเวลาอายุสัมปทาน 49 ปี (นับจากปี 2545 – 2594)  โดยผลประกอบการของ SAV ปี 2565 มีกำไร 199.55 ล้านบาท มีรายได้ 1,217 ล้านบาท แม้ว่าปีดังกล่าวจะได้รับผลกระทบจากโควิดอยู่ก็ตาม


@ สำรองเคลียร์เจ็บแต่จบ


สำหรับผลประกอบการของ SAMART งวดปี 2565 บริษัทมีรายได้รวมทั้งสิ้น 9,418 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ประมาณ 32% เนื่องจากมีรายได้จากการขาย งานตามสัญญา และรายได้จากการบริการเพิ่มขึ้นเป็น 9,021 ล้านบาท จากเดิม 6,955 ล้านบาท มีสาเหตุมาจากวิกฤติ โควิด-19 คลี่คลาย ทําให้รายได้ของสายธุรกิจ ICT Solution & Service และ Utilities & Transportations เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจด้านการให้บริการจัดการการจราจรทางอากาศที่ประเทศกัมพูชาที่มีการปรับตัวดีขึ้นตามสภาวะของการเปิดประเทศ อย่างไรก็ดีบริษัทขาดทุน 955.15 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 145% จากงวดเดียวกันปี 2564 ที่ขาดทุน 389.08 ล้านบาท โดยผลการขาดทุนนั้นส่วนใหญ่มาจากและค่าใช้จ่ายอื่นๆ อาทิ การประมาณการหนี้สินระยะยาวจากคดีฟ้องร้อง, การขาดทุนจากการตัดจําหน่ายค่าความนิยม และการด้อยค่าของสินทรัพย์ทางบัญชีที่เพิ่มขึ้นมาจากสายงานธุรกิจสายดิจิทัล


ซึ่งนายวัฒน์ชัย  วิไลลักษณ์ รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายกลยุทธ์องค์กรและพัฒนาธุรกิจใหม่ กล่าวว่า บริษัทได้เร่งตั้งด้อยค่าใน SDC เพื่อที่จะรองรับกับอนาคตของของธุรกิจ SDC ในปี 2566 ที่จะมีการเติบโตจากธุรกิจดิจิทัล ทรังค์ เรดิโอ ที่บริษัทได้ทำการส่งมอบของแล้ว บริษัทตั้งเป้าจำนวนผู้ใช้บริการไม่ต่ำกว่า 120,000 ราย จะรับรู้รายได้เข้ามาอย่างมากในปีนี้ ประกอบกับบริษัทยังเห็นโอกาสในโครงการ National Trunk Network ที่จะเพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการอย่างก้าวกระโดด  คาดว่าปี 2566 จะเป็นปีที่สายธุรกิจ Digital Communications จะมีการฟื้นตัวและการเติบโตที่โดดเด่น โดยปี 2566 กลุ่มบริษัทตั้งเป้ารายได้ 16,000 ล้านบาท หรือเติบโต 75% จากปีก่อน


@จุดเปลี่ยนเป้า 8-9 บาท


ด้านนายกิจพณ  ไพรไพศาลกิจ  ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุว่า การนำธุรกิจบริหารสนามบินเข้า IPO จะเป็นจุดเปลี่ยนของ SAMART Group บริษัทในกลุ่มสามารถ รายงานผลประกอบการปี 2565 โดยมีเพียง SAMTEL ที่กำไร 260 ล้านบาท (0.42 บาท/หุ้น) ขณะที่ SDC รายงานขาดทุน 1,175 ล้านบาท (-0.09 บาท/หุ้น) และ SAMART รายงานขาดทุน 955 ล้านบาท (-0.95 บาท/หุ้น) โดยผลขาดทุนส่วนใหญ่มาจากสายงานธุรกิจ Digital ที่ดำเนินการโดย SDC จากการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ที่ยังไม่ถึงจุดคุ้มทุนในการให้บริการ


ประเมินปี 2566 มีโอกาสเป็นจุดเปลี่ยนของ SAMART Group จากแผนการนำธุรกิจบริหารสนามบินกัมพูชา เข้าจดทะเบียน (IPO) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในช่วงไตรมาส 4/2566 ซึ่งจะส่งผลดีสำคัญกับผู้ถือหุ้น SAMART ได้แก่ 1. เพิ่มมูลค่าหุ้นในเชิง NAV เนื่องจากคาดมูลค่าระดมทุนน่าจะอยู่ราว 1 หมื่นล้านบาท และ SAMART คาดถือหุ้น 65% 2. หลังการระดมทุน และแบ่งขายหุ้นบางส่วน คาด SAMART จะได้เม็ดเงินราว 3,000 ล้านบาท เพื่อลดภาระหนี้ 3. ผู้ถือหุ้น SAMART จะได้สิทธิ์ซื้อหุ้นก่อน (Preemptive Right) ในอัตราส่วน 100 SAMART ต่อ 1 หุ้นใหม่ที่จะ IPO เราประเมินมูลค่าทางกลยุทธ์ของ SAMART ด้วย Discounted to NAV ที่ 8-9 บาทต่อหุ้น


รู้ทันเกม รู้ก่อนใคร ติดตาม "ทันหุ้น" ที่นี่

FACEBOOK คลิก https://www.facebook.com/Thunhoonofficial/

YOUTUBE คลิก https://www.youtube.com/channel/UCYizTVGMealUUalT6VdUdNA

Tiktok คลิก https://www.tiktok.com/@thunhoon_

LINE@ คลิก https://lin.ee/uFms4n5

TELEGRAM คลิก https://t.me/thunhoon_news

Twitter คลิก https://twitter.com/thunhoon1

จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ่านต่อ

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X