> อาหารสมอง >

02 พฤษภาคม 2023 เวลา 13:28 น.

"คาร์บอนเครดิต" ต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

#บลจ.ยูโอบี #ทันหุ้น เป็นเวลาหลายทศวรรษมาแล้วที่การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่รุนแรง (Climate Change Extreme Weather) เป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบกระทบต่อชีวิตเราทุกคน สภาวะอากาศที่เปลี่ยนไปเกิดจากโครงสร้างอากาศที่ผิดแปลกไปจากเดิมดยสาเหตุหลักเกิดจากการเพิ่มขึ้นของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas Emission) 


ซึ่งส่วนใหญ่มาจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการเผาไหม้ของถ่านหิน น้ำมันเชื้อเพลิง และก๊าซ จากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ เช่น การผลิตไฟฟ้า การคมนาคม อุตสาหกรรม และการทำลายป่าไม้ ส่งผลให้ชั้นบรรยากาศโลกมีอุณหภูมิเฉลี่ยที่สูงขึ้น และเป็นที่มาของสภาวะโลกร้อน (Global Warming) 


ในขณะที่ปัจจุบันการตระหนักถึงผลเสียของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นประเด็นสำคัญที่ได้รับความสนใจจากองค์กรต่าง ๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change หรือ IPCC) ที่ก่อตั้งขึ้นโดยสหประชาชาติ ได้กำหนดมาตรการเกียวโต (Kyoto Protocol) ขึ้นเมื่อปี 2540 


โดยมีสาระสำคัญ คือ การกำหนดโควต้าการปล่อยก๊าซคาร์บอนสำหรับประเทศต่าง ๆ ที่เป็นสมาชิก เพื่อพยายามควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก ซึ่งมาตรการที่สำคัญนี้ ส่งผลให้เกิดการพัฒนาการลดการปล่อยมลพิษในรูปแบบการซื้อขาย “คาร์บอนเครดิต”


  • คาร์บอนเครดิตคืออะไร

คาร์บอนเครดิต หรือ Carbon Offsets เป็นเครื่องมือทางการเงินที่ถูกพัฒนาขึ้น โดยมีเป้าหมายหลัก คือ การลดภาวะโลกร้อนจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนหรือก๊าซเรือนกระจกอื่น ๆ จากภาคอุตสาหกรรม โดยการนำคาร์บอนเครดิตไปชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากการที่บริษัทใช้ไฟฟ้า เชื้อเพลิง หรือพลังงานอื่น ๆ 


ซึ่งคาร์บอนเครดิตจะช่วยให้บริษัทต่าง ๆ สามารถควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ให้เกินกว่าปริมาณที่ถูกกำหนดไว้ โดยหน่วยของคาร์บอนเครดิต 1 หน่วยจะอนุญาตให้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์หรือก๊าซเรือนกระจกอื่น ๆ จำนวน 1 ตัน


  • คาร์บอนเครดิตทำงานอย่างไร

คาร์บอนเครดิตมีการทำงานด้วยระบบ 'Cap and Trade' เริ่มจากแนวคิดที่ใช้กลไกตลาดในการสร้างแรงจูงใจให้กับบริษัทต่าง ๆ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก กล่าวคือ 


  1. ในกรณีที่บริษัทมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณที่เกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนด บริษัทจะถูกเรียกค่าปรับ ซึ่งถือเป็นต้นทุนและค่าใช้จ่ายของบริษัทที่เพิ่มขึ้น 
  2. ในทางตรงกันข้ามหากบริษัทสามารถควบคุมให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ บริษัทสามารถเก็บคาร์บอนเครดิตส่วนที่เหลือไว้ใช้ภายหลัง หรือสามารถนำมาขายให้กับบริษัทอื่นที่มีการปล่อยคาร์บอนเกินกว่าที่กำหนด ซึ่งทำให้บริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายคาร์บอนเครดิตส่วนที่ไม่ได้ใช้ 


ดังนั้น คาร์บอนเครดิตถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่ใช้บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) เนื่องจากบริษัทสามารถซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อนำมาหักลบปริมาณการปล่อยคาร์บอนของบริษัทให้เท่ากับศูนย์ ซึ่งหมายถึง บริษัทสามารถกำจัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ทั้งหมด


  • ประเภทของคาร์บอนเครดิต

คาร์บอนเครดิต แบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก คือ 

  1. Voluntary Emissions Reduction (VER) เป็นการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในตลาด Over-the-Counter (OTC) หรือตลาดภาคสมัครใจ 
  2. Certified Emissions Reduction (CER) เป็นการซื้อขายคาร์บอนเครดิตผ่านกรอบการกำกับดูแลที่เป็นมาตรฐานของโครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism)[1]
  • ตลาดคาร์บอนเครดิต

ตลาดคาร์บอนเครดิต คือ ตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตเพื่อนำไปชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสำหรับองค์กรที่ไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ด้วยตนเอง ตลาดคาร์บอนเครดิตสามารถแบ่งออกได้ 3 ประเภท ได้แก่ 


1) ตลาดภาคบังคับและสมัครใจ (Mandatory and Voluntary) 

2) ตลาดจัดสรรและทดแทน (Allocation and Offset) 

3) ตลาดสากลและภูมิภาค (International and Regional Markets)


ประเภทแรก ตลาดภาคบังคับจะถูกควบคุมด้วยกฎหมาย หรือเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกภาคบังคับที่มีผลผูกพันตามกฎหมาย ขณะที่ตลาดภาคสมัครใจไม่มีการบังคับทางกฎหมาย เกิดจากการบริหารงานด้านสภาพอากาศของผู้ประกอบการและองค์กรโดยสมัครใจ 


ประเภทที่ 2 ตลาดจัดสรร คือ ตลาดที่ซื้อขายปริมาณการปล่อยก๊าซที่ได้รับจัดสรรมาโดยภาครัฐให้กับอุตสาหกรรม ในขณะที่ตลาดทดแทนจะเกี่ยวข้องกับบริษัทหรือโครงการที่มีโอกาสในการลงทุนเพื่อที่จะทดแทนปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตน 


ประเภทที่ 3 ตลาดสากล คือ ตลาดที่ซื้อขายคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศ ขณะที่ตลาดภูมิภาคจะจำกัดอยู่ในประเทศหรือเขตภูมิภาค


ตลาดคาร์บอนในประเทศไทยถูกจัดเป็นตลาดประเภทภาคสมัครใจ ตลาดทดแทน และตลาดภูมิภาค กล่าวคือ องค์กรต่าง ๆ มีการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยความสมัครใจ ภาครัฐยังไม่มีการจัดสรรปริมาณการปล่อยก๊าซให้แก่ธุรกิจต่าง ๆ การซื้อขายคาร์บอนเครดิตจำกัดเฉพาะในประเทศผ่านโครงการลดก๊าซเรือนกระจกตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER)


  • คาร์บอนเครดิตมีราคาเท่าไหร่

การประเมินมูลค่าของคาร์บอนเครดิตมีหลายวิธี เช่น การเคลื่อนไหวของตลาด (market dynamics) และค่าใช้จ่ายในการดำเนินการหรือการส่งมอบโครงการ ซึ่งราคาของคาร์บอนเครดิตนั้น จะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับประเภท ขนาด อุปสงค์ อุปทาน และปัจจัยอื่น ๆ ของโครงการ 


ราคาของคาร์บอนเครดิตโลกในปี 2565 อยู่ระหว่าง 40 – 80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อเมตริกตันของคาร์บอนไดออกไซค์เทียบเท่า (tCO2e) ซึ่งสูงขึ้นจาก 12.70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ tCO2e ในปี 2564 


จากรายงานของ High-Level Commission on Carbon Prices ระบุว่าราคาของคาร์บอนเครดิตคาดว่าจะปรับขึ้นเป็น 50 – 100 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ tCO2e ภายในปี 2573[2] 


ซึ่งเป็นผลมาจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากสนธิสัญญาปารีส (Paris Agreement) ขององค์การสหประชาชาติที่ได้กำหนดเป้าหมายในการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกเฉลี่ยอยู่ที่ 2 องศาเซลเซียส เมื่อเปรียบเทียบกับระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม แต่เป้าหมายในอุดมคติ คือ 1.5 องศาเซลเซียส[3]


  • หากต้องการซื้อคาร์บอนเครดิต ต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง

ปัจจัยที่สำคัญที่ควรพิจารณาเมื่อซื้อคาร์บอนเครดิต ประการแรก คือ ประเภทของโครงการ ประกอบด้วย 

1) โครงการหลีกเลี่ยง (Avoidance Project) คือ โครงการหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น โครงการพลังงานหมุนเวียนเพื่อทดแทนการใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล 


2) โครงการถอดถอน (Removal Project) คือ โครงการกำจัดก๊าซเรือนกระจกไปจากชั้นบรรยากาศและจัดเก็บก๊าซอย่างถาวร ซึ่งมาจากการใช้เทคโนโลยีและวิธีทางธรรมชาติ 


ตัวอย่างเช่น การดูดก๊าซและจัดเก็บโดยตรง (Carbon Capture and Storage) และการปลูกต้นไม้ ตามลำดับ ประการที่ 2 โครงการนั้นได้รับการรับรองจากมาตรฐานระดับสากลหรือไม่ เช่น Gold Standard และ Verified Carbon Standard (VCS)


  • คาร์บอนเครดิตและเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ

การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศถือเป็นวาระที่สำคัญและเร่งด่วน โดยเฉพาะในปี 2558 ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกกว่า 200 ประเทศได้ลงนามร่วมกันในสนธิสัญญาปารีส (Paris Agreement) เพื่อรับรองเป้าหมายในการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกเฉลี่ย 2 องศาเซลเซียส เมื่อเปรียบเทียบกับระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม และในอุดมคติ คือ 1.5 องศาเซลเซียส 


โดยการที่จะบรรลุเป้า 1.5 องศาเซลเซียสได้จะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 50 จากปริมาณในปัจจุบัน เพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2573 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593 


ส่งผลให้หลาย ๆ บริษัทตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาสภาพอากาศ และกำหนดเป้าหมาย Net Zero เพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า จาก 500 บริษัท ในปี 2562 เป็น 2,000 กว่าบริษัท ในปี 2565[4]


อย่างไรก็ตาม พบว่าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีอุปสรรคบางประการ เช่น บางอุตสาหกรรมไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซบางตัวได้ เทคโนโลยีในการลดการปล่อยก๊าซมีต้นทุนสูง การที่จะบรรลุเป้าหมาย Net Zero ของโลกได้นั้น บริษัทต่าง ๆ ต้องอาศัยความร่วมมือจากประเทศต่าง ๆ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากที่สุด และจำเป็นต้องควบคุมและขจัดปริมาณก๊าซเรือนกระจกออกไปจากชั้นบรรยากาศให้อยู่ในระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกติดลบ

ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา การซื้อขายคาร์บอนเครดิตเป็นวิธีที่นิยมมากที่สุดที่อุตสาหกรรมต่าง ๆ ใช้ในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่ไม่สามารถกำจัดออกไปได้ 


อีกทั้ง ความพยายามในการลดคาร์บอนจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกส่งผลให้ตลาดคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจมีการเติบโตขึ้นอย่างมาก 


โดย McKinsey & Company ประมาณการณ์ว่าการเติบโตของความต้องการคาร์บอนเครดิตของโลกจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 1.5 – 2 กิกะตันของคาร์บอนไดออกไซด์ (GtCO2) ภายในปี 2573 และเพิ่มขึ้นเป็น 7 – 13 GtCO2 ภายในปี 2593 


และคาดว่าในปี 2573 ขนาดตลาดคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจมีมูลค่าประมาณ 5 – 30 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นอย่างน้อย และอาจสูงเกินกว่า 50 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ


  • แนวโน้มของตลาดคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจ

เมื่อเร็ว ๆ นี้ การประชุม COP27 หรือ การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change Conference of the Parties หรือ UNFCCC COP) ครั้งที่ 27 ที่ประเทศอียิปต์ พบว่า การหารือของประเทศสมาชิกในเรื่องมาตรฐานและกฎเกณฑ์ด้านการค้าคาร์บอนเครดิตในตลาดภาคสมัครใจนั้น ยังคงมีความคลุมเครือและไม่สามารถหาข้อสรุปได้ เนื่องจากยังไม่มีกฎหมายการเทรดคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศ 


อย่างไรก็ตาม ตลาดคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจเริ่มมีความซับซ้อนและมีพลวัตมากขึ้น ในขณะที่ความต้องการคาร์บอนเครดิตคาดว่าจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากความต้องการที่บรรลุเป้าหมายขององค์กรทางด้าน Carbon Neutrality และ Net Zero ส่งผลให้ราคาคาร์บอนเครดิตปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก และคาดว่าจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต 


จากการสำรวจโดย Taskforce on Scaling Voluntary Carbon Markets หรือ TSVC พบว่า ปริมาณและราคาคาร์บอนเครดิตที่ซื้อขายกัน คาดว่าจะก้าวกระโดดเป็น 3.6 GtCO2 และ 54 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ tCO2e ภายในปี 2593 ตามลำดับ


  • แนวโน้มตลาดคาร์บอนเครดิตในไทย

ในประเทศไทยนั้น องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก หรือ อบก. (Thailand Greenhouse Gas Management Organization หรือ TGO) ได้พัฒนาระบบการซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Trading System หรือ Thailand V-ETS) พัฒนาขึ้นเพื่อส่งเสริมการดำเนินงานด้านการลดก๊าซเรือนกระจกภายใต้ตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจของประเทศไทย[5] 


โดยล่าสุดประเทศไทยได้เปิดตัวตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต (FTIX) บริหารงานโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (Federation of Thai Industries หรือ FTI) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้บริษัทเอกชนและหน่วยงานของรัฐมีการซื้อขายคาร์บอนเครดิต และติดตามการปล่อยก๊าซของตนผ่านระบบออนไลน์

สำหรับแนวโน้มตลาดคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจของประเทศไทย คาดว่าจะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่า มูลค่าการซื้อขายคาร์บอนเครดิตเพิ่มขึ้นจาก 850,000 บาท ณ ช่วงตลาดเริ่ม


เทรดในปี 2559 มาเป็น 129 ล้านบาทในปี 2565 และมีปริมาณการซื้อขาย 1.19 ล้านบาท ต่อ tCO2e ณ ราคาเฉลี่ย 108.22 บาทต่อตัน คิดเป็นการเพิ่มขึ้นของมูลค่าและปริมาณการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในปี 2565 เท่ากับ 13 และ 4 เท่า ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปี 2564 


การเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญนี้ สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มธุรกิจให้ความสำคัญกับการทดแทนการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และโอกาสในการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในตลาดที่เติบโตมากขึ้น


บทสรุป

การชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนโดยการใช้คาร์บอนเครดิตสามารถทำได้ง่าย และครอบคลุมธุรกิจทุกประเภท โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริษัทที่ดำเนินธุรกิจตามกรอบแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งมีเป้าหมายที่ต้องการลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกอื่น ๆ 


คาร์บอนเครดิตจึงเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ที่จะช่วยสนับสนุนให้บริษัทสามารถบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน

หมายเหตุ:

[1] กลไกการพัฒนาที่สะอาด หรือ CDM เป็นการดำเนินการร่วมกันระหว่างกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมและกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยหากธุรกิจที่ลงทุนและผ่านการตรวจสอบว่าสามารถลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้จริง จะได้รับคาร์บอนเครดิตที่เรียกว่า Certified Emission Reduction (CER)

[2] World Bank, State and Trends of Carbon Pricing 2022,

https://climatefocus.com/wp-content/uploads/2022/06/9781464818950.pdf

[3] Stern, N., Stiglitz, J., & Taylor, C. (2022). The economics of immense risk, urgent action and radical change: towards new approaches to the economics of climate change. Journal of Economic Methodology, 29(3), 181-216.

[4] https://zerotracker.net/

[5] http://carbonmarket.tgo.or.th/index.php?lang=TH&mod=Y29uY2VwdF92ZXRz

จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X