> เคล็ดลับลงทุน >

09 พฤษภาคม 2023 เวลา 15:03 น.

เมื่อตลาดแกว่งไร้ทิศทาง (Sideway Drifting)

#Investment-Focus by KTAM #ทันหุ้น ในเดือนที่ผ่านมา ความผันผวนในตลาดสินทรัพย์เสี่ยงรวมถึงภาคธนาคารเริ่มปรับตัวลดลง และทำให้ตลาดปรับเปลี่ยนมุมมองถึงความเป็นไปได้ที่ Fed อาจจะไม่จำเป็นเร่งรีบปรับลดดอกเบี้ยเพื่อพยุงสภาพคล่องของระบบการเงิน โดยตลาด Options ล่าสุดแสดงให้เห็นว่า เฟดน่าจะปรับดอกเบี้ยขึ้นอีก 1 ครั้งในการประชุม FOMC ในเดือน พ.ค. นี้ และน่าจะคงดอกเบี้ยที่สูงไว้นาน (Higher for longer) ซึ่งนานกว่าที่ตลาดคาดหวังไว้ก่อนหน้านี้


อย่างไรก็ดี จากการที่ธนาคารต่างๆ เริ่มมีความระมัดระวังมากขึ้นในการปล่อยสินเชื่อ รวมถึงการที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเริ่มมีแนวโน้มปรับลดลงในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้าจากผลของฐาน และอาจทำให้เงินเฟ้อในสหรัฐฯ ต่ำกว่าดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้ความเสี่ยงของความเร็วในการขึ้นดอกเบี้ยก็ปรับตัวลดลงเช่นกัน


ปัจจัยเหล่านี้ ทำให้ความผันผวนในตลาดสินทรัพย์เสี่ยงลดลงในเดือนที่ผ่านมา และตลาดแกว่งตัวอย่างแคบๆ ไร้ทิศทางระหว่างตลาดรอปัจจัยหลักจากการประกาศผลประกอบการของบริษัทและการประชุมนโยบายการเงินของ Fed and ECB ต่อไป


การตัดสินใจที่รวดเร็วของภาครัฐรวมถึงธนาคารกลางทั้งฝั่งยุโรป และสหรัฐ ในการเข้าช่วยเหลือภาคการธนาคาร เพื่อป้องกันปัญหาการขาดความเชื่อมั่นของผู้ฝากเงิน หลังจากการล้มของ SVB รวมถึง ปัญหาที่เกิดขึ้นกับสถาบันการเงินใหญ่อย่าง Credit Suisse (CS) เมื่อเดือนมีนาคม ช่วยทำให้ตลาดเริ่มคลายความกังวลของวิกฤติความเชื่อมั่นในภาคการธนาคารในสองภูมิภาคใหญ่ และมาตรการช่วยเหลือที่รวดเร็วและเบ็ดเสร็จต่างๆ ก็ค่อยๆ เรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมาได้ และช่วยลดแรงกดดันที่ Fed จะต้องรีบลดดอกเบี้ยเพื่อพยุงสภาพคล่องในระบบการเงินและผลกระทบต่อเศรษฐกิจ


เงินฝากยังถูกไถ่ถอน

อย่างไรก็ดี ถึงแม้ตลาดดูคลายความกังวลของวิกฤติความเชื่อมั่นในภาคการธนาคาร จากที่ดัชนีหุ้นธนาคารเริ่มฟื้นตัว แต่ความเชื่อมั่นของผู้ฝากเงินต่อความแข็งแกร่งของสถาบันการเงิน และความปลอดภัยของเงินฝากยังเป็นปัญหาที่ต้องประเมินต่อไป โดยเฉพาะความกังวลในความมั่นคงของธนาคารภูมิภาคของสหรัฐ เมื่อเงินฝากยังถูกไถ่ถอนมากขึ้น และไหลออกจากธนาคารขนาดเล็กต่อเนื่อง


ในเดือนที่ผ่านมา ตัวเลขดัชนีเศรษฐกิจหลายตัวดูเหมือนออกมาอ่อนแอกว่าที่ตลาดคาด ไม่ว่าจะเป็นยอดขายบ้านมือสองที่ปรับตัวลดลงกว่าที่คาด หรือดัชนีภาคการผลิตในภูมิภาคมิด-แอตแลนติก (Philadelphia Fed Business Outlook) ปรับตัวลงสู่ระดับ -31.3 ในเดือน เม.ย. (ติดลบ หมายถึงการหดตัว) ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ค.2563 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ -19.2 รวมถึงตัวเลขผู้ขอสวัสดิการว่างงานต่อเนื่อง (Recurring) เพิ่มขึ้นมาที่ระดับ 1.87 ล้านราย สูงสุดตั้งแต่ พ.ย. 2564


ในขณะที่ Conference Board เผยดัชนี ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ Leading Economic Index (LEI) ลดลง 1.2% อยู่ที่ระดับ 108.4 ในเดือน มี.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ย. 2563 สะท้อนแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา และมีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจสหรัฐอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยในกลางปี 2566


เรายังเชื่อว่าเมื่อคำนึงถึงเป้าหมายการดูแลให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในกรอบ Fed อาจปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งในต้นเดือน พ.ค. และน่าจะคงดอกเบี้ยที่สูงไว้นาน โดยสะท้อนความเสี่ยงจากสภาพคล่องที่ยังลดลงเมื่อเทียบกับอดีต(Tightening financial conditions) และระดับเงินเฟ้อที่แม้จะอยู่ในระดับสูงแต่น่าจะเห็นการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องจากการที่ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว (Peak inflation)


ทั้งนี้ เราคาดว่าเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มปรับลดลงในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้าจากผลของฐาน และอาจทำให้เงินเฟ้อในสหรัฐฯ ต่ำกว่าดอกเบี้ยนโยบาย อย่างไรก็ตาม แรงกดดันเงินเฟ้อภาคบริการที่ยังคงสูง อีกทั้งคาดการณ์เงินเฟ้อ (Inflation Expectations) ก็ยังคงสูงอยู่ ยังเป็นปัจจัยที่ต้องติดตาม


กลยุทธ์ลงทุน พ.ค.

สำหรับกลยุทธ์การลงทุนของ Asset Allocation ในเดือน พ.ค. 2566 แม้ตลาดยังเผชิญความผันผวนที่สูงเทียบกับในอดีตและต้นทุนการเงินที่เปลี่ยนไป แต่เมื่อคำนึงถึงท่าทีของภาครัฐที่พร้อมจะให้ความช่วยเหลืออย่างชัดเจน เพื่อป้องกันวิกฤติความเชื่อมั่นไม่ให้ลุกลามในวงกว้างของระบบธนาคาร รวมถึงการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เทคโนโลยีและการขยายเมือง ทำให้เรายังคงมีมุมมองที่ค่อนข้างเป็นบวก (Slightly Positive) ต่อสินทรัพย์เสี่ยงสำหรับการลงทุนระยะยาว


ส่วนในระยะสั้น มุมมองที่ตลาดคาดการณ์ต่อทิศทางดอกเบี้ยของ Fed รวมถึงผลประกอบการของบริษัทที่ทยอยประกาศออกมาอาจไม่ได้อ่อนแออย่างคาด แต่ยังคงไม่ได้แข็งแรงมาก โดยเฉพาะในเรื่องของ margin รวมถึงดัชนี LEI ที่ยังอ่อนแออยู่ จึงทำให้คาดว่าตลาดจะเผชิญกับความผันผวนที่เพิ่มขึ้นและอยู่ในระดับสูง จึงทำให้อาจมีการขายสินทรัพย์เพื่อถือเงินสดเป็นระยะๆ


หุ้นกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ยังมีความน่าสนใจและน่าจะช่วงป้องกันความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง ส่วนมุมมองตราสารหนี้นั้น เรามุมมองที่เป็นบวกเล็กน้อย (Slightly Positive) จาก “ดอกเบี้ยรับ” ที่สูงขึ้นในปัจจุบัน แต่ตลาดตราสารหนี้ยังคงมีความผันผวนอยู่สูง (ดัชนี MOVE) จึงแนะนำให้ “ทยอยสะสม” ตราสารหนี้ที่มีคุณภาพดี



คอลัมน์: Investment-Focus by KTAM

โดย: ดร. สมชัย อมรธรรม

        ณิธาวัลย์ อิศรเสนา ณ อยุธยา

        บลจ.กรุงไทย

จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X