> SET > TRUE

11 พฤษภาคม 2023 เวลา 10:22 น.

TRUE ยังไม่ถึงฝัน เผยงบมี.ค.กำไร 615 ล. โบรกแนะ “ถือ”

#TRUE #ทันหุ้น - บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)หรือ TRUE แจ้งผลการดำเนินงานเดือนมีนาคม 66 มีกำไรสุทธิ 615.49 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.02 บาท บล.กสิกรไทยมองว่า TRUE ตั้งเป้าหมายไว้สูง แต่ยังไปไม่ถึง โบรกเกอร์ 3 ราย PI, MST และ INVX แนะนำ “ถือ” ทางด้านบริษัทเผยยอดผู้ใช้บริการเพิ่ม 1.4% แตะ 50.5 ล้านเลขหมาย ผู้ใช้ 5G เพิ่ม 13% มี 6.3 ล้านเลขหมาย ได้เรทติ้ง A+ จากการจัดอันดับเครดิตองค์กรของบริษัทซึ่งจัดตั้งขึ้นใหม่จากการควบรวมกิจการ


บล.กสิกรไทยมองว่า TRUE ตั้งเป้าหมายไว้สูง แต่ยังไปไม่ถึง ผลขาดทุนปกติเสมือนไตรมาส 1/66 อยู่ที่ 1.85 พันลบ. น้อยกว่าประมาณการกำไรปกติไตรมาส 1/66ที่ 299ลบ. และต่ำกว่าประมาณการกำไรปกติปี 66 ของเราที่ 5.3 พันลบ.แนวทางปี 66ที่คาดรายได้ปกติทรงตัวและ EBITDA ลดลง ต่ำกว่าประมาณการของเราที่คาดรายได้ปกติและ EBITDA เติบโตขึ้น 4.3%และ 3.2% แนะนำ "ซื้อ" จาก 1) การดำเนินงานเดือนมี.ค. ที่ดีกว่าเดือนม.ค.-ก.พ. 2) แนวทางปี 66 ที่ไม่รวมมูลค่าการผนึกกำลังและ 3) CPG และ Telenor ถือหุ้นมากขึ้น


รีวิวงบเดือนมี.ค.2566 เมื่อวันที่ 10พ.ค. TRUE รายงานงบการเงินเดือนมี.ค.2566ด้วยกำไรสุทธิที่ 615ลบ. ทั้งนี้ TRUE รวมงบการเงินในวันที่ 1มี.ค. จากการรวมกิจการระหว่าง DTAC และ TRUEE หากไม่รวมรายการครั้งเดียว ได้แก่ กำไรจาก FX ที่ 716 ลบ. และเงินเคลมประกันที่ 350ลบ. ผลขาดทุนปกติ 1เดือนอยู่ที่ 451ลบ. ผลขาดทุนเดือนมี.ค. น้อยกว่าคาดการณ์กำไรปกติปี 2566ของเราที่ 5.3พันลบ. TRUE จะจัดการประชุมนักวิเคราะห์หลังประกาศผลประกอบการในวันที่ 11 พ.ค.2566


บล.กสิกรไทยคงคำแนะนำ "ซื้อ" TRUE ปัจจัยหนุนคาดมาจาก 1) CPG และ Telenor เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นจาก 29% เป็นมากกว่า 30% และ 2) มูลค่าการผนึกกำลังที่มากกว่า 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เรายอมรับว่าราคาหุ้น TRUE อาจถูกเทขายในระยะสั้นจากผลประกอบการที่น่าผิดหวัง กอปรกับแนวทางการเติบโตไม่น่าตื่นเต้น และการประกาศมูลค่าการผนึกกำลังที่อาจเกิดขึ้นที่ล่าช้าออกไป เราคำนวณราคาเป้าหมาย TRUE ที่ 10.32 บาท ยังคาดว่าหุ้นจะมีปัจจัยหนุนตัวคูณมูลค่าหุ้นจาก 1) ความเท่าเทียมในการแข่งขันที่ดีขึ้นและ 2) ROIC ที่ดีขึ้น


ปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ 1) ต้นทุนการรวมธุรกิจที่สูง 2) สงครามราคา 3) ผลกระทบเชิงลบจากมาตรการเยียวยาของ กสทช. และ 4) การปรับโครงสร้างเงินทุนที่ไม่เอื้อประโยชน์


นาย มนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE กล่าวว่า ปี 2566 จากการควบรวมกิจการระหว่าง บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTACและ TRUEโดยบริษัทที่ควบรวมใหม่ในนาม TRUE  ทำให้ลูกค้าทั้งแบรนด์ดีแทคและทรูได้รับประโยชน์จากคุณภาพเครือข่ายที่ดีขึ้น และสามารถเข้าถึงการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงด้วยบริการ 5G บนคลื่น 2600 MHz และความครอบคลุมของเครือข่าย 4G/5G ที่ดีขึ้นบนคลื่น 700 MHz ใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ มีผลิตภัณฑ์และบริการที่หลากหลายยิ่งขึ้น ช่วยเพิ่มโอกาสในการขายสินค้าหรือบริการที่เกี่ยวเนื่อง (cross-selling) และการเพิ่มยอดขาย (upselling)


ทรู ดิจิทัล โซลูชัน มีรายได้เพิ่มขึ้น 92% (YoY) จากธุรกิจนวัตกรรมอัจฉริยะ (Smart Solutions) และนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่สามารถขยายไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจดิจิทัล เฮลท์ ยังสร้างรายได้เติบโต 62% (YoY) มีการสร้างระบบนิเวศร่วมเป็นพันธมิตรกับกลุ่มผู้ประกอบการประกันภัยและผู้ให้บริการด้านสุขภาพ รวมถึงความร่วมมือกับโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อให้การเข้าถึงบริการทางการแพทย์ง่ายและสะดวกขึ้น


การฟื้นตัวเศรษฐกิจของประเทศไทยได้รับอานิสงส์จากการท่องเที่ยวที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง การปรับเพิ่มขึ้นของต้นทุนพลังงานทำให้เกิดแรงกดดันด้านต้นทุนต่อทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภค การแข่งขันในอุตสาหกรรมมีการปรับตัวไปในทิศทางที่ขึ้นเล็กน้อยจากการที่ผู้ประกอบการมุ่งเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น การรวมบริการ และไลฟ์สไตล์โซลูชันสำหรับลูกค้า


ในไตรมาสที่ 1 ปี 2566 ผู้ใช้บริการมือถือเพิ่มขึ้น 676,000 เลขหมาย ไปอยู่ที่ระดับ 50.5 ล้านเลขหมาย หรือเพิ่มขึ้น 1.4% จากไตรมาสที่ 4 ปี 2565 ผู้ใช้บริการ 5G มีจำนวนถึง 6.3 ล้านเลขหมาย เพิ่มขึ้น 13% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (QoQ) โดยมีปริมาณการใช้งานที่เพิ่มขึ้น และ 5G มีรายได้เฉลี่ยต่อเลขหมายต่อเดือน (ARPU) ที่เพิ่มขึ้น 10-15% ผู้ใช้งานดิจิทัลรายเดือน (MAU) สูงถึง 35.8 ล้านราย เพิ่มขึ้น 19% (YoY)  ทั้งนี้ ในไตรมาสที่ 4 ปี 2565 ยอดผู้ใช้งานดิจิทัล (MAU) ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 46.0 ล้านราย จากการถ่ายทอดรายการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย (FIFA World Cup Final 2022)

นายนกุล เซห์กัล หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน (ร่วม) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า รายได้จากการให้บริการของเรายังอยู่ภายใต้ภาวะ ARPU ที่ลดลงจากผลกระทบการแข่งขันที่รุนแรงต่อเนื่อง โดยไตรมาสแรก รายได้รวมลดลง 2.0% (YoY) เนื่องจากการลดลงในส่วนของการให้บริการมือถือและออนไลน์


รายได้จากการให้บริการมือถือลดลง 2.5% (YoY) เนื่องจาก ARPU ลดลงแม้ว่าจำนวนผู้ใช้บริการจะเพิ่มขึ้น รายได้จากบริการออนไลน์ลดลง 2.3 % (YoY) จากยอดขายบรอดแบนด์ของลูกค้าที่ลดลงท่ามกลางการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งชดเชยด้วยการเติบโตของยอดขายองค์กรภาคธุรกิจ รายได้จากการขายสินค้าลดลง 28.9 % (YoY) เนื่องจากปริมาณการขายเครื่องโทรศัพท์มือถือที่ลดลง และการเปิดตัว iPhone ที่เร็วขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2565


จากงบการเงินเสมือนสำหรับไตรมาสที่ 1 ปี 2566 ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (OPEX) ทั้งหมด ไม่รวมค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (D&A) ลดลง 5.2% (YoY) จากมาตรการในการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อและต้นทุนค่าสาธารณูปโภคที่ปรับตัวสูงขึ้น


สำหรับ EBITDA ในไตรมาสนี้ดีขึ้น 10.1% (QoQ) จากผลกระทบที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว (one-time effect) จากการเจรจาสัญญาในไตรมาส 4 ปี 2565 การยุติข้อพิพาทที่กำลังดำเนินอยู่ที่เป็นผลในเชิงบวกในไตรมาส 1 ปี 2566 และการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพ


ผลขาดทุนสุทธิหลังหักภาษีอยู่ที่ 492 ล้านบาท โดยได้รับผลกระทบเชิงบวกจากกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนและการชำระค่าสินไหมทดแทนบางส่วน ขาดทุนสุทธิในไตรมาส 4 ปี 2565 ได้รับผลกระทบเชิงลบจากค่าใช้จ่ายรายการพิเศษ (Non-recurring expenses) ประมาณ 8.5 พันล้านบาท โดยมีสาเหตุหลักมาจากการตัดจำหน่ายสินทรัพย์ ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการควบรวมกิจการ และการด้อยค่าสินทรัพย์ประจำปี


ค่าใช้จ่ายลงทุน (CAPEX) ในไตรมาส 1 ปี 2566 มีจำนวน 17,565 ล้านบาท โดยมุ่งเน้นในการยกระดับประสบการณ์ และการขยายความจุของเครือข่ายก่อนการควบรวมกิจการ ทั้งนี้ จากการที่ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้รับการเพิ่มเรทติ้งใหม่เป็น "A+" คาดว่าจะทำให้ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยลดลงจากการที่หนี้เก่าครบกำหนดและรีไฟแนนซ์ภายใต้อันดับเครดิตองค์กรใหม่"


สำหรับปี 2566 TRUE คาดการณ์การเติบโตคงที่สำหรับรายได้จากการให้บริการไม่รวมรายได้ค่าเชื่อมต่อโครงข่าย (IC) และ การเติบโตคงที่ถึงการลดลงในอัตราร้อยละที่เป็นตัวเลขหลักเดียวในระดับต่ำ (low single-digit) สำหรับ EBITDA ทั้งนี้ เงินลงทุน หรือ CAPEX ประมาณการณ์ไว้ที่ 25,000 – 30,000 ล้านบาท สำหรับแนวโน้มปี 2566 จะนับจาก 10 เดือนหลังจากที่ควบรวมเสร็จ การคาดการณ์ของปีดังกล่าวยังอาจต้องพิจารณาเพิ่มเติมในภายหลังเนื่องมาจากการเปลี่ยนผ่านธุรกิจของบริษัท และการดำเนินงานของบริษัทหลังการควบรวม ตลอดจนค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการบูรณาการ


ตัวเลขสำคัญทางการเงินในไตรมาส 1 ปี 2566 (ตามงบการเงินเสมือน)

รายได้จากบริการไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่าย (IC) จำนวน 38,985 ล้านบาท ลดลง 2.0% (YoY)

EBITDA อยู่ที่ 19,452 ล้านบาท ลดลง 8.7% (YoY)

อัตรากำไร EBITDA (เมื่อเทียบกับรายได้รวม) อยู่ที่ 37.5%

ขาดทุนสุทธิ จำนวน 492 ล้านบาท



รู้ทันเกม รู้ก่อนใคร ติดตาม "ทันหุ้น" ได้ทุกช่องทางเหล่านี้

YOUTUBE คลิก https://www.youtube.com/c/ThunhoonOfficial

FACEBOOK คลิก https://www.facebook.com/Thunhoonofficial/

Tiktok คลิก https://www.tiktok.com/@thunhoon_

TELEGRAM คลิก https://t.me/thunhoon_news

Twitter คลิก https://twitter.com/thunhoon1

Instagram คลิก https://instagram.com/thunhoon.news?igshid=YTY2NzY3YTc=

จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ่านต่อ

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X