26 พฤษภาคม 2023 เวลา 06:00 น.
#ทันหุ้น - วันนี้หลักทรัพย์บัวหลวง จะชวนท่านผู้อ่านมาทำความรู้จัก “อัตราการว่างงาน” ว่าคืออะไร และมีความสำคัญต่อการลงทุนอย่างไร อัตราการว่างงานคือ จำนวนผู้ว่างงานต่อกำลังแรงงานทั้งหมด ซึ่งสำนักงานสถิติแห่งชาติได้นิยามคำว่า “กำลังเเรงงาน” เเละ “ผู้ว่างงาน” ดังนี้
• กำลังแรงงานหมายถึง จำนวนผู้ที่มีอายุอยู่ในวัยแรงงาน (15 ปีขึ้นไป) ที่มีความพร้อมและต้องการทำงาน
• ผู้ว่างงานหมายถึง กำลังแรงงานที่ไม่มีงานทำ หรือไม่มีงานประจำ
อัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้น อาจมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ 3 ข้อ ดังนี้
1. การเติบโตทางเศรษฐกิจ (Economic Growth) การว่างงานอาจชะลอการเติบโตทางเศรษฐกิจ เมื่อผู้คนตกงาน กำลังการผลิตลดลง ส่งผลอัตราการเติบโตเศรษฐกิจลดลง เเละในทางกลับกัน เมื่ออัตราการว่างงานต่ำ คนมีงานทำจำนวนมาก ซึ่งเพิ่มผลผลิตและสามารถกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจได้จากการวิเคราะห์สถิติเชิงประจักษ์ของอังกฤษ พบว่าทุกๆ การว่างงานที่ลดลง 1% จะส่งผลกระทบต่อตัวเลข GDP ของประเทศประมาณ 0.5%
2. ต้นทุนทางสังคม (Social Cost) การว่างงานมีต้นทุนทางสังคม ต้นทุนทางสังคมคือความสูญเสียหรือผลกระทบเชิงลบที่เกิดขึ้นกับสังคม ซึ่งอาจนำไปสู่อัตราความยากจน ที่เพิ่มขึ้นการไร้ที่อยู่อาศัย อัตราอาชญากรรม และความไม่สงบในสังคม ผลกระทบทางสังคมเหล่านี้อาจ ทำให้เศรษฐกิจตึงเครียดมากขึ้น
3. การใช้จ่ายของผู้บริโภค (Consumer Spending) เมื่ออัตราการว่างงานสูง ผู้คนมีรายน้อยลง ทำให้การใช้จ่ายสินค้าและบริการลดลง ผลกระทบนี้อาจส่งผลเสียต่อธุรกิจต่างๆ ซึ่งนำไปสู่ผลกำไรเเละผลผลิตที่ลดลง ทำให้เกิดวงจรเศรษฐกิจเกิดการชะลอ
เข้าใจวิธีคำนวณหาค่าอัตราการว่างงาน
1. จำนวนผู้ว่างงาน ซึ่งรวมถึงบุคคลทั้งหมดที่ไม่ได้ทำงานในขณะนี้ หรือที่กำลังหางานทำอยู่ โดยนักเรียน นักศึกษา ผู้ทำงานบ้านและผู้ทำกิจกรรมที่ไม่ได้เป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะถือว่า เป็นผู้ว่างงาน ก็ต่อเมื่อคนเหล่านี้พร้อมที่จะทำงานและกำลังหางานที่มีค่าตอบแทนทำ
2. กำลังแรงงานบุคคลทั้งหมดที่กำลังทำงานหรือกำลังหางานทำอยู่ ตั้งแต่อายุ 15 ปีขึ้นไป ในการคำนวณกำลังแรงงาน ให้เพิ่มจำนวนผู้มีงานทำเข้ากับจำนวนผู้ว่างงาน
3. อัตราการว่างงานคือเปอร์เซ็นต์ของจำนวนผู้ว่างงานต่อกำลังแรงงานทั้งหมด คูณด้วย 100 (มีหน่วยเป็นร้อยละ)
การอ่านค่าอัตราการว่างงาน
• อัตราการว่างงาน มีค่าต่ำลงหมายถึง การว่างงานลดลง คนมีงานทำมากขึ้น ส่งผลต่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเเละผลผลิตเพิ่มขึ้น
• อัตราการว่างงาน มีค่าสูงขึ้นหมายถึง การว่างงานเพิ่มขึ้นคนไม่มีงานทำหรือหางานไม่ได้เพราะธุรกิจลดรายจ่ายหรือเลิกกิจการ ส่งผลต่อผลผลิตโดยรวมในอุตสาหกรรมต่างๆ ลดลง
อัตราการว่างงาน สัมพันธ์แบบผกผันกับทั้งตลาดหุ้นและอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวชี้วัด ของภาพรวมเศรษฐกิจอัตราการว่างงานที่ต่ำ อาจหมายถึงเศรษฐกิจดี มีแนวโน้มเพิ่มค่าจ้าง เนื่องจากขาดแคลนแรงงาน เเต่ในบางกรณี อาจส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ เนื่องจากการขึ้นค่าจ้าง ทำให้ต้องขึ้นราคาสินค้า
โดยสรุปอัตราการว่างงาน ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นตลาดทุนหลักๆ ดังนี้
1. กําลังการผลิต (Production Capacity) อัตราการว่างงานอาจส่งผลกระทบอย่างมาก ต่อความสามารถในการผลิตของระบบเศรษฐกิจ กำลังการผลิตที่ลดลง อาจบ่งบอกได้ว่าภาคธุรกิจกำลังลดต้นทุนเนื่องจากเศรษฐกิจไม่ดี จึงลดแรงงาน ในขณะที่การลดแรงงานจะทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง สิ่งนี้ทำให้เกิดวงจรการลดกำลังผลิต-ลดคน-ลดกำลังซื้อ ซึ่งจะย้อนกลับมาลดอัตราเติบโตเศรษฐกิจหรือ GDP ของประเทศ
2. ความเชื่อมั่นของนักลงทุน (Investor Sentiment) อัตราการว่างงานที่สูง ส่งผลทำให้เกิดความไม่มั่นใจเกี่ยวกับอนาคตทางเศรษฐกิจ และราคาหุ้น ความเชื่อมั่นเชิงลบนี้ ทำให้นักลงทุนระมัดระวังและพยายามลดความเสี่ยงในหุ้นและการลงทุน ส่งผลให้กิจกรรมการซื้อขายในตลาดหุ้นลดลง และลดความเสี่ยงโดยการขายหุ้นออกเพื่อแปลงสภาพเป็นเงินสดแทน ทำให้ราคาหุ้นจำนวนมากอาจลดลงอย่างรวดเร็ว
รู้ทันเกม รู้ก่อนใคร ติดตาม "ทันหุ้น" ที่นี่
FACEBOOK คลิก https://www.facebook.com/Thunhoonofficial/
YOUTUBE คลิก https://www.youtube.com/channel/UCYizTVGMealUUalT6VdUdNA
Tiktok คลิก https://www.tiktok.com/@thunhoon_
[email protected] คลิก https://lin.ee/uFms4n5
TELEGRAM คลิก https://t.me/thunhoon_news
Twitter คลิก https://twitter.com/thunhoon1
เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา อ่านเพิ่มเติม