#BGC #ทันหุ้น-BGC กางแผนธุรกิจปี 67 เตรียมขยายตลาดใหม่ๆ ทั้งในและต่างประเทศ จับมือคู่ค้าเข้าร่วมทุนธุรกิจบรรจุภัณฑ์ที่บริษัทยังไม่มีในพอร์ต คาดประกาศดีลเข้าลงทุนได้ประมาณเดือนก.พ. 67 นี้ ส่วนกรณีที่รัฐขยายเวลาเปิดสถานบริการเป็นตี 4 มองว่าส่งผลดีไม่มาก ขณะที่ปัจจัยท้าทายปีหน้าคือจำนวนนักท่องเที่ยว รวมถึงค่าไฟฟ้าและค่าแรงงานที่สูงขึ้นเป็นปัจจัยต้องติดตาม ตั้งเป้ายอดขายในปีหน้าจะเติบโตกว่าปีนี้
นายศิลปรัตน์ วัฒนเกษตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จำกัด (มหาชน) หรือ BGC เปิดเผยว่า ในปีหน้าบริษัทก็จะพยายามผลักดันยอดขายให้เติบโตจากปีนี้ โดยวางแผนที่จะขยายตลาดใหม่ๆ ลูกค้าใหม่ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่นบรรจุภัณฑ์เกี่ยวกับอาหาร เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งเป็นตลาดที่มีการแข่งขันกันอยู่แล้ว บริษัทก็จะพยายามเข้าไป ขณะที่ธุรกิจด้านขวดแก้วซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบริษัทในปีหน้ามองว่าน่าจะทรงๆตัว
*ดีลร่วมทุนปี67
โดยแผนการขยายตลาดใหม่ๆ ในธุรกิจบรรจุภัณฑ์นั้น ส่วนหนึ่งก็จะเป็นการซื้อกิจการหรือการร่วมทุน ซึ่งขณะนี้มีดีลที่กำลังดำเนินการอยู่ โดยบริษัทได้ร่วมกับคู่ค้า ที่จะเข้าไปร่วมทุนในบริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งทำธุรกิจด้านบรรจุภัณฑ์ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่บริษัทยังไม่มีในพอร์ต ดังนั้นจะการร่วมทุนดังกล่าวจะช่วยทำให้บริษัทสามารถหาลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ได้เพิ่มขึ้น ซึ่งในเบื้องต้นในส่วนของ BGC จะใช้เงินลงทุนในการร่วมทุนนี้ประมาณ 100-200 ล้านบาท โดยดีลนี้ตั้งเป้าว่าจะสามารถประกาศอย่างเป็นทางการได้ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2567 นี้
ขณะที่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 คณะกรรมการบริษัท ได้อนุมัติให้บริษัท บีจีซี แพคเกจจิ้ง จำกัด หรือ BGCP เข้าซื้อหุ้น 100% ในบริษัท ไพร์ม แพ็คเกจจิ้ง จำกัด หรือ Prime ซึ่งทำธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดอ่อนและม้วนฟิล์ม โดยมีมูลค่าการเข้าลงทุนประมาณ 580 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายที่จะเป็นผู้ประกอบการธุรกิจบรรจุภัณฑ์ครบวงจร (Total Packaging Solution) เพื่อรองรับการเติบโตอย่างต่อเนื่องทั้งในธุรกิจบรรจุภัณฑ์แก้วซึ่งเป็นธุรกิจหลักในปัจจุบันของบริษัทฯ รวมถึงธุรกิจแพคเกจจิ้ง
*จับตาตัวเลขท่องเที่ยว
ส่วนกรณีที่คณะรัฐมนตรีหรือครม. ได้ขยายเวลาสถานีบริการได้ถึงเวลา 04.00 น.นั้น นายศิลปรัตน์ มองว่า ในส่วนของ BGC ที่ธุรกิจหลักเกี่ยวกับการจำหน่ายขวดเบียร์นั้น มองว่า อาจจะทำให้คนทั่วไปดื่มกินมากขึ้น แต่ส่งผลดีกับบริษัทไม่มาก เพราะเชื่อว่ากลุ่มผู้บริโภคก็ยังเป็นกลุ่มเดิมๆ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามอย่างมากคือนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเข้ามาไทยมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะสิ่งที่น่ากังวลคือนักท่องเที่ยวจากจีน ที่จะเข้ามาเที่ยวในไทยน้อยกว่าคาด เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจของจีน นับเป็นปัจจัยที่ท้าทายในปีหน้าอย่างมาก
ทั้งนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงมหาดไทย เรื่องการกำหนดวันเวลาเปิด-ปิดสถานบริการทุกประเภท โดยเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงเดิมที่ประกาศใช้เมื่อปี 2547 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นการท่องเที่ยวของประเทศหลังวิกฤตโควิด-19 ซึ่งมีความจำเป็นเร่งด่วน โดยจะดำเนินการนำร่องในพื้นที่กรุงเทพฯ ภูเก็ต ชลบุรี เชียงใหม่ และท้องที่เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้สามารถเปิดบริการได้ถึงเวลา 04.00 น.ของวันรุ่งขึ้น ส่วนท้องที่อื่นที่ต้องการให้สถานบริการเปิด-ปิดถึงเวลา 04.00 น.นั้นขอให้เป็นไปตามประกาศของจังหวัดภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ปลัดกระทรวงมหาดไทยกำหนด
*ปีหน้าท้าทาย
นายศิลปรัตน์ กล่าวอีกว่า ในปีหน้ายังเป็นปีที่ท้าทายต่อการดำเนินธุรกิจ เพราะนอกจากปัจจัยในเรื่องของจำนวนนักท่องเที่ยวที่ไม่มีจำนวนน้อยกว่าคาดแล้ว สิ่งที่ต้องติดตามคือภาวะเศรษฐกิจในประเทศจะเป็นอย่างไร รวมถึงค่าไฟฟ้าที่มีแนวโน้มปรับขึ้น และค่าแรงขั้นต่ำที่จะปรับเพิ่มขึ้น ดังนั้นบริษัทจึงได้วางกลยุทธ์การบริหารอย่างระมัดระวัง และควบคุมค่าใช้จ่าย ต้นทุนต่างๆ ซึ่งราคาโซดาแอซที่ราคาอ่อนตัวลง จึงเป็นปัจจัยหนุนได้
BGC แจ้งผลดำเนินงานในงวด 9 เดือนแรกปีนี้ มีรายได้จากการขาย 9,127 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 92% หรือ 1% จากช่วงเดียวกันปีก่อน มาจากการปรับราคาขายและปริมาณขายที่เพิ่มขึ้นภายในประเทศโดยเฉพาะกลุ่มเบียร์ และกลุ่มโซา และน้ำดื่ม ตามการขยายตัวของการบริโภคและการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ หลังจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สำหรับแนวโน้มผลดำเนินงานงวดไตรมาส 4/2566 BGC คาดจะยังเติบได้ต่อเนื่องจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากเข้าสู่ช่วงไฮซีซันและเทศกาลเฉลิมฉลอง รวมถึงมาตรการฟรีวีซ่าของรัฐบาลที่จะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยว ส่งผลดีต่อการบริโภคและความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์สำหรับเครื่องดื่ม นอกจากนี้บริษัท ยังได้รับปัจจัยบวกจากมาตรการปรับลดค่าไฟฟ้า เต็มไตรมาส เป็นระยะเวลา 4 เดือน (ก.ย.- ธ.ค.2566) ซึ่งจะช่วยลดค่าไฟฟ้าของบริษัท
ทั้งนี้บริษัทวางแผนบริหารจัดการต้นทุนโดยปรับสูตรการผลิตเพื่อลดต้นทุนการผลิตต่อหน่วยโดยไม่กระทบคุณภาพ ใช้พลังงานทางเลือกที่เหมาะสมเพื่อบริหารต้นทุนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ควบคู่ไปกับการเจรจาปรับราคาสินค้า ขยายจำนวนคู่ค้า รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้กระบวนการผลิตเพื่อช่วยในการลดต้นทุน
เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา อ่านเพิ่มเติม