#CREDIT #ทันหุ้น – CREDIT ตั้งเป้าพอร์ตสินเชื่อเติบโต 20-30% ต่อปี ขณะที่มีอัตราเติบโตของพอร์ตสินเชื่อเฉลี่ยสะสมต่อปี (CAGR) อยู่ที่ 33.0% ต่อปี (2563-2565) ด้าน “วิญญู ไชยวรรณ” ย้ำพื้นฐานแกร่ง โชว์ NIM สูงสุดในอุตสาหกรรม เดินหน้าขยายพอร์ตสินเชื่อเพิ่ม
นายวิญญู ไชยวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยเครดิต จำกัด (มหาชน) หรือ CREDIT เปิดเผยว่า ธนาคาร ตั้งเป้าพอร์ตสินเชื่อเติบโตในระดับ 20-30% ต่อปี สอดรับกับทิศทางการเติบโตในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ธนาคารมีอัตราเติบโตของพอร์ตสินเชื่อโดยเฉลี่ยสะสมต่อปี (CAGR) อยู่ที่ 33.0% ต่อปี (2563-2565) โดยมีเงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ของธนาคาร ณ งวด 9 เดือนแรกของปี 2566 อยู่ที่ประมาณ 138,435 ล้านบาท
นอกจากนี้ ธนาคารมีแผนที่จะดำเนินการตามแผนงานและกลยุทธ์ในอนาคต ในการดำเนินธุรกิจและประสบการณ์ของลูกค้าให้ดียิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับการนำระบบดิจิทัลมาใช้ การขยายส่วนแบ่งทางการตลาดของธนาคาร ในภาคธุรกิจการให้บริการสินเชื่อธุรกิจไมโครเอสเอ็มอี (MSME) สินเชื่อนาโนและไมโครเครดิตเพื่อคนค้าขาย (Nano and Micro Finance) และสินเชื่อบ้านแลกเงิน (Home for Cash) ที่เติบโตได้ดี รวมทั้งการมุ่งเน้นคุณภาพของสินเชื่อ และการเฟ้นหาพันธมิตรเชิงกลยุทธ์เพื่อยกระดับการนำเสนอผลิตภัณฑ์ ประสบการณ์ของลูกค้า และการเข้าถึงลูกค้าอย่างมีประสิทธิภาพ
*ย้ำพื้นฐานแกร่ง
นายกนต์ธีร์ ประเสริฐวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน เปิดเผยว่า ธนาคารไทยเครดิต นับเป็นธนาคารพาณิชย์ในรอบ 10 ปีที่เข้ามาระดมทุน เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่ออกและเสนอขายโดยธนาคาร และหุ้นสามัญที่เสนอขายโดยผู้ถือหุ้นเดิม OCA Investment Holdings I Pte. Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทลงทุนในกลุ่มของ Olympus Capital Asia รวมจำนวน 254,124,200 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้ 5.00 บาทต่อหุ้น คิดเป็นไม่เกิน 20.7% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของธนาคาร ภายหลังการทำ IPO ในครั้งนี้
โดยในช่วงเปิดจองซื้อหุ้น IPO ธนาคาร ได้รับการตอบรับจากนักลงทุนรายย่อย ตลอดจนนักลงทุนสถาบันทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งผู้ลงทุนสถาบันที่เป็น Cornerstone Investors ระดับโลก ให้ความเชื่อมั่น ตอกย้ำความแข็งแกร่งของธุรกิจ
*โชว์ NIM สูงสุด 8.2%
ธนาคารมีการดำเนินธุรกิจที่มีความเป็นเอกลักษณ์ ทำให้สามารถครองตำแหน่งทางการตลาดที่มั่นคงและแข็งแกร่งในภาคธุรกิจการให้บริการสินเชื่อธุรกิจไมโครเอสเอ็มอี (MSME) และสินเชื่อนาโนและไมโครเครดิตเพื่อคนค้าขาย (Nano and Micro Finance) ซึ่งเป็นภาคธุรกิจที่มีการเติบโตสูงในประเทศไทย รวมไปถึงบริการเงินฝาก และบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจธนาคาร
ในระหว่างปี 2556 ถึงปัจจุบัน ธนาคารมีการขยายธุรกิจอย่างรวดเร็ว เป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) สูงสุดในอุตสาหกรรม โดยในงวด 9 เดือน ปี 2566 อยู่ที่ประมาณ 8.2% อัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นเฉลี่ย (ROE) อยู่ในระดับสูงที่ 21.8% สะท้อนการเติบโตอย่างมั่นคงในฐานะธนาคารพาณิชย์ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย แต่มีการเติบโตแข็งแกร่งภายใต้การบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ
อีกทั้ง จากรายงานของอิปซอสส์ (IPSOS) ประมาณการว่าในปี 2565 มูลค่าตลาดของการกู้ยืมนอกระบบอยู่ที่ 235.4 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 14% ของมูลค่าสินเชื่อภาคครัวเรือนในประเทศไทย สะท้อนโอกาสของธนาคารไทยเครดิตในการสนับสนุนบริการสินเชื่อ
*ขยายพอร์ตสินเชื่อ
จึงมั่นใจว่า ภายหลังการระดมทุนในครั้งนี้ ธนาคารจะมีความพร้อมของเงินกองทุนธนาคารสูงขึ้น โดยใช้เงินที่ได้จากการระดมทุน จำนวนประมาณ 1,790 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นเงินทุนสำหรับการขยายพอร์ตสินเชื่อประมาณ 895 ล้านบาท และปรับปรุงและพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัล (Digital Transformation) และโครงสร้างพื้นฐานด้านความปลอดภัยของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT Security and Infrastructure) ประมาณ 895 ล้านบาท
สำหรับผลการดำเนินงานของธนาคารไทยเครดิต ในปี 2563-2565 และงวด 9 เดือนแรกของปี 2566 มีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 6,370.9 ล้านบาท 8,493.6 ล้านบาท 11,052.3 ล้านบาท และ 9,783.8 ล้านบาท ตามลำดับ มีกำไรสุทธิ 1,372.9 ล้านบาท 1,935.0 ล้านบาท 2,352.5 ล้านบาท และ 2,816.7 ล้านบาท ตามลำดับ
รู้ทันเกม รู้ก่อนใคร ติดตาม "ทันหุ้น" ที่นี่
FACEBOOK คลิก https://www.facebook.com/Thunhoonofficial/
YOUTUBE คลิก https://www.youtube.com/channel/UCYizTVGMealUUalT6VdUdNA
Tiktok คลิก https://www.tiktok.com/@thunhoon_
LINE@ คลิก https://lin.ee/uFms4n5
TELEGRAM คลิก https://t.me/thunhoon_news
Twitter คลิก https://twitter.com/thunhoon1
เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา อ่านเพิ่มเติม