> กองทุน >

14 กุมภาพันธ์ 2024 เวลา 13:34 น.

บลจ.กสิกรไทยฉายภาพปี67 น้ำหนักลงทุนตลาดหุ้นตปท.

#บลจ.กสิกรไทย #ทันหุ้น จัดให้ตลาดหุ้นที่ บลจ.กสิกรไทย ให้น้ำหนักลงทุน หรือ Overweight ในปี 2567 กับตลาดหุ้น สหรัฐ ญี่ปุ่น อินเดีย และเวียดนาม อย่างไรก็ตามต้องประเมินความเสี่ยงของแต่ละตลาดด้วยเพื่อจัดพอร์ตและน้ำหนักที่เหมาะสม โดยแนะกระจายลงทุนต่อเนื่องเพื่อลดความผันผวน


นายวจนะ วงศ์ศุภสวัสดิ์ CFA, Chief Investment Officer บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด หรือ บลจ.กสิกรไทย ให้มุมมองการลงทุนของปี 2567 สำหรับหุ้นต่างประเทศว่า บลจ.กสิกรไทยให้น้ำหนักการลงทุน (Overweight) ในหุ้นสหรัฐ ด้วยมุมมองที่ว่า นักวิเคราะห์ยังมีการปรับประมาณการกำไรขึ้นเป็นส่วนใหญ่ ภาพเศรษฐกิจของสหรัฐปรับตัวดูดีขึ้น ด้วยเงินเฟ้อที่ยังปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง และอัตราการเติบโตที่ยังแข็งแกร่ง นอกจากนี้ เฟดได้เริ่มส่งสัญญาณว่าพร้อมที่จะลดดอกเบี้ยนโยบายในปี 2567 จาก Dot Plots ล่าสุด


ทั้งนี้ ตลอดปี 2567 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจสหรัฐสะท้อนความแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่แรงกดดันจากเงินเฟ้อลดลง โดยการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งมีสัดส่วนต่อ GDP สูง ได้รับแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และฐานะการเงินที่แข็งแกร่งของครัวเรือน ประกอบกับความตื่นตัวของภาคเอกชนต่อการนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ รวมถึงกฎหมาย Chips and Science Act ที่ล้วนมีส่วนสำคัญที่ช่วยส่งเสริมการลงทุนของภาคธุรกิจในปีที่ผ่านมา


มองไปข้างหน้า เศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัว]’ แต่สามารถหลีกเลี่ยงภาวะถดถอยได้ โดยแนวโน้มการบริโภคของประชาชน ภาคเอกชนน่าจะชะลอลงมากขึ้น เนื่องจากภาวะหนี้ครัวเรือนที่จะสูงขึ้น ภายหลังชาวอเมริกันเริ่มกลับมาจ่ายหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ Student Loans รวมทั้งเงินออมส่วนเกินที่ทยอยปรับลดลง


*การเมือง-ภูมิรัฐศาสตร์กดดัน

ดังนั้นยังแนะนำระมัดระวังความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากประเด็นด้านการเมือง ทั้งภายในสหรัฐเอง และระหว่างภูมิภาค รวมไปถึงความเสี่ยงหากเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่มองว่าจะเป็นแบบไม่รุนแรง เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีสัญญาณที่สะท้อนความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจและการเงินในสหรัฐฯ กระนั้น นักลงทุนยังคงต้องลงทุนอย่างรอบคอบและกระจายความเสี่ยงเมื่อมองไปในปี 2567

ในส่วนของตลาดหุ้นอื่นๆ ที่ให้น้ำหนักลงทุน (Overweight) ยังมี ตลาดหุ้นญี่ปุ่น จากมุมมองการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น และการปฏิรูปเรื่องธรรมาภิบาลของบริษัท เป็นปัจจัยบวก หนุน ผลกำไร และROE ให้กับผู้ถือหุ้นมากขึ้น


นายวจนะ  ให้ความเห็นว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นักลงทุนทั่วโลกมักจะผิดหวังกับการลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่น โดย ผลตอบแทนรายปีในช่วง 15 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 6.4% (ในรูปดอลลาร์สหรัฐ) เทียบกับผลตอบแทนหุ้นสหรัฐที่สูงถึง 13.7% การขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับต่ำ อัตราดอกเบี้ยติดลบ การไม่มุ่งเน้นผลตอบแทนผู้ถือหุ้น และโอกาสการลงทุนที่ดีกว่าในประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย ส่งผลให้นักลงทุนจำกัดการลงทุนในหุ้นญี่ปุ่น


อย่างไรก็ดี การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น อัตราดอกเบี้ยที่กลับมาเป็นบวก การสนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนในญี่ปุ่นมีบรรษัทภิบาลเพิ่มขึ้นของรัฐบาล และเม็ดเงินลงทุนที่ไหลออกจากตลาดหุ้นจีน ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้นักลงทุนหันมาให้ความสนใจกับตลาดหุ้นญี่ปุ่น


*ดิสเคาท์เหลือน้อย

บลจ.กสิกรไทย มองว่า ภาพเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่เปลี่ยนแปลงไป บวกกับการปฏิรูปบรรษัทภิบาล และเงินลงทุนที่ไหลเข้ามาในตลาดหุ้นมากขึ้น ทำให้ราคาหุ้น (Valuation) ของญี่ปุ่นที่เทรดในระดับP/E ต่ำกว่าตลาดหุ้นสหรัฐ คิดเป็นส่วนลด (P/E Discount) ประมาณ 25% อาจไม่สมเหตุสมผลแล้ว นักลงทุนควรพิจารณาการจัดสรรสัดส่วนการลงทุนในหุ้นญี่ปุ่นเพิ่มเติม หากปัจจุบันยังถือครองน้อยเกินไป


รวมถึง Overweight ตลาดหุ้นอินเดีย ที่มองว่าเศรษฐกิจภายในประเทศยังขยายตัวได้ดี เงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง แต่คาดว่าธนาคารกลางไม่น่าปรับดอกเบี้ยขึ้น กำไรของบริษัทจดทะเบียนยังคงแข็งแกร่ง


และ Overweight  ตลาดหุ้นเวียดนาม จากมุมมองที่เศรษฐกิจของประเทศยังฟื้นตัวต่อเนื่อง ผลักดันโดยภาคส่งออกที่ฟื้นตัวภายหลังกลุ่มประเทศหลักของโลกผ่านพ้นการปรับลดระดับสินค้าคงคลัง และนโยบายผ่อนคลายทางการเงินของธนาคารกลางเวียดนาม เป็นปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัวกำไรของบริษัทจดทะเบียน


ในส่วนของตราสารหนี้ ให้น้ำหนักลงทุน (Overweight) ในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ เนื่องจากอัตราผลตอบแทนยังอยู่ในระดับสูง และหากแม้เศรษฐกิจเติบโตต่ำกว่าคาด พันธบัตรยังคงสร้างผลตอบแทนได้ดี และตราสารหนี้ไทย แนะนำลงทุนในพันธบัตรไทยทั้งพันธบัตรรัฐบาลและตราสารหนี้ภาคเอกชน จากยิลด์ที่อยู่ในระดับน่าสนใจ และวัฏจักรการขึ้นดอกเบี้ยสิ้นสุดไปแล้ว อีกทั้งมีโอกาสลดดอกเบี้ยได้ในปี 2567


*ให้น้ำหนักลงทุนทอง

นอกจากนี้ ยังแนะนำลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก ซึ่งบลจ.กสิกรไทยให้น้ำหนักการลงทุน (Overweight) ทอง โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวลดลงของ Real Yield อีกทั้งยังเป็นการลงทุนเพื่อกระจายความเสี่ยง โดยเฉพาะการป้องกันความเสี่ยงจากสภาวะสงคราม และลดความผันผวนของพอร์ตการลงทุน

จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X