> Trendtalk > TOP

19 กุมภาพันธ์ 2024 เวลา 06:20 น.

TrendTalk : เจาะ TOP

#TOP #ทันหุ้น - ตลาดหุ้นไทยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลดลงไปทดสอบแนวรับที่ 1,380 หลังจากพยายามฟื้นตัวไปทดสอบแนวต้านที่ 1,400 ถ้าสามารถทะลุผ่านขึ้นไปได้ จะมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไปทดสอบแนวต้านถัดไปที่ 1,420


สำหรับหุ้นที่น่าสนใจวันนี้ คือ TOP หรือ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)


ดำเนินธุรกิจการกลั่นและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมสำเร็จรูปที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย นอกจากนี้ ไทยออยล์ยังมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องหลากหลาย เช่น ธุรกิจน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน ธุรกิจปิโตรเคมีสายอะโรเมติกส์และสายโอเลฟิน ธุรกิจไฟฟ้า ธุรกิจสารทำละลายและเคมีภัณฑ์ ธุรกิจบริการขนส่งผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมสำเร็จรูปทางท่อ ธุรกิจพลังงานทดแทน


ผลประกอบการปี 66 มีกำไรสุทธิ 19,443 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 8.70 บาท เมื่อเทียบกับผลประกอบการปี 65 ที่มีกำไรสุทธิ 32,668 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 15.63 บาท


TOP รายงานผลประกอบการงวดปี 66 มีกำไร 19,443.16 ล้านบาท ลดลง % จากงวดเดียวกันปี 65 ที่มีกำไร 32,668.13 ล้านบาท


ปี 66 กลุ่มไทยออยล์มีรายได้จากการขาย 459,402 ล้านบาท ลดลง 46,301 ล้านบาท สาเหตุจากราคาขายผลิตภัณฑ์ที่ปรับลดลงตามราคาน้ำมันดิบ นอกจากนี้ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับราคาน้ำมันดิบดูไบเกือบทุกผลิตภัณฑ์ปรับตัวลดลงจากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงและอุปทานที่เพิ่มขึ้น อีกทั้ง ด้านส่วนต่างระหว่างราคาน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานกับน้ำมันเตาปรับตัวลดลงจากอุปทานที่ปรับตัวสูงขึ้นรวมถึงอัตรากำไรขั้นต้นของกลุ่มธุรกิจผลิตสาร LAB ปรับตัวลดลงจากอุปสงค์ภายในประเทศที่ลดลง


อย่างไรก็ตาม ส่วนต่างราคาสารพาราไซลีนกับน้ำมันเบนซิน 95 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากอุปสงค์สารพาราไซลีนที่ดีกว่าปี 65 ประกอบกับส่วนต่างราคายางมะตอยกับน้ำมันเตาปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย ส่งผลให้ในภาพรวมมีกำไรขั้นต้นจากการผลิตของกลุ่มไม่รวมผลกระทบจากสต๊อกน้ำมันลดลง 3.4 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 10.0 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อบาร์เรล


นอกจากนี้ในปี 66 ยังมีขาดทุนจากสต๊อกน้ำมัน 808 ล้านบาท เทียบกับกำไรจากสต๊อกน้ำมัน 3,613 ล้านบาทในปี 65 ในขณะที่มีรายการปรับลดมูลค่าสินค้าคงเหลือน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป 125 ล้านบาท ขาดทุนจากการปรับลดมากขึ้น 115 ล้านบาทจากปีก่อน เมื่อรวมขาดทุนจากเครื่องมือทางการเงินที่เกิดขึ้นจริงสุทธิ 2,493 ล้านบาท ขาดทุนลดลง 13,348 ล้านบาทจากปีก่อน (รวมเฉพาะรายการที่เกิดจากการป้องกันความเสี่ยงราคาสินค้าโภคภัณฑ์)


ส่งผลให้กลุ่มไทยออยล์มี EBITDA 35,453 ล้านบาท ลดลง 1,734 ล้านบาท อีกทั้งกลุ่มไทยออยล์มีขาดทุนจากเครื่องมือทางการเงิน 356 ล้านบาท แต่มีผลกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนสุทธิ 213 ล้านบาทจากค่าเงินบาทที่แข็งค่า (โดยเป็นกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนสุทธิของสินทรัพย์และหนี้สินที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศ 485 ล้านบาท) อย่างไรก็ตามในปี 65 กลุ่มไทยออยล์มีกำไรจากการจัดประเภทเงินลงทุนและจำหน่ายเงินลงทุนในบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC จำนวน 17,334 ล้านบาท (ก่อนภาษี) หรือคิดเป็น 12,880 ล้านบาท (หลังภาษี) เมื่อหักค่าเสื่อมราคา ต้นทุนทางการเงิน และค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้แล้ว ส่งผลให้ปี 2566 กลุ่มไทยออยล์มีกำไรสุทธิ 19,443 ล้านบาท ลดลง 13,225 ล้านบาทจากปีก่อน


นายบัณฑิต ธรรมประจำจิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยว่า ในไตรมาส 4/66 กลุ่มไทยออยล์มีกำไรสุทธิ 2,944 ล้านบาท ปรับลดลงจากไตรมาสก่อน เนื่องจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับราคาน้ำมันดิบเกือบทุกผลิตภัณฑ์ปรับตัวลดลง สาเหตุจาก โรงกลั่นหลายแห่งที่ปิดซ่อมบำรุงในไตรมาส 3 กลับมาเปิดดำเนินการ ส่งผลให้อุปทานในไตรมาส 4 เพิ่มขึ้น


ด้านตลาดอะโรเมติกส์ผลการดำเนินงานปรับตัวดีขึ้น จากความต้องการใช้เสื้อผ้าสำหรับฤดูหนาวและบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่ม (PET) ที่ปรับตัวสูงขึ้น สำหรับผลการดำเนินงานด้านตลาดน้ำมันหล่อลื่นปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน จากอุปทาน ที่ปรับตัวลดลงจากการปิดตัวของโรงผลิตน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานบางแห่งในต่างประเทศและมีการปิดซ่อมบำรุงของ โรงผลิตในไทยบางแห่ง


ราคาน้ำมันดิบในไตรมาส 4/66 ปรับตัวลดลงจากไตรมาส 3/66 เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันลดลงตามเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว ประกอบกับเศรษฐกิจจีนเติบโตช้ากว่าที่คาดการณ์ก่อนหน้านี้ ส่งผลให้กลุ่มไทยออยล์ขาดทุนจากสต๊อกน้ำมัน 5,178 ล้านบาท


สำหรับภาพรวมธุรกิจกลุ่มไทยออยล์ในปี 67 คาดการณ์ว่าตลาดน้ำมันจะกลับเข้าสู่สมดุล เนื่องจากอุปทานผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมสำเร็จรูปจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการเปิดดำเนินการของ โรงกลั่นใหม่ในปี 66 และ 67 อย่างไรก็ตาม ธุรกิจโรงกลั่นยังคงได้รับแรงหนุนจากปริมาณผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมสำเร็จรูปคงคลัง โดยเฉพาะน้ำมันดีเซลและน้ำมันอากาศยานที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี และความ ไม่แน่นอนของการเปิดดำเนินการโรงกลั่นขนาดใหญ่ ในขณะที่ธุรกิจอะโรเมติกส์มีแนวโน้มฟื้นตัว หลังอุปทานจาก โรงกลั่นใหม่มีแนวโน้มน้อยกว่าอุปสงค์ที่เติบโตขึ้น สำหรับธุรกิจน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานมีแนวโน้มอ่อนตัวลงจากปี 66 เล็กน้อย จากอุปทานที่เพิ่มขึ้นของโรงผลิตน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานแห่งใหม่ของกลุ่มที่ 2 และกลุ่มที่ 3 ที่เปิดดำเนินการ ในประเทศอินเดียและจีน” นายบัณฑิต กล่าวเพิ่มเติม

ทั้งนี้ ไทยออยล์จะติดตามสถานการณ์ตลาดอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความผันผวนต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงแสวงหาโอกาสสร้างรายได้เพื่อให้มีผลการดำเนินงานที่ดีอย่างต่อเนื่อง


ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องหลังจากปรับตัวเพิ่มขึ้นไปเคลื่อนไหวเหนือเส้นค่าเฉลี่ย 200 วัน ทำให้แนวโน้มของราคาหุ้นยังมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไปทดสอบแนวต้านถัดไปที่ 60.00 และ 62.00 แต่เป็นจังหวะขายทำกำไร โดยมีแนวรับที่ 55.00

บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) จำกัด ขอแจ้งให้ทราบว่า บริษัทจะดำเนินการจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อ เป็น “บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด” โดยใช้ชื่อภาษาอังกฤษดังนี้


“CGS International Securities (Thailand) Company Limited” และใช้ชื่อย่อ “CGSI” 


 โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป

จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

ข่าวล่าสุด

อ่านต่อ

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X