15 พฤษภาคม 2024 เวลา 15:00 น.
#ส.ประกันวินาศภัย #ทันหุ้น ส.ประกันวินาศภัย ขอรัฐเพิ่มวงเงินลดหย่อนภาษีประกันสุขภาพมากกว่า 2.5 หมื่นบาท แต่อยู่ในกรอบรวมกับเบี้ยประกันชีวิตไม่เกิน 1แสนบาทตามเดิม เพื่อจูงใจให้ประชาชนเข้าถึงความคุ้มครอง หลังค่ารักษาพยาบาลมีแววโตขึ้นตลอด พร้อมผนึกหน่วยงานเกี่ยวข้องคุมเงินเฟ้อค่ารักษาพยาบาล เดินหน้าจัดกลุ่มโรงพยาบาล กดเบี้ยลงหวังให้ทุกคนเข้าถึงความคุ้มครอง
ดร.สมพร สืบถวิลกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย มองว่า ประกันสุขภาพเป็นเครื่องมือที่ภาครัฐสามารถนำมาบริหารเรื่องงบประมาณสำหรับดูแลสุขภาพประชาชน ดังนั้นหากให้แรงจูงใจมากขึ้นในเรื่องของสิทธิประโยชน์ทางภาษีเชื่อว่าจะทำให้ประชาชนตัดสินใจซื้อประกันสุขภาพมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาสมาคมได้มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาแนวทางการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อเสนอกับภาครัฐ ใน 3 แนวทาง
*ขอเพิ่มลดหย่อนเบี้ย
โดยแนวทางแรก ให้สิทธิลดหย่อนเหมือนภาษีลูกกตัญญู แต่ขยายไปยังบุตร หรือคู่สมรส ให้สามารถนำเบี้ยดังกล่าวมาลดหน่อยภาษีได้เช่นกัน แนวทางที่สอง สำหรับกลุ่มที่อายุ 45 ปีขึ้นไปสามารถนำเบี้ยมาหักลดหย่อนได้เพิ่มขึ้นอีก 10,000-20,000บาท จากปัจจุบันที่ลดหย่อนได้ 25,000 หมื่นบาท และรวมกับเบี้ยประกันชีวิตแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท
แนวทางที่สาม เบี้ยประกันสุขภาพนำมาลดหย่อนได้มากกว่า 25,000หมื่นบาท ภายใต้วงเงินลดหย่อนภาษีที่ 100,000 บาทก็ได้ เช่น จ่ายเบี้ยประกันสุขภาพ 80,000บาท และซื้อประกันชีวิตด้วยเบี้ย 20,000 บาท วงเงินลดหย่อนก็อยู่ที่ 100,000 บาท เป็นต้น โดยลูกค้าสามารถซื้อเบี้ยประกันสุขภาพเท่าไรก็ได้ เพื่อให้ลูกค้าวางแผนได้ครอบคลุมตามความต้องการ และมีประกันสุขภาพคุ้มครองในยามเจ็บป่วย
นอกจากเรื่องของมาตรกาภาษีสร้างแรงจูงใจ สมาคมยังตั้งคณะแพทย์ที่ปรึกษา เพื่อร่วมกันศึกษาว่าประกันภัยจะมีส่วนเข้าไปช่วยภาครัฐ ในการบริการดูแลสุขภาพให้กับประชาชน ดังนั้นคณะแพทย์ที่ปรึกษาของสมาคมประกันวินาศภัย จึงไม่ได้มีแค่เรื่องของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัย และบริหารสินไหมเท่านั้น หากยังมองกว้างออกไปในการดูแลผลประโยชน์ ด้านสุขภาพให้กับภาครัฐและประชาชน
*วางแผนคุมเงินเฟ้อ
นายปิยะพัฒน์ วนอุกฤษฏ์ ประธานคณะกรรมการประกันภัยอุบัติเหตุและสุขภาพ กล่าวว่า ประกันสุขภาพมีแนวโน้มเติบโตสูง จากค่ารักษาที่มีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี โดยเงินเฟ้อของค่ารักษาพยาบาลเป็นอัตราที่สูงมากถึง 7 - 8% ต่อปี หรือมากกว่านี้ เพราะปีที่ผ่านมา ตัวเลขดังกล่าวอยู่ที่ประมาณ 11% และปีนี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก นั้นหมายความว่าสินไหมจากค่ารักษาพยาบาลก็จะเพิ่มขึ้นทุกปี อย่างไรก็ตามจากข้อมูลธุรกิจประกันวินาศภัยพบว่าอัตราค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลแต่ละแห่งมีความแตกต่างกัน
สมาคมเข้าใจว่าค่ารักษาที่ต่างกันมาจากต้นทุนการดำเนินงานของโรงพยาบาลที่ต่างกัน ผนวกกับเทคโนโลยีของการรักษาที่มีความซับซ้อนและตรงเป้ามากขึ้น ก็ยิ่งทำให้ค่ารักษา และค่าสินไหมสูงขึ้น ดังนั้นสมาคมจึงมีคณะทำงานเพื่อศึกษา และอยู่ระหว่างการหาแนวทางว่าเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนสำหรับการจัดกลุ่มโรงพยาบาล เพื่อเป็นทางเลือกให้กับลูกค้าที่ซื้อประกัน การจัดกลุ่มโรงพยาบาลจะมีส่วนทำให้เบี้ยประกันภัยราคาถูกลลงและจับต้องได้มากขึ้น
เช่นกลุ่มลุกค้าที่เลือกรักษาตัวแต่โรงพยาบาลรัฐ อีกกลุ่มก็สำหรับลูกค้าที่รักษา โรงพยาบาลรัฐ และมีเอกชนบางส่วน เป็นต้น ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มนี้ก็จะมีอัตราเบี้ยประกันสุขภที่แตกต่างกัน
“เงินเฟ้อค้ารักษาพยาบาลมีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยว มีทั้งการรักษาจากแพทย์เฉพาะทางมากขึ้น เทคโนโลยี ยากลุ่มใหม่ สิทธิบัตรยา การขยายกิจการ การเทคโอเวอร์โรงพยาบาล กลุ่มโรงพยาบาลที่อยู่ในตลาดทุน ปัจจัยเหล่านี้เกี่ยวกับ เงินเฟ้อทั้งหมด และเพื่อควบคุมเงินเฟ้อจากค่ารักษาพยาบาลให้ได้เราจึงตั้งคณะแพทย์ที่ปรึกษาขึ้นมาเพื่อทำงานร่วมกัน”
นายปิยะพัฒน์ กล่าวว่า ในเยอรมัน ญี่ปุ่น บริษัทประกันภัยมีบทบาทสำคัญมากต่อการคุมเงินเฟ้อของค่ารักษาพยาบาล เพราะประชาชนที่ทำประกันสุขภาพจะมีค่ารักษาที่ถูกกว่าประชาชนที่จ่ายเงินรักษาเอง ซึ่งต่างจากไทย ที่คนมีประกันสุขภาพจะจ่ายค่ารักษาแพงกว่า ดังนั้นเพื่อคุมเงินเฟ้อของค่ารักษาพยาบาลไม่ให้เพิ่มสูงจึงเกิดเป็นความร่วมมือกับหลาย ๆ ฝ่าย
เช่น การจัดทำร่างแนวปฏิบัติ สำหรับโรค หรือการเจ็บป่วยเล็กน้อย จะมีวิธีการรักษาอย่างไรที่ไม่ให้เกินความจำเป็น ร่วมกับโรงพยาบาลในการกำหนดมาตรการการออกใบเสร็จ ไม่ให้มีการทำสำเนา หรือพิมพ์ได้ไม่จำกัด เพื่อนำไปเบิกสินไหมซ้ำซ้อนกับหลายๆบริษัทที่ทำประกันไว้ เป็นต้น
เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา อ่านเพิ่มเติม