> กองทุน >

10 มิถุนายน 2024 เวลา 17:10 น.

เลือกตั้งสหรัฐฯ EP.2 : ส่องทิศทางนโยบายในยุคที่ข้อจำกัดทางการคลังมีมากขึ้น

#Know the U.S. Election by KAsset - การเมืองสหรัฐฯ กำลังจะเข้าสู่ช่วงเวลาที่สำคัญและคึกคักมากขึ้น หลังการเลือกตั้งขั้นต้นจบลงในวันที่ 8 มิ.ย. ก่อนเข้าสู่ช่วงการลงพื้นที่เรียกคะแนนเสียงทั่วประเทศ สำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปีนี้ มีเรื่องที่พิเศษกว่าทุกครั้ง เมื่อนายโจ ไบเดน และนายโดนัลด์ ทรัมป์ ต่างตกลงเข้าร่วมการ ‘ดีเบต’ เพื่อแสดงวิสัยทัศน์แบบตัวต่อตัว ในวันที่ 27 มิถุนายน และวันที่ 10 กันยายนนี้ ซึ่งนับเป็นการดีเบตระหว่างผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ที่เกิดขึ้นเร็วกว่าทุกครั้งในประวัติศาสตร์ ที่มักจัดในเดือนกันยายนและตุลาคม 


โดยการดีเบตนับเป็นช่วงเวลาที่หลายฝ่ายจับตามอง เนื่องจากเป็นการแสดงความคิดของผู้สมัครที่แตกต่างกันในหลายมิติ อาทิ นโยบายเศรษฐกิจ พลังงาน ไปจนถึงนโยบายกีดกันผู้ลี้ภัย และย่อมมีผลต่อคะแนนนิยม โดยปัจจุบันแม้ทรัมป์จะมีคะแนนนำไบเดนอยู่ แต่ถือว่าห่างกันไม่มาก ทำให้สถานการณ์สามารถพลิกผันได้ตลอดเวลา


ส่องทิศทางการใช้นโยบายทางการคลังในแต่กรณีผลการเลือกตั้ง


เราสามารถแบ่งผลลัพธ์การเลือกตั้งสหรัฐฯ ได้อย่างคร่าวๆ เป็น 3 กรณี ได้แก่

  • เลือกตั้งสหรัฐฯ EP.2 : ส่องทิศทางนโยบายในยุคที่ข้อจำกัดทางการคลังมีมากขึ้น

การควบคุมทั้งสองสภาจะทำให้พรรครีพับลิกันสามารถผ่านกฎหมายได้ง่ายขึ้น ผ่านกระบวนการที่เรียกว่า ‘Budget Reconciliation Process ที่ใช้เพียง 50 เสียงในวุฒิสภา (Simple Majority Voting) ในการออกกฎหมายแทนที่จะใช้ 60 เสียงเหมือนการออกกฎหมายปกติ ในกรณีนี้จะส่งผลบวกต่อภาคธุรกิจมากกว่า เนื่องจากมีโอกาสค่อนข้างมากที่พรรครีพับลิกันจะต่ออายุกฎหมายปฏิรูปภาษี (Tax Cuts and Jobs Act) ออกไปจากเดิมที่จะหมดอายุในวันที่ 31 ธันวาคม 2568 โดยกฎหมายนี้เป็นมาตรการที่ทรัมป์ผลักดันตอนเป็นประธานาธิบดีในปี 2560 เพื่อลดภาษีเงินได้นิติบุคคล และลดจำนวนขั้นบันไดของการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลลง ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ และเอื้อให้ประชาชนมีรายได้หลังหักภาษีมากขึ้น หนุนการใช้จ่าย และยอดขายของภาคธุรกิจ


  • กรณีที่ 2 พรรคเดโมแครต กวาดชัยชนะได้ทั้งหมด ทั้งประธานาธิบดี วุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร

หากพรรคเดโมแครตได้เสียงข้างมากทั้งสองสภา ก็จะสามารถใช้กระบวนการ Budget Reconciliation Process ได้เช่นเดียวกัน และมีแนวโน้มที่จะปรับเพิ่มอัตราภาษีขึ้น เพื่อเพิ่มรายจ่ายภาครัฐ ทำให้ความเสี่ยงจากกรณีนี้สำหรับภาคธุรกิจจะมีมากขึ้นเช่น พรรคเดโมแครตอาจเลือกที่จะไม่ต่ออายุกฎหมายปฏิรูปภาษี หรือเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภาษีนิติบุคคล เป็นต้น


  • กรณีที่ 3 รัฐบาลผสม ไม่มีพรรคใดครองเสียงข้างมากทั้งสองสภา

โดยทั่วไป หากไม่มีพรรคไหนได้ชัยชนะทั้งสองสภาจะทำให้การแก้กฎหมาย การออกนโยบายต่างๆ ไม่สามารถทำได้ง่ายเหมือนการมีรัฐบาลที่ได้เสียงข้างมากทั้งสองสภา แต่อีกนัยหนึ่ง แปลว่าความเสี่ยงที่จะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายใดๆ แบบ 360 องศาก็จะลดน้อยลงความผันผวนของนโยบายจึงมีโอกาสค่อนข้างต่ำกว่า 


ตัวอย่างเช่น กรณีที่ไบเดนได้เป็นประธานาธิบดี และพรรคเดโมแครตมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนฯ เพียงสภาเดียว มาตรการลดภาษีเงินได้บุคคลมีโอกาสไม่ถูกต่ออายุออกไป แต่การเพิ่มรายจ่ายภาครัฐอาจเพิ่มได้อย่างช้าๆ กว่ากรณีที่ 2 ที่พรรคเดโมแครตกวาดชัยชนะทั้งหมด และเช่นเดียวกันก ในกรณีที่ทรัมป์ได้เป็นประธานาธิบดี และพรรครีพับลิกันมีเสียงข้างมากเพียงหนึ่งในสองสภา รายจ่ายภาครัฐก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ กว่าในกรณีที่พรรครีพับลิกันได้เสียงข้างมากทั้งสองสภา


ความแตกต่างของแนวนโยบาย ท่ามกลางความสามารถในการกระตุ้นเศรษฐกิจทางการคลังที่จำกัด


อย่างไรก็ดี แม้จะมีความแตกต่างของแนวคิด แต่สิ่งที่ทั้งไบเดนและทรัมป์ต้องเผชิญเหมือนกัน ไม่ว่าใครจะได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี คือ ความท้าทายจากข้อจำกัดความสามารถในการกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังดุลงบประมาณสหรัฐฯ ขาดดุลเพิ่มขึ้นมาเป็นระดับ 6.3% ต่อจีดีพีในปี 2566 ที่ผ่านมา ดังนั้นการออกนโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจึงทำได้อย่างจำกัดกว่าในยุคที่ทรัมป์เข้ารับตำแหน่งในปี 2560 ที่งบประมาณขาดดุลราว 3.1% ในปี 2559 หรือแม้แต่ในปี 2564 ที่ไบเดนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีซึ่งเป็นปีที่งบประมาณขาดดุลในระดับสูงจากวิกฤตโควิด แต่ ณ ช่วงเวลานั้นอัตราดอกเบี้ยก็อยู่ในระดับต่ำมาก 


ดังนั้นการออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ หลังจากนี้ จึงอาจไม่สามารถทำได้ง่ายเหมือนในอดีต และต้องคำนึงถึงต้นทุนต่อเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นตามมา



*แล้วเราจะลงทุนอย่างไร ในปีที่มีการเลือกตั้งสหรัฐฯ ?


“ปีที่มีการเลือกตั้งในสหรัฐฯ ตลาดหุ้นจะมีความผันผวนเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจกระทบต่อผลตอบแทนการลงทุน โดยสถิติเราพบว่า ผลตอบแทนตลาดหุ้นสหรัฐฯ (S&P500) โดยเฉลี่ยจะน้อยกว่าปีที่ไม่มีการเลือกตั้ง ดังนั้นเราแนะนำให้นักลงทุนควรติดตามทิศทางนโยบายหาเสียงของทั้งสองพรรค เพราะหากมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญก็จะทำให้ตลาดผันผวนสูง อย่างไรก็ตาม เรามองปัจจัยดังกล่าวเป็นผลกระทบช่วงสั้น ซึ่งหลังจากผ่านการเลือกตั้งไปแล้วความผันผวนก็จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ”



อย่างไรก็ดี การจับจังหวะลงทุนในช่วงการเลือกตั้งเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือการเลือกตั้ง 2 ครั้งล่าสุด ในปี 2559 และ 2563 ที่ดัชนี S&P500 ปรับตัวเพิ่มขึ้นราว 3% ตั้งแต่วันศุกร์ก่อนวันเลือกตั้งในช่วงสุดสัปดาห์ ซึ่งแปลว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ ให้ผลตอบแทนเป็นบวกแม้ว่ายังไม่รู้ผลเลือกตั้งด้วยซ้ำ ดังนั้น หากนักลงทุนรอให้การเลือกตั้งจบลงก่อน แล้วค่อยเข้าลงทุนก็อาจทำให้พลาดโอกาสการลงทุนไปได้ 


อีกทั้งการศึกษาผลตอบแทนในอดีตช่วงปีเลือกตั้งไม่ได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลตอบแทนในอนาคต เนื่องจากสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ กำไรของบริษัทจดทะเบียน และ valuations ล้วนเป็นตัวกำหนดผลตอบแทนในอนาคตมากกว่าผลการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว


สำหรับบทความเลือกตั้งสหรัฐฯ ใน EP ถัดๆ ไป เราจะมาเจาะลึกถึงแนวนโยบายของทั้งสองพรรคในมิติอื่นๆ อย่างนโยบายด้านการต่างประเทศ พลังงาน และสาธารณสุข รวมถึงผลต่อเศรษฐกิจไทยและการลงทุน


คอลัมน์: Know the U.S. Election by KAsset

โดย: วจนะ วงศ์ศุภสวัสดิ์, CFA Chief Investment Officer,

บลจ.กสิกรไทย

จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X