> เคล็ดลับลงทุน >

07 ตุลาคม 2024 เวลา 21:00 น.

DIFเคลียร์ชัดทุกประเด็น โอกาสของการลงทุนในอนาคต

#DIF #ทันหุ้น DIF หรือ กองทุนโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมดิจิทัล นับเป็นสินทรัพย์ทางเลือกที่ช่วยสร้างโอกาสให้กับผู้ลงทุน ทั้งโอกาสการเติบโตของธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมที่สนับสนุนกองทุนมีรายได้ที่มั่นคง การจ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอสร้างกระแสเงินสดให้กับผู้ลงทุน


ซึ่งวันนี้ “ทันหุ้น” จะพามาทำความรู้จัก “DIF” ผ่านบทสัมภาษณ์ “คุณทิพาพรรณ ภัทรวิกรม” Executive Director, กลุ่มการลงทุนอสังหาริมทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐานบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด หรือ บลจ. ไทยพาณิชย์ (SCBAM) ที่พร้อมเคลียร์ทุกประเด็นคำถามจากนักลงทุน เพื่อสร้างความเข้าใจ และความมั่นใจในแนวทางการบริหารจัดการที่นำไปสู่การเติบโตของกองทุน



ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ จะเห็นราคาDIFมีการปรับตัวลง ทำให้นักลงทุนเกิดคำถามถึงสาเหตุของเรื่องดังกล่าว ซึ่ง

คุณทิพาพรรณ ให้มุมมองต่อประเด็นนี้ว่า ช่วงนั้นนักลงทุนเริ่มมีความกังวลกับอนาคตของ DIF หลังจากที่ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE ผู้เช่าเสาโทรคมนาคมหลักของ DIF ได้ปรับลดสัดส่วนลงทุนโดยขายหน่วย DIF ออกมาช่วงปลายปี 2562-2565 ประมาณ 8-10% ทำให้จากเดิมถืออยู่ 28% เหลือสัดส่วนการถือหน่วยที่ 20%ประกอบกับปี 2563


*ราคาปรับลงตามตลาด
อีกทั้งตลาดหุ้นไทยยังได้รับความกดดันจากสถานการณ์โควิด รวมถึงการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยของทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้ตลาดปรับฐานลงค่อนข้างมาก ซึ่งผลกระทบนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นกับ DIF เพียงกองทุนเดียว แต่กระทบทั้งกลุ่มอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นหุ้น กองทุนอสังหาริมทรัพย์, กองรีท (REIT) และกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (IFF) ทำให้ราคาปรับตัวลงเช่นกัน

“อย่างไรก็ตาม ตราบใดที่ TRUE ยังดำเนินธุรกิจหลักในด้านสื่อสารโทรคมนาคม มีการใช้เสาโทรคมนาคม และสายใยแก้วนำแสง (FOC) ที่เป็นสินทรัพย์ของ DIF มองว่า TRUE จะยังคงสัดส่วนการลงทุนใน DIFอย่างมีนัยยะสำคัญ”



ทั้งนี้ ตั้งแต่ปลายปี 2565 TRUE ก็ไม่ได้มีการขายหน่วยลงทุนเพิ่มเติมอีก และยืนยันว่ายังถือกองทุน DIF เป็น Strategic Holdings เพราะเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการให้บริการโทรศัพท์มือถือ (Mobile) และ อินเทอร์เนต (Internet) ของกลุ่มบริษัท จึงไม่มีนโยบายที่จะลดสัดส่วนการถือ DIF อีก เพื่อคงสถานะ และความมั่นใจในการดำเนินธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม โดยปัจจุบัน TRUE ยังเป็นผู้ถือหน่วยอันดับ 1 ของกองทุน DIF ด้วยสัดส่วนลงทุนที่ 20.56%



*TRUEมีโอกาสต่อสัญญาDIF

โดยสินทรัพย์สินที่กองทุนเข้าลงทุนหลัก ๆ ประกอบด้วย เสาโทรคมนาคม และสาย FOC โดยสัญญาเช่าเสาโทรคมนาคมจะสิ้นสุดลงในปี 2576 ในขณะที่สัญญาเช่าสาย FOC จะสิ้นสุดลงในปี 2576 เช่นเดียวกัน แต่ในส่วนของสาย FOC ยังมีโอกาสต่อสัญญาต่อไปได้อีก สูงสุดไม่เกิน 10 ปี ภายใต้เงื่อนไข 2 ข้อ คือ 

1.ส่วนแบ่งตลาดของธุรกิจบรอดแบนด์ของกลุ่มทรูเกิน 33% 


หรือ 2. รายได้ของธุรกิจบรอดแบนด์ของกลุ่มทรูเกิน 16,500 ล้านบาท หากเข้าเงื่อนไขเพียงข้อใดข้อหนึ่ง TRUEมีหน้าที่ต้องเช่าสาย FOC ต่อไปอีกสูงสุดไม่เกิน 10 ปี ซึ่งปัจจุบัน ผู้จัดการกองทุน รายงานว่ารายได้ของธุรกิจบรอดแบนด์ทะลุ 14,000 ล้านบาทแล้ว จึงมีโอกาสที่ TRUE จะต่อสัญญาเช่าสาย FOC



ดังนั้น หากมองในมุมนี้ ก็จะเห็นว่าอายุเฉลี่ยโดยรวมการต่อสัญญา FOC ตามเงื่อนไขข้างต้นจะเหลืออยู่อีกประมาณ 14-15 ปี


หากมองในมุมรายได้หลังการควบรวมของ TRUE -DTAC เสร็จสิ้นในวันที่ 1 มีนาคม 2566 ทั้ง 2 บริษัทพยายามลดค่าใช้จ่ายที่ซ้ำซ้อนลง โดยปี 2566 DTAC ได้ทยอยลดสัดส่วนการเช่าใช้ทรัพย์สินส่วนใหญ่ของกองทุนลง ซึ่งรายได้ในส่วนนี้คิดเป็น 3% ของรายได้รวม


ปัจจุบันผลกระทบของรายได้จากการที่ DTAC ไม่ได้ต่อสัญญาเช่า มีการรับรู้และจบไปแล้วในไตรมาส 1 ปี 2567 อีกทั้งการปรับโครงข่ายการให้บริการภายหลังควบรวมจะไม่กระทบต่อจำนวน และค่าเช่า ที่ TRUE ได้ทำสัญญาระยะยาวกับ DIF (ประมาณ 14-15 ปี) ที่กำหนดจำนวนและราคาไว้แล้ว


“ขณะที่ DIF ก็มีแผนหาผู้เช่ารายใหม่ ภายใต้โอกาส และการเติบโตของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ซึ่งผู้จัดการกองทุน มองว่า แม้จำนวนผู้เล่นในธุรกิจนี้จะมีน้อย แต่โอกาสของการเติบโตจากความต้องการ หรือดีมานด์ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้น ทั้งในเรื่องของความเร็ว ความแรงของสัญญาณ, การพัฒนาเทคโนโลยี 5G และ 6G, การเติบโตของธุรกิจมือถือ, การแข่งขันนำเสนอแพกเกจบริการต่าง ๆ จากค่ายมือถือ ปัจจัยเหล่านี้งทำให้ธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมมีโอกาสเติบโตอีกมาก”


และแม้กองทุนจะมี TRUE เป็นผู้เช่ารายใหญ่ แต่ก็ไม่ได้มีการปิดกั้นผู้ประกอบการรายอื่นๆ ในการเช่าสินทรัพย์ของ DIF กองทุนเปิดกว้างและมีความเป็นกลาง พร้อมให้บริการกับทุกแบรนด์


*ภาษีเงินปันผลกับกองIFF

อีกเรื่องที่นักลงทุนต้องรู้คือ การเสียภาษีเงินปันผลสำหรับกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (IFF)ทุกกองที่จัดตั้งขึ้นมา จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นเวลา 10 ปี ทำให้ผู้ลงทุนได้รับการยกเว้นภาษีเงินปันผล แต่เมื่อครบกำหนดแล้ว เงินปันผลที่จ่ายให้ผู้ลงทุนก็จะถูกหัก ณ ที่จ่ายในอัตรา 10% ซึ่งเป็นไปในลักษณะเดียวกับ กองทุนอสังหาริมทรัพย์ และกองรีทอื่น ๆ 


รวมถึงหากกองทุนโครงสร้างพื้นฐานอื่น เมื่อครบสิทธิประโยชน์ทางภาษี 10 ปี แล้ว ผู้ลงทุนก็จะต้องกลับมาจ่ายภาษีเช่นกัน ซึ่งในส่วนของ DIF ที่จัดตั้งขึ้นมาครบ 10 ปีกว่าแล้วนั้น ทำให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีของ DIF ได้สิ้นสุดลงไปแล้วเมื่อปี 2565


อย่างไรก็ตามหากมองถึงปัจจัยบวก ณ ปัจจุบัน แนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนับเป็นผลดีต่อ DIF เพราะทำให้ต้นทุนการเงินลดลงเนื่องจาก DIF มีเงินกู้อยู่ที่ประมาณ 20,000 ล้านบาท และทุก ๆ การปรับอัตราดอกเบี้ยลง 0.25%จะช่วยลดภาระทางการเงินของ DIF ได้ราว 70 ล้านบาท ซึ่งปัจจัยบวกส่วนนี้น่าจะเริ่มเห็นชัดขึ้นเมื่อธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ เริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ย


*ดอกเบี้ยขาลงเป็นผลดีต่อDIF

“ส่วนต้นทุนทางการเงินของ DIF ที่ลดลง จะนำไปจ่ายปันผลเพิ่มขึ้น หรือนำไปชำระเงินกู้มากขึ้น ทางฝ่ายบริหารจัดการกองก็ต้องพิจารณาความเหมาะสมอีกครั้ง แต่ทางไหนก็ล้วนเป็นประโยชน์ต่อผู้ลงทุน เพราะหากจ่ายคืนหนี้ได้มากหมดได้ไว ผู้ลงทุนก็จะได้รับเงินปันผลแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย ขณะที่ DIFมีความแข็งแกร่งเพิ่มขึ้น”


ในส่วนของหนี้ที่ต้องจ่ายคืน 5 สถาบันการเงินแต่ละปีนั้น กองทุนมีการกำหนดตัวเลขไว้ชัดเจนอยู่แล้ว ซึ่งจะมีการสำรองเงินไว้จ่ายคืนหนี้ทุกงวด ขณะเดียวกัน เมื่อใกล้ครบกำหนดอายุสัญญา ทางสถาบันการเงิน และกองทุนจะมีการเจรจาในเรื่องของอัตราดอกเบี้ย ซึ่งแนวโน้มที่อัตราดอกเบี้ยเป็นขาลงเช่นปัจจุบันนี้ ก็น่าจะทำให้ภาระดอกเบี้ยของ DIF ลดลงด้วย


DIF ถือเป็นสินทรัพย์ทางเลือกที่ถือว่ามีโอกาสสร้างกระแสเงินสดให้กับผู้ลงทุนได้อย่างสม่ำเสมอ แม้ในยามวิกฤตโควิด-19 DIFก็ไม่ได้รับผลกระทบ ขณะที่รายได้จากค่าเช่าก็มีการปรับขึ้นทุกปี โดยในส่วนของเสาที่เป็นกรรมสิทธิ์กองทุนราว 1 หมื่นต้นมีการปรับอัตราค่าเช่าขึ้น 2.7% ต่อปี ส่วนสาย FOC แม้จะไม่ได้ปรับค่าเช่าขึ้น แต่ก็มีโอกาสสูงมากที่จะต่อสัญญาเช่าเพิ่มไปอีก 10 ปีจากปี 2576 ที่สัญญาเช่าสิ้นสุดลง


และเมื่อมองต่อไปถึงอนาคตธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมที่แม้จะมีผู้เล่นน้อยราย แต่การพัฒนาของเทคโนโลยี การแข่งขันจากผู้ให้บริการที่เน้นทั้งความแรง และความไวของสัญญาณ การเติบโตของตลาดสมาร์ทโฟน ความต้องการใช้อินเทอร์เนตที่มากขึ้น ปัจจัยเหล่านี้จึงยากที่จะมองข้ามการลงทุนใน DIF


อย่างไรก็ดี การลงทุนไม่ว่าจะรูปแบบใด ผู้ลงทุนควรศึกษาทำความเข้าใจ ความเสี่ยง ลักษณะ และเงื่อนไขต่างๆ ของกองทุนก่อน รวมถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่อาจกระทบต่อผลตอบแทนของกองทุน ดังนั้นผลการดำเนินงานในอดีตจึงไม่สามารถการันตีผลงานของอนาคตได้ ซึ่งสำหรับกองทุน DIF แล้ว นักลงทุนที่ต้องการทราบข้อมูลเพิ่ม สามารถติดต่อสอบถามที่ได้ บลจ. ไทยพาณิชย์
จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X