ดร.ฤทธี กิจพิพิธ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สแกน อินเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCN เปิดเผยกับ "ทันหุ้น" ว่า บริษัทได้ปรับแผนการนำ บริษัทย่อยคือ บริษัท สแกน แอดวานซ์ เพาเวอร์ จำกัด หรือ SAP ที่เดิมคาดจะระดมทุนเข้าตลาดหุ้นไทย เปลี่ยนเป็นการขายกิจการออกทั้งหมด คาดหวังตกลงมูลค่าธุรกรรมครั้งนี้ที่ 400ล้านบาท โดยบริษัทมีสัดส่วนถือหุ้นอยู่ 69%
ทั้งนี้ SAP ประกอบธุรกิจการผลิตและการส่งไฟฟ้าโดยติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปใน โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้าต่างๆ สร้างอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) ต่อของโครงการอยู่ที่ 10% ปัจจุบันมีมากกว่า 35โครงการ คิดเป็นกำลังผลิตไฟฟ้ารวมประมาณ 23เมกะวัตต์
*เพิ่มสภาพคล่อง
เหตุผลหลักในการเปลี่ยนแผนมาจากการต้องการเงินสดเข้ามาเพิ่มสภาพคล่อง บรรเทาผลพวงปัญหากรณีองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ที่ผิดนัดชำระหนี้รวมราว 500ล้านบาท อย่างไรก็ดี เนื่องจากมีบริษัทได้ลงนามที่ข้อตกลงที่จะต้องไม่เปิดเผยข้อมูลในฐานะผู้เกี่ยวข้องจึงไม่สามารถให้ข้อมูลในรายละเอียดในการเจรจากับผู้สนใจซื้อได้ ซึ่งรวมถึงระยะเวลาที่การเจรจาจะได้ข้อตกลงอย่างเป็นทางการ
นอกจากนี้บริษัทยังได้ปรับ ธุรกิจก๊าซธรรมชาติไฮโดรเจนสีน้ำเงิน (Blue Hydrogen) ซึ่งแต่เดิมคาดหวังว่าจะเป็นฐานรายได้เสริมแหล่งใหม่ที่จะให้ผลตอบแทนการลงทุนต่อปี (IRR) ถึง 10% นั้น ผลการพิจารณาความเป็นไปได้จนถึงขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลสนับสนุนเชิงบวกเพิ่มเติม บริษัทจึงตัดสินใจยกเลิกแผนการลงทุนไปก่อน และมุ่งเน้นธุรกิจหลักอื่นๆ แทนอีกทั้งในช่วงที่เหลือของปี 2567นี้บริษัทไม่มีแผนการลงทุนใดเพิ่มเติมอีกแล้ว
*รายได้ปีนี้มีโอกาสพลาดเป้า
สำหรับรายได้รวมปี 2567 บริษัทยอมรับว่า มีโอกาสพลาดเป้าหมายการขยายตัว 10-20%จากการไม่มีรายได้ธุรกิจยานยนต์ ขณะที่ธุรกิจอื่นๆ ดำเนินการได้ตามปกติ ด้านราคาน้ำมันที่เป็นทิศทางขาลงแม้จะเป็นผลดีต่อต้นทุนธุรกิจขนส่งบ้าง แต่ก็ไม่ได้มีนัยสำคัญนักเพราะบริษัทจะได้รับผลกระทบเชิงลบเล็กน้อยจากส่วนแบ่งราคาขายซึ่งอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน
ด้านราคาหุ้น SCN ที่ 2 วันทำการมานี้ปรับขึ้นชัดเจนกว่า 25% ก่อนที่ล่าสุด ณ สิ้นวันที่ 21 ตุลาคม 2567 ลงมาปิดที่ 1.04 บาทนั้น ขณะนี้บริษัทยังไม่มีปัจจัยบวกเพิ่มเติมใดๆ แต่เชื่อว่าราคาหุ้นอาจเคลื่อนไหวสอดคล้องกับราคาใช้สิทธิแปลงสภาพ SCN-W3 ซึ่งกำหนดราคาซื้อหุ้นสามัญที่ 1.00 บาทต่อหุ้น อัตรา 1 หน่วยต่อ 1 หุ้น ระยะเวลาแจ้งความจำนงในการใช้สิทธิระหว่างวันที่ 24 ตุลาคม 2567 ถึงวันที่ 30 ตุลาคม 2567 วันใช้สิทธิ 31 ตุลาคม 2567
โดยก่อนหน้านี้ SCN ในฐานะสมาชิกกลุ่ม SCN-CHO (บริษัท สแกน อินเตอร์ จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) ได้ดำเนินการทางกฎหมายโดยยื่นฟ้ององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ต่อศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขดำที่ 1428/2567 โดยมีการเรียกร้องค่าเสียหายรวม 1,301,067,390.97 บาท พร้อมเรียกร้องอัตราดอกเบี้ยตามกฎหมาย
สืบเนื่องจากสัญญาการซื้อขายและซ่อมบำรุงรถโดยสารปรับอากาศที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ (NGV) จำนวน 489 คัน ในปีที่ 6 ถึงปีที่ 10 ที่ทำขึ้นระหว่างกลุ่ม SCN-CHO และ ขสมก. เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2560 แต่การดำเนินโครงการประสบปัญหาเนื่องจาก ขสมก. ชำระเงินล่าช้า ส่งผลให้กลุ่ม SCN-CHO ต้องหาแหล่งเงินทุนเพิ่มเติม ทำให้ต้นทุนการดำเนินงานสูงขึ้น จนกระทบต่อการจัดหาอะไหล่ การซ่อมบำรุง และการบริหารจัดการอื่นๆ ทำให้ไม่สามารถส่งมอบงานได้ตามแผน กลุ่มร่วมทำงานได้แจ้งให้ ขสมก. แก้ไข แต่ ขสมก. กลับเพิกเฉย
ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาพิจารณาประมาณ 5 ปี แต่บริษัทไม่กังวลเนื่องจากจะได้รับผลตอบแทนกลับมา เต็มจำนวน รวมถึงค่าปรับ ขณะที่ภาพรวมรายได้ปีนี้อาจจะต้องรอประเมินใหม่ แต่มั่นใจว่าธุรกิจโดยรวมยังเติบโตได้เป็นอย่างดี
เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา อ่านเพิ่มเติม