> SET > TOP

14 กุมภาพันธ์ 2025 เวลา 18:22 น.

TOP เผยกำไรปี 67 ที่ 9,958.63 ลบ. แจงความคืบหน้าโครงการ CFP

#TOP #ทันหุ้น-บริษัท ไทยออยล์ จำกัด(มหาชน) หรือ TOP แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปี 2567 มีกำไร 9,958.63 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2566ที่มีกำไร 19,443.17 ล้านบาท และมีรายได้จากการขายจำนวน 455,857 ล้านบาท ลดลง 3,545 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2566 ซึ่งอยู่ที่ 459,402 ล้านบาท 


ส่วนไตรมาส 4/67 มีกำไรสุทธิ 2,767 ล้านบาท ดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3/67 ที่ขาดทุน 4,218 ล้านบาท แต่ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4/66 ซึ่งมีกำไรอยู่ที่ 2,944 ล้านบาท 


ในไตรมาส 4/67 กลุ่มไทยออยล์มีปริมาณวัตถุดิบที่ป้อนเข้าสู่กระบวนการผลิตของกลุ่มเพิ่มขึ้น โดยมีรายได้จากการขาย 111,962 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/67 เพิ่มขึ้น 1,944 ล้านบาท จากปริมาณขายที่เพิ่มสูงขึ้น 


**โครงการ CFP 


โครงการพลังงานสะอาด หรือ CFP มีวัตถุประสงค์สําคัญเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของบริษัทฯ ด้วยการปรับปรุงประสิทธิภาพกระบวนการผลิต เพื่อเพิ่มคุณค่าผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและขยายกําลังการกลั่นนํ้ามันเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นทําให้สามารถกลั่นนํ้ามันดิบได้มากและหลากหลายชนิดขึ้นก่อให้เกิดการประหยัดด้านขนาด (Economies of Scale) และลดต้นทุนวัตถุดิบ นอกจากนี้ ยังช่วยเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและสนับสนุน

การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวอีกด้วย 


บริษัทฯ ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2561 ให้เข้าลงทุนในโครงการ CFP โดยมีมูลค่าการลงทุนประมาณ 4,825 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 160,279 ล้านบาท และดอกเบี้ยระหว่างการก่อสร้างประมาณ 151 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 5,016 ล้านบาท โดยบริษัทฯ ได้เข้าทําสัญญาสําหรับการออกแบบวิศวกรรม การจัดหา และการก่อสร้าง (Engineering, Procurement and Construction) (“สัญญา EPC”) กับผู้รับเหมาซึ่งเป็นกิจการร่วมค้าระหว่าง PSS Netherlands B.V. สําหรับงานออกแบบวิศวกรรมและการจัดหาวัสดุอุปกรณ์และเครื่องจักรในต่างประเทศ และ unincorporated joint venture of Samsung E&A (Thailand) Co., Ltd., Petrofac South East Asia Pte. Ltd. and Saipem Singapore Pte. Ltd. สําหรับงานก่อสร้างและการจัดหาวัสดุอุปกรณ์และเครื่องจักรในประเทศไทย (เรียกรวมกันว่า “ผู้รับเหมาหลัก”) 


แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อโครงการ CFP ตั้งแต่ช่วงเริ่มงานในขั้นตอนการออกแบบวิศวกรรม การจัดหาวัสดุอุปกรณ์และเครื่องจักร รวมถึงการก่อสร้างในพื้นที่ที่ต้องดําเนินการภายใต้มาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทําให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนแผนการดําเนินงานเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์และการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อผลักดันให้โครงการ CFP เดินหน้าได้อย่างต่อเนื่องในช่วงดังกล่าว จึงส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายในการดําเนินงานโครงการเพิ่มขึ้น และทําให้ระยะเวลาการก่อสร้างโครงการ CFP ต้องถูกขยายออกไปจากเดิมที่คาดการณ์ไว้ ด้วยเหตุดังกล่าวที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ครั้งที่ 9/2564 จึงได้พิจารณาอนุมัติการขยายกรอบวงเงินประมาณการดอกเบี้ยระหว่างก่อสร้างของโครงการ CFP จาก 151 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 5,016 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นอีก 422 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 14,278 ล้านบาท


 และในการประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ครั้งที่ 4/2565 ได้พิจารณาอนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมในการดําเนินโครงการ CFP และอนุมัติให้บริษัทฯ ลงนามในสัญญาแก้ไขสัญญา EPC กับผู้รับเหมาหลัก โดยเพิ่มงบประมาณของโครงการอีกประมาณ 550 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 18,165 ล้านบาท และขยายระยะเวลาการดําเนินโครงการไปอีก 24 เดือน ตามเงื่อนไขที่ระบุในสัญญา EPC เพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัทฯ และเพื่อให้สามารถดําเนินโครงการ CFP ต่อไปให้แล้วเสร็จ


ปัจจุบันหน่วยกําจัดกํามะถันในนํ้ามันดีเซลที่ 4 (Hydrodesulfurization Unit: HDS-4) ได้ประสบความสําเร็จในการทดลองเดินเครื่องจักรและผลิตนํ้ามันดีเซลมาตรฐานยูโร 5 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ทันต่อการตอบสนองต่อนโยบายการใช้นํ้ามันมาตรฐานยูโร 5 ที่ภาครัฐมีการประกาศบังคับใช้ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2567 เป็นต้นมา 


อย่างไรก็ดี จากเหตุการณ์ที่ผู้รับเหมาหลักไม่ชําระเงินค่าจ้างค้างจ่ายให้กับผู้รับเหมาช่วงที่ผู้รับเหมาหลักจ้างให้

ทํางานในการก่อสร้างโครงการ CFP จนทําให้ผู้รับเหมาช่วงหยุดงานหรือลดจํานวนคนงานลง จากเหตุการณ์ดังกล่าว บริษัทฯ จึงต้องพิจารณาทางเลือกในการดําเนินโครงการให้แล้วเสร็จ ซึ่งมีการเตรียมความพร้อมโดยให้ที่ปรึกษาด้านเทคนิค (Technical Advisor) มาตรวจสอบและวิเคราะห์การก่อสร้างที่เหลืออยู่ของโครงการ จากรายงานการตรวจสอบและวิเคราะห์ของที่ปรึกษาด้านเทคนิค เห็นว่าการที่จะก่อสร้างโครงการ CFP ให้แล้วเสร็จจะต้องใช้เงินลงทุนเพิ่มเติมอีกประมาณ 63,028 ล้านบาท หรือเทียบเท่าประมาณ 1,776 ล้านดอลลาร์สหรัฐ


ดังนั้นคณะกรรมการบริษัทฯ จึงได้มีมติอนุมัติให้เรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2568 ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2568 เพื่อเสนอให้ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นพิจารณาอนุมัติการเพิ่มเงินลงทุนในโครงการ CFP เป็นจํานวนเงินประมาณ 63,028 ล้านบาท หรือเทียบเท่าประมาณ 1,776 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  และดอกเบี้ยระหว่างการก่อสร้างประมาณ 17,922 ล้านบาท หรือเทียบเท่าประมาณ 505 ล้านดอลลาร์สหรัฐส่งผลให้มีมูลค่าเงินลงทุนทั้งหมดของโครงการ CFP เป็นจํานวนเงินประมาณ 241,472 ล้านบาท หรือเทียบเท่าประมาณ 7,151 ล้านดอลลาร์สหรัฐและดอกเบี้ยระหว่างการก่อสร้างประมาณ 37,216 ล้านบาท หรือเทียบเท่าประมาณ 1,078 ล้านดอลลาร์สหรัฐ


หากการดําเนินโครงการ CFP ให้แล้วเสร็จจะทําให้บริษัทฯ มีหน่วยกลั่นนํ้ามันดิบใหม่ที่มีขนาดกําลังการกลั่นสูงทดแทนหน่วยกลั่นเดิม ส่งผลให้กําลังการกลั่นนํ้ามันดิบของบริษัทฯ เพิ่มขึ้นจากเดิม 275,000 บาร์เรลต่อวันเป็น 400,000 บาร์เรลต่อวัน ก่อให้เกิดการประหยัดด้านขนาด(Economies of Scale) อีกทั้งด้วยการออกแบบให้ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยทําให้สามารถกลั่นนํ้ามันดิบที่มีความหลากหลาย รวมทั้งนํ้ามันดิบชนิดหนักที่โดยทั่วไปมีราคาตํ่ากว่าราคานํ้ามันดิบชนิดอื่น ทําให้สามารถผลิตนํ้ามันสําเร็จรูปที่มีมูลค่าสูงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งเพิ่มโอกาสในการใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์ที่ได้ในการเติบโตในธุรกิจปิโตรเคมีในอนาคต เพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับบริษัทฯ

ช่องทางเฟสบุ๊ก ติดตามข่าวได้ที่เพจ ทันหุ้นออนไลน์

https://www.facebook.com/thunhoonnews

จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

ข่าวล่าสุด

อ่านต่อ

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X