#SABINA #ทันหุ้น-SABINA เดินหน้าลดต้นทุนรับมือเศรษฐกิจชะลอตัว ควบรวมโรงงานบุรีรัมย์เข้ากับโรงงานยโสธร ยอมรับรู้ผลขาดทุนครั้งเดียวจากค่าใช้จ่ายปรับโครงสร้างพนักงานหลังการควบรวม มองส่งผลดีระยะยาว เหตุลดต้นทุนผลิตได้เดือนละ 2 ล้านบาท ขณะที่ต้นทุนค่าแรง 400 บาทไม่ได้มาตามนัด ช่วยลดผลกระทบด้านต้นทุนแรงงานจากที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 14% เหลือเพิ่มขึ้นแค่ 2% มั่นใจปี 68 โครงสร้างทางการเงินแข็งแกร่ง รับแรงกระทบจากปัจจัยท้าทายรอบด้าน พร้อมเดินหน้ารุกตลาดต่างประเทศ ตั้งเป้าเปิดช็อปในฟิลิปปินส์แตะ 70 แห่งภายในปีนี้ พร้อมวางแผนเพิ่มช็อปในไทยอีก 7 แห่ง ดันยอดช็อปและเคาน์เตอร์ช่องทางค้าปลีกปี 68 แตะ 523 สโตร์
นายบุญชัย ปัณฑุรอัมพร ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ซาบีน่า จำกัด (มหาชน) หรือ SABINA ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ “ซาบีน่า” เปิดเผยว่า SABINA เดินหน้าปรับตัวเพื่อรับมือกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ทั้งเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกที่เผชิญกับความไม่แน่นอนจากสงครามการค้า ทำให้บริษัทฯ ตัดสินใจดำเนินการควบรวมโรงงานบุรีรัมย์เข้ากับโรงงานยโสธร ซึ่งเป็นผลให้บริษัทฯ ต้องรับรู้ค่าใช้จ่ายจากการควบรวมโรงงาน โดยเฉพาะการจ่ายค่าชดเชยตามสวัสดิการให้กับพนักงานบางส่วนที่ไม่ได้ย้ายไปโรงงานยโสธรด้วย ปัจจัยดังกล่าวเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ผลประกอบการในไตรมาสที่ 4 ปี 2567 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 113.5 ล้านบาท ลดลง 0.1% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ปี 2566 โดยอัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) ปี 2567 อยู่ที่ 12.9% ลดลงจากปี 2566 ซึ่งอยู่ที่ 13.4%
“การรับรู้ค่าใช้จ่ายดังกล่าวเกิดขึ้นในไตรมาสที่ 4 ของปีที่แล้ว ซึ่งเรายอมรับรู้ผลขาดทุนที่เกิดขึ้นครั้งเดียว (One Time Loss) แต่เป็นการตัดสินใจที่จะส่งผลดีกับบริษัทฯ ในระยะยาว โดยเฉพาะการบริหารต้นทุน เนื่องจากโรงงานบุรีรัมย์ เป็นโรงงานเช่าที่มีภาระค่าเช่า ขณะที่โรงงานยโสธร เราเป็นเจ้าของและเป็นโรงงานที่มีพื้นที่มากพอที่จะขยายไลน์ผลิตในอนาคตได้ในกรณีที่จำเป็น ต้นทุนที่ลดลงทั้งค่าเช่า รวมถึงต้นทุนพนักงาน ทำให้เราประหยัดค่าใช้จ่ายได้เดือนละ 2 ล้านบาท ซึ่งผลจากต้นทุนที่ลดลงจะสะท้อนให้เห็นชัดเจนในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว” ประธานคณะกรรมการบริหาร SABINA กล่าว
นอกจากนี้ SABINA ยังได้รับปัจจัยบวกจากการขึ้นค่าแรง ซึ่งไม่ได้ขึ้นในอัตรา 400 บาทเท่ากันทั้งประเทศ ทำให้ต้นทุนที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 14% เพิ่มขึ้นเพียง 2% เท่านั้น เมื่อรวมกับกลยุทธ์การบริหารพนักงาน ที่บริษัทฯ ไม่ได้รับพนักงานใหม่ทดแทนพนักงานเก่าที่ลาออกไป แต่เน้นเพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มทักษะและขีดความสามารถในการทำงานของพนักงาน ก็จะเป็นอีกปัจจัยที่สนับสนุนให้โครงสร้างทางการเงินของบริษัทฯ ในปีนี้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น หลังจากที่ในปี 2567 ที่ผ่านมา บริษัทฯ มีกำไรต่อหุ้น (EPS) เพิ่มขึ้นจาก 1.33 บาทต่อหุ้น เป็น 1.34 บาทต่อหุ้น ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดใหม่
**รุกตลาดต่างประเทศ
ด้านนางสาวดวงดาว มหะนาวานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SABINA กล่าวถึงความคืบหน้าในการขยายธุรกิจในต่างประเทศว่า หลังจาก SABINA ได้เข้าลงทุนในประเทศฟิลิปปินส์ด้วยการถือหุ้นใน Moda ฟิลิปปินส์ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2566 ซึ่งมีแนวโน้มที่ดีมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม ในปี 2567 ที่ผ่านมา ยอดขายในฟิลิปปินส์ได้รับผลกระทบจากการปรับโครงสร้างของห้างสรรพสินค้าภายในประเทศ ทำให้ยอดขายในสโตร์ขนาดใหญ่ของ SABINA ลดลง โดยบริษัทฯ ได้วางแผนรับมือและรุกปรับรูปแบบการขายด้วยการทำตลาดออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้สัดส่วนช่องทางขายออนไลน์ในฟิลิปปินส์เพิ่มขึ้นจาก 8% ในปี 2566 เป็น 13% ในปี 2567 และคาดว่า จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปีนี้ ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ยังวางแผนเพิ่มหน้าร้านในช่องทางออฟไลน์เพิ่มขึ้นจากปี 2567 ซึ่งมีจำนวน 49 สโตร์ และปัจจุบันอยู่ที่ 51 สโตร์ โดยเป้าหมายจะเพิ่มเป็นไม่น้อยกว่า 70 สโตร์ในปีนี้
“ตลาดในฟิลิปปินส์ยังมีพื้นที่ที่เราเติบโต ด้วยจำนวนประชากร ด้วยโครงสร้างประชากรที่อยู่ในวัยที่จะเป็นลูกค้าเราในอนาคต แต่เราวางแผนการเติบโตอย่างระมัดระวัง ไม่รีบขยาย เพราะด้วยภูมิศาสตร์ของฟิลิปปินส์ไม่เหมือนกับประเทศไทย การบริหารจัดการอาจจะยากกว่า แต่ก็มีความท้าทายด้านการเติบโตมาก ซึ่งหากว่าทุกอย่างเป็นไปตามแผน ไม่มีปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้เข้ามากระทบ ก็มั่นใจว่า ปี 2568 จะเป็นปีที่เรารับรู้การเติบโตจากยอดขายในฟิลิปปินส์ได้อย่างน่าพอใจ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SABINA กล่าว
สำหรับการทำตลาดในประเทศไทย ซึ่งช่องทางขายหลักยังเป็นช่องทางค้าปลีก (Retail) ซึ่งมีสัดส่วน 61% ของช่องทางขายรวม และสามารถสร้างยอดขายในปี 2567 ที่ได้ 2,187 ล้านบาทนั้น ในปี 2568 บริษัทฯ วางแผนที่จะเปิดช็อปเพิ่มอย่างน้อย 7 แห่ง จาก 89 แห่งเป็น 96 แห่ง ซึ่งจะทำให้ยอดร้านค้าในช่องทางค้าปลีกเพิ่มขึ้นจาก 516 สโตร์เป็น 523 สโตร์ โดยการขยายหน้าร้านจะพิจารณาจากพื้นที่ที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง ส่วนช่องทางไม่มีหน้าร้าน (NSR : Non-Store Retailing) ซึ่งมีสัดส่วน 33% ของช่องทางขายรวม ในปีที่ผ่านมาสามารถสร้างการเติบโตได้ 17.8% ด้วยยอดขาย 1,184 ล้านบาท และคาดว่ายังคงเติบโตได้ต่อเนื่องในปีนี้
ขณะที่ช่องทางรับจ้างผลิต (OEM) ซึ่งมีสัดส่วนอยู่ที่ 6% นั้น แม้ว่าภาพรวมในปี 2567 รายได้จากช่องทางนี้จะลดง 21.6% แต่ในไตรมาสที่ 4 ของปีที่แล้ว ช่องทาง OEM สามารถพลิกกลับมาเติบโตได้ 67% ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดี โดยในปีนี้ SABINA ตั้งเป้าการเติบโตของช่องทาง OEM ไว้ที่ 10% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว สอดรับกับเป้าหมายที่จะสร้างการเติบโตในทุกช่องทางขายในปีนี้
ช่องทางเฟสบุ๊ก ติดตามข่าวได้ที่เพจ ทันหุ้นออนไลน์
เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา อ่านเพิ่มเติม