> SET > PTT

13 มีนาคม 2025 เวลา 10:33 น.

PTTลั่นกองทุนชื่นชม ปั้นแกร่งรอเงินหวน

#PTT #ทันหุ้น - PTT แย้ม กองทุนระยะยาวชื่นชมปรับทิศลงทุนในทางที่ถนัด จัดการธุรกิจไม่ทำกำไรไว ไม่ตระหนกหุ้นร่วง  มั่นธุรกิจแกร่ง กระแสเงินสดดำเนินงานบวกปันผลสูง แนะดูสถิติปันผลส่วนใหญ่ขึ้นแล้วไม่ลง ฉายภาพลงทุนสั้น-กลาง-ยาว เน้นเพิ่มประสิทธิภาพผลตอบแทนไว ดันอีบิทดาพุ่ง 3 หมื่นล้านบาท ใน 3 ปี เล็งเทรดเดอร์ LNG ประเดิมลงทุนไฮโดรเจนต่างประเทศปูทางโตยาว เชื่อในที่สุดเงินหวนกลับบริษัทแกร่ง


ดร.คงกระพัน  อินทรแจ้ง  ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เปิดเผยกับ “ทันหุ้น” ว่า ได้มีการพูดคุยกับกองทุนที่เป็นกองทุนระยะยาว โดยยอมรับว่ากองทุนได้มีการชื่นชมที่ PTT ได้ปรับการลงทุนมาสู่ทิศทางที่ถนัด ทั้งในส่วนการยกเลิกการลงทุนในโลจิสติกส์ที่มีการแข่งขันสูง รวมถึงการลดสัดส่วนการถือหุ้นในโรงงานประกอบยานยนต์ไฟฟ้า และให้พันธมิตรขึ้นมาถือหุ้นใหญ่ โดยยังยืนยันว่า ปตท. จะต้องกลับมาให้ความสำคัญกับการลงทุนธุรกิจที่เกี่ยวข้อง และจะต้องได้ผลตอบแทนที่ไว


ดังนั้นจึงไม่กังวลราคาหุ้น PTT ที่ลดลงมาในช่วงนี้ ซึ่งเป็นเรื่องของเซนทิเมนต์ และอาจจะมีความกังวลเกี่ยวกับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ลดลงต่ำกว่า 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นผลกระทบระยะสั้น


@ชูสถิติปันผล

และหากพิจารณาปัจจัยพื้นฐานของ ปตท. ยังคงแข็งแกร่ง โดยมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน (Operating Cash Flow) ที่ดี และมีความสามารถในการจ่ายเงินปันผลอย่างต่อเนื่อง อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend Yield) ค่อนข้างสูง ซึ่งปี 2567 ที่ผ่านมา PTT จ่ายเงินปันผล 2.10 บาท หากคิดเป็นผลตอบแทนจากเงินปันผลจะอยู่ที่ระดับ 7-8%


ส่วนความสามารถในการจ่ายปันผลที่สูงในระดับ 2.10 บาท ได้ต่อเนื่องหรือไม่นั้น ดร.คงกระพัน ตอบว่า จากสถิติที่ผ่านมา PTT จะมีการจ่ายเงินปันผลที่เพิ่มขึ้น และมักจะไม่ลดลง ยกเว้นในช่วงโควิดเท่านั้น


ดร.คงกระพัน กล่าวด้วยว่า PTT ได้มีการปรับตัวท่ามกลางสภาวะโลกที่ผันผวน ทั้งในด้านพลังงาน ภูมิรัฐศาสตร์ และสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเน้นถึงสิ่งที่ถนัด การลงทุนเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงาน ลดต้นทุน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน มีการวางแผนการลงทุนทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เป้าหมายเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม


@มุ่งผลตอบแทนลงทุนทันที

สำหรับการลงทุนระยะสั้นจะเน้นการลงทุนในโครงการที่ใช้เงินลงทุนน้อย แต่ให้ผลตอบแทนที่รวดเร็วและความเสี่ยงต่ำ โครงการเหล่านี้เช่นโครงการมุ่งเน้นการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานภายในองค์กร และการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มกำไร อาทิ โครงการ Operation Excellence มีเป้าหมายที่จะเพิ่มกำไรก่อนหักค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยค่าเสื่อม (EBITDA) จำนวน 3 หมื่นล้านบาท ภายใน 3 ปีข้างหน้า โดยเป็นในส่วนของ PTT จำนวน 1 หมื่นล้านบาท และบริษัทในกลุ่ม 2 หมื่นล้านบาท


การสร้าง Synergy ในกลุ่ม เพิ่มประสิทธิภาพและความร่วมมือระหว่างบริษัทในเครือ ปตท. เพื่อเพิ่มกำไรประมาณปีละ 3,000 ล้านบาท และการดำเนินการด้าน Digital Transformation การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการดำเนินงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันเพิ่มกำไรปีละ 2,000 ล้านบาท


@สร้างฮับ LNG

ในระยะกลาง ปตท. จะมุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มจากธุรกิจก๊าซธรรมชาติ LNG และการปรับโครงสร้างธุรกิจปิโตรเคมี เนื่องจาก PTT มีการนำเข้า LNG ในปริมาณมากอยู่แล้ว จึงมีแผนที่จะพัฒนาธุรกิจด้านเทรดเดอร์ LNG ทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการซื้อขาย LNG (LNG Hub) ในภูมิภาค โดยจะมีการสร้างคลังและโครงสร้างพื้นฐานรองรับ ซึ่งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มจากการซื้อขาย LNG ในตลาดโลก


นอกจากนี้ ปตท. ยังคงเดินหน้าจะปรับโครงสร้างธุรกิจปิโตรเคมีและโรงกลั่น โดยการหาพันธมิตรที่แข็งแกร่งมาร่วมลงทุน PTT จะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และมีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการ แต่การมีพันธมิตรจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกที่มีการแข่งขันสูง อาทิเช่นการหาแหล่งซัพพลายร่วมกัน การประหยัดต่อขนาด


ดร.คงกระพัน กล่าวว่า การหาพันธมิตรในกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและโรงกลั่น จะช่วยทำให้ซัพพลายในอนาคตลดลง เพราะจากที่จะต้องใช้เงินลงทุนที่สูงสร้างใหม่ ก็ไม่ต้องสร้างแลัมาร่วมกัน ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนให้ที่ปรึกษาทางการเงินดำเนินการนำเสนอหาพันธมิตรเข้ามาอยู่


@ ดีลลงทุนไฮโดรเจน และ CCS

สำหรับในระยะยาว ปตท. ให้ความสำคัญกับการลงทุนในเทคโนโลยีไฮโดรเจนและการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage : CCS) เนื่องจาก ปตท. ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับก๊าซและไฮโดรคาร์บอน การลดการปล่อยคาร์บอนจึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในโลกที่ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านพลังงาน การลดการปล่อยคาร์บอนในปริมาณมาก (Decarbonization) จะช่วยให้ ปตท. สามารถแข่งขันได้ในระยะยาว


โดย ปตท. มองว่า ไฮโดรเจนจะเป็นเชื้อเพลิงสำคัญในอนาคต โดยจะนำมาใช้ทดแทนเชื้อเพลิง เช่น ก๊าซธรรมชาติ ซึ่ง PTT ให้ความสำคัญกับไฮโดรเจนในระดับอุตสาหกรรม ไม่ใช่ในรถยนต์ มีการวางแผนที่จะลงทุนในต่างประเทศที่มีต้นทุนการผลิตไฮโดรเจนต่ำ เช่น ตะวันออกกลางและอินเดีย จากนั้นจะนำเข้าไฮโดรเจนมายังประเทศไทยในรูปแบบแอมโมเนีย เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงพลังงานที่ต้องการให้มีการผสมไฮโดรเจนในเชื้อเพลิง 5% ในปี 2573


ในด้านผลตอบแทน ดร.คงกระพัน ยืนยันว่า ในการลงทุนไฮโดรเจนต่างประเทศจะสามารถสร้างกำไรได้ ส่วนโครงการ CCS ยอมรับว่า ประเทศที่ให้ผลตอบแทนได้คุ้มค่าคือสหรัฐที่ให้ผลตอนแทนราว 80 ดอลลาร์ต่อตันคาร์บอน แต่ส่วนในไทยก็จะให้ ปตท.สผ. เดินหน้าในโครงการนำร่อง ในแหล่งอาทิตย์ 1 ล้านตัน แต่เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับข้อกฎหมายที่จะต้องสอดคล้องไปด้วย อาทิ ในด้านสัมปทานการกักเก็บคาร์บอน ภาษีคาร์บอน ต่างๆ เป็นต้น


@ แข็งแกร่งรอเงินเข้า

ด้าน นางสาวภัทรลดา  สง่าแสง  ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เปิดเผยกับ “ทันหุ้น” ว่า การที่ราคาหุ้น PTT ลดลง อาจเป็นเพราะกระแสเม็ดเงินไหลเข้าสู่พันธบัตร ดังนั้นหน้าที่ของ PTT คือการสร้างความแข็งแกร่ง เพื่อเตรียมพร้อม เนื่องจากเชื่อว่าในที่สุด เมื่อเม็ดเงินหวนกลับมาก็จะต้องเข้าบริษัทที่แข็งแกร่งเป็นอันดับแรกๆ ซึ่ง PTT จะเป็นหนึ่งในนั้น

ช่องทางเฟสบุ๊ก ติดตามข่าวได้ที่เพจ ทันหุ้นออนไลน์

https://www.facebook.com/thunhoonnews

จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

ข่าวล่าสุด

อ่านต่อ

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X