#BH #ทันหุ้น - ตลาดหุ้นไทยเมื่อวานปรับตัวลดลงไปทดสอบแนวรับสำคัญที่ 1200 หลังจากปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไปทดสอบแนวต้านที่ 1230 ก่อนที่จะปรับตัวลดลงหลุดแนวรับของโครงสร้างขาขึ้นในระยะสั้นลงไป ทำให้แนวโน้มในระยะสั้นยังมีโอกาสปรับตัวลดลงต่อเนื่องไปทดสอบแนวรับที่ 1175 และ 1160 เป็นแนวรับสำคัญ
สำหรับหุ้นที่น่าสนใจวันนี้ คือ BH หรือ บริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน) ดำเนินธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน ภายใต้ชื่อ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์อินเตอร์เนชั่นแนล ในกรุงเทพมหานคร โดยมีการให้บริการทางการแพทย์ครบวงจรทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน รวมทั้งศูนย์บริการผู้ป่วยต่างชาติ และลงทุนในธุรกิจการแพทย์และธุรกิจที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ
BH รายงานผลการดำเนินงาน ไตรมาสที่ 1 ปี 68 มีกำไรสุทธิ 1,733 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 2.18 บาท ลดลงเมื่อเทียบงวดเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1,984 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 2.50 บาท
BH มีรายได้รวมของไตรมาส 1 ปี 2568 อยู่ที่ 6,208 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 5.6 จาก 6,576 ล้านบาท ในไตรมาส 1 ปี 2567 กำไรสุทธิไตรมาส 1 ปี 2568 มีจำนวน 1,734 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 12.6 จาก 1,985 ล้านบาท ในไตรมาส 1 ปี 2567 ส่งผลให้อัตรากำไรสุทธิเป็นร้อยละ 27.9 ในไตรมาส 1 ปี 2568 เทียบกับร้อยละ 30.2 ในไตรมาส 1 ปี 2567
บริษัทมีรายได้จากกิจการโรงพยาบาลอยู่ที่ 6,120 ล้านบาท ในไตรมาส 1 ปี 2568 ลดลงร้อยละ 6.1 จาก 6,516 ล้านบาท ในไตรมาส 1 ปี 2567 โดยหลักเป็นผลจากการลดลงของรายได้จากกลุ่มผู้ป่วยต่างชาติร้อยละ 9.7 ซึ่งมีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับผลกระทบจากช่วงเดือนรอมฎอนที่มีจำนวนวันมากกว่าในไตรมาส 1 ปี 2568 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2567
การลดลงจากกลุ่มผู้ป่วยต่างชาติถูกหักลบกับการเพิ่มขึ้นของรายได้จากผู้ป่วยชาวไทยร้อยละ 1.2 เป็นผลให้รายได้จากกลุ่มผู้ป่วยชาวไทยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 36.1 จากทั้งหมด ในขณะที่รายได้จากกลุ่มผู้ป่วยต่างประเทศคิดเป็นร้อยละ 63.9 ในไตรมาส 1 ปี 2568 เทียบกับร้อยละ 33.5 และ 66.5 ตามลำดับในไตรมาส 1 ปี 2567
บริษัทมีต้นทุนกิจการโรงพยาบาล (รวมค่าเสื่อมราคาและตัดจำหน่าย) จำนวน 3,040 ล้านบาท ในไตรมาส 1 ปี 2568 ลดลงร้อยละ 3.4 จาก 3,146 ล้านบาท ในไตรมาส 1 ปี 2567 โดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากค่าธรรมเนียมแพทย์ที่ลดลง 77 ล้านบาท และต้นทุนสินค้าที่ลดลง 20 ล้านบาท เป็นผลให้สัดส่วนของต้นทุนกิจการโรงพยาบาลต่อรายได้จากกิจการโรงพยาบาลเป็นร้อยละ 49.7 ในไตรมาส 1 ปี 2568 เทียบกับอัตราร้อยละ 48.3 ในไตรมาส 1 ปี 2567
ค่าใช้จ่ายในการขาย (รวมค่าเสื่อมราคาและตัดจำหน่าย) มีจำนวน 164 ล้านบาท ในไตรมาส 1 ปี 2568 ลดลงร้อยละ 5.7 จาก 174 ล้านบาท ในไตรมาส 1 ปี 2567 โดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายการตลาดที่ลดลง 17 ล้านบาท
ค่าใช้จ่ายในการบริหาร (รวมค่าเสื่อมราคาและตัดจำหน่าย) มีจำนวน 920 ล้านบาท ในไตรมาส 1 ปี 2568 เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.7 จาก 846 ล้านบาท ในไตรมาส 1 ปี 2567 โดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายพนักงานที่เพิ่มขึ้น
กำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ลดลงร้อยละ 12.6 เป็น 2,338 ล้านบาท ในไตรมาส 1 ปี 2568 จาก 2,676 ล้านบาทในไตรมาส 1 ปี 2567
ส่งผลให้อัตรากำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA Margin) เป็นร้อยละ 37.7 ในไตรมาส 1 ปี 2568 เทียบกับร้อยละ 40.7 ในไตรมาส 1 ปี 2567
ณ วันที่ 31 มีนาคม 2568 บริษัทมีสินทรัพย์หมุนเวียน 18,261 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 16,732 ล้านบาท ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567 โดยหลักเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด และสินทรัพย์หมุนเวียนทางการเงินอื่น ๆ จำนวน 1,877 ล้านบาท หักกลบกับการลดลงของลูกหนี้การค้าและลูกหนี้อื่นจำนวน 231 ล้านบาท จำนวนวันเก็บหนี้เฉลี่ยเป็น 57.3 วัน ณ วันที่ 31 มีนาคม 2568 เทียบกับ 59.8 วัน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567 เป็นผลมาจากรายได้และระยะเวลาในการเก็บหนี้ของกลุ่มลูกค้าตะวันออกกลาง จำนวนวันเก็บหนี้เฉลี่ยยังคงอยู่ภายใต้นโยบายเงื่อนไขการรับชำระหนี้โดยรวมของบริษัทฯ ซึ่งคือในช่วง 30–90 วัน
ราคาหุ้นปรับตัวลดลงไปทดสอบแนวรับของกรอบแนวโน้มขาลงที่ 160 หลังจากปรับตัวลดลงเกิดสัญญาณขายทางเทคนิคหลุดแนวรับที่ 240 ลงไป ราคาดว่า แนวโน้มในระยะสั้นราคาหุ้นมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นไปทดสอบแนวต้านที่ 180 ตามกรอบแนวโน้มขาลง แต่ถ้าราคาหุ้นปรับตัวลดลงต่อเนื่องต่ำกว่า 158 ลงไป จะมีแนวรับถัดไปที่ 148-150
เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา อ่านเพิ่มเติม