> ประกัน >

12 มกราคม 2022 เวลา 15:54 น.

คปภ.เอาผิดเคสทุจริต ติดโควิดหวังเงินประกัน

ทันหุ้น- คปภ. สั่งทีมกฎหมายตรวจสอบกรณีโพสต์ออนไลน์จ้างเด็กเอ็นติดเชื้อหวังเคลมประกันโควิด หากพบผิดจริงให้ดำเนินการทางกฎหมายเด็ดขาด เตือนอย่าเสี่ยงทำเพราะเข้าข่ายไม่สุจริต หรือเป็นการฉ้อฉลและบริษัทสามารถปฏิเสธเคลมได้ตามกฎหมาย


ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า

สำนักงาน คปภ. อยู่ระหว่างส่งทีมสายกฎหมายและคดีเข้าตรวจสอบข้อเท็จจริงในกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ในสื่อสังคมออนไลน์ประกาศจ้างเด็กเอ็น ระบุต้องเป็นเด็กเอ็นที่ต้องติดเชื้อโควิดเท่านั้นมีผลตรวจ ATK ยืนยันผล โดยผู้จ้างหวังติดเชื้อโควิดเพื่อเรียกร้องเอาเงินประกันภัยจากบริษัทประกันภัย


ทั้งนี้มีการพบตัวผู้โพสต์ข้อความดังกล่าวแล้ว ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าผู้โพสต์ดังกล่าวได้มีการเอาประกันภัยโควิด กับบริษัทแห่งหนึ่งด้วย โดย คปภ. จะเร่งตรวจสอบและหากพบการกระทำความผิดจะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป นอกจากผู้โพสต์ข้อความดังกล่าวจะกระทำความผิดต่อกฎหมายแล้ว ยังเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบัน อาจสุ่มเสี่ยงเป็นอันตรายถึงชีวิต และเป็นเหตุให้ไม่ได้รับเงินตามกรมธรรม์ประกันภัย หากเข้ากรณีการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต


ทั้งหากเข้าลักษณะทุจริตก็อาจถูกดำเนินคดีกรณีเข้าข่ายเป็นการฉ้อฉลประกันภัยอีกด้วย ซึ่งการนำเข้าข้อมูลผ่านสื่อสารสนเทศ สามารถตรวจสอบหมายเลข IP Address ของผู้โพสต์ได้ และเมื่อทราบตัวผู้กระทำความผิด ก็จะสามารถทราบได้ว่าผู้กระทำจงใจกระทำความผิดเอง หรือเข้ามาพิมพ์ด้วยความคึกคะนอง หรือมีผู้ใช้ให้เข้ามาปล่อยข่าวให้เกิดผลกระทบต่อธุรกิจประกันภัย


ดร. สุทธิพล กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับธุรกิจประกันวินาศภัยมีกลไกการป้องกันที่กำหนดให้บริษัทประกันวินาศภัยสามารถกระทำได้ คือ ตามประกาศคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการชดใช้เงิน หรือค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยของบริษัทประกันวินาศภัย พ.ศ. 2559โดยให้บริษัทมีระบบตรวจทานความถูกต้องของการรับประกันภัยและข้อมูลเกี่ยวกับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนฯ ที่ชัดเจนและสามารถตรวจสอบได้


ส่วนในเงื่อนไขกรมธรรมประกันภัย เจอ จ่าย จบ จะมีกำหนดเงื่อนไขทั่วไป “กรณีมีเหตุสงสัยว่าการเรียกร้องเป็นไปตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยหรือไม่ ให้บริษัทมีสิทธิตรวจสอบและขยายระยะเวลาการจ่ายออกไปตามความจำเป็นไม่เกิน 90 วัน” ซึ่งอาจจะกระทบต่อการจ่ายเคลมเพราะบริษัทมีสิทธิอ้างเป็นเหตุใช้เวลาในการตรวจสอบ


ทั้งนี้สมาคมประกันวินาศภัยไทย มีการประเมินตัวเลขสินไหมโควิดเมื่อปี 2564 คาดว่าจะต้องจ่ายราว 40,000 ล้านบาท คิดเป็นอัตราค่าสินไหมทดแทน (Loss ratio) อยู่ที่ 600-700% ด้วยยอดติดเชื้อสูงสุด 20,000 รายต่อวัน โดยยังไม่ได้รวมความเสี่ยงใหม่ที่มาจากสายพันธุ์โอไมครอน อย่างไรก็ตามจากการติดตามตัวเลขผู้ติดเชื่อต่อวันในสหรัฐอเมริกา และยุโรป ที่ กว่า100,000 คนต่อวัน มีโอกาสสูงที่ยอดสินไหมจะมากกว่าที่สมาคมประเมินไว้ หรือทะลุ 40,000 ล้านบาทได้

จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X