> เคล็ดลับลงทุน >

27 กรกฎาคม 2022 เวลา 20:16 น.

Global Recession วิกฤตเศรษฐกิจรอไปก่อน เอเชีย คือ ทางออก

ในตอนนี้สถาการณ์การลงทุน มีการพูดถึงความกังวลที่ว่าจะมีโอกาสที่จะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจรอบใหม่ของโลกใบนี้สูงมาก จากอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงวิกฤตหนี้ในกลุ่มประเทศที่เพิ่งจะพัฒนา (Frontier Market) ที่เริ่มมีวิกฤตให้เห็นบางประเทศ เช่น ศรีลังกา ลาว พม่า เป็นต้น โดยสาเหตุมาจากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด หรือขาดความสามารถในการชำระหนี้ หรือโอกาสที่จะเกิดการผิดนัดชำระหนี้  


แต่เหตุการณ์วิกฤตของกลุ่มประเทศข้างต้น  ยังไม่เห็นสัญญานของโอกาสที่จะส่งผลกระทบให้เกิดการลุกลามไปฉุดให้กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาอื่น  ๆ ในเอเชียด้วยกันให้มีปัญหาตามไปด้วย


ผมอยากชวนคิดในมุมมองที่ต่างออกไปกับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันอีกด้าน คือ ปัจจุบันในแต่ละประเทศกำลังทราบดีและตั้งรับต่อผลกระทบที่อาจจะเกิดการถดถอยทางเศรษฐกิจไม่มากก็น้อย โดยที่แต่ละประเทศก็ได้เริ่มพยายามออกมาตราการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแบบอัตราเร่ง เพื่อต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นแบบทำลายสถิติในรอบหลายสิบปี 


 และผลที่ตามมาของการที่ทุก ๆ  คนพยายามเหยียบเบรคทางเศรษฐกิจพร้อมกันทำให้เราเริ่มเห็นผลบ้างแล้ว จากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (คือ  อัตราการเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป ที่หักสินค้าในหมวดอาหารสดและพลังงานออก) ที่เริ่มนิ่งและมีแนวโน้มการปรับลดลงให้เห็นบ้าง


นอกจากนี้ แนวโน้มของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้งราคาสินแร่ ราคาพลังงาน ก็เริ่มมีการปรับย่อลงมาบ้าง ทำให้ในมุมมองโดยส่วนตัวมองว่าโอกาสที่จะเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจในรอบนี้อาจจะค่อย ๆ ลดลง และจะกลายเป็นแค่การชะลอตัวทางเศรษฐกิจในระยะสั้น ๆ เท่านั้น 


รวมถึงโอกาสที่จะมีการเร่งการขึ้นดอกเบี้ยแรง ๆ อีกจะมีไม่มากนัก และอาจทำให้สถานการณ์ดอกเบี้ยตอนนี้อาจจะกลายเป็นจุดที่กำลังเข้าใกล้จุดสูงสุดของอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ FED ที่จะสามารถทำการปรับขึ้นดอกเบี้ยได้ไปแล้วด้วย  


โดยการปรับขึ้นดอกเบี้นนโยบายอาจจะทำได้แค่ภายในปีนี้เท่านั้น  เพราะเราอาจจะเห็นการผ่อนคลายความร้อนแรงของเงินเฟ้อที่ลดลงในช่วงครึ่งปีหลังก็เป็นไปได้  เพราะ “เมื่อทุกคนคิดไปในทางเดียวกันว่าจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจและพร้อมทำทุกอย่างเพื่อจะไม่ให้มันเกิดหรือชะลอมันออกไป  โอกาสที่จะเกิดก็จะลดน้อยและผลกระทบก็จะลดลงตามไปด้วย


สาเหตุที่มาของความร้อนแรงของเงินเฟ้อในรอบนี้ส่วนหนึ่งมากจากความขัดแย้งระหว่างประเทศ  การล็อกดาวน์เมือง จนทำให้เกิดปัญหาทางด้านซัพพลายการผลิตเป็นหลัก โดยสถาณการณ์ต่าง ๆ เราเริ่มเห็นชัดขึ้นและเริ่มคลี่คลายไปทีละจุด 


ยกตัวอย่างเช่น ในเรื่องปัญหาค่าขนส่ง การขาดแคลนตู้ขนส่งทางทะเลในปีก่อน จนทำให้ค่าระวางเรือปรับตัวสูงมากจนไปทำจุดสูงสุดในช่วงเดือนกันยายน 2564 และหลังจากนั้นค่าขนส่งดังกล่าวก็ทยอยปรับลดลงจากจุดสูงสุดมาเกือบ 50% ในเทียบกับปัจจุบัน เหตุผลที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ เพราะมาจากการที่ท่าเรือในจีนเริ่มกลับมาเปิดดำเนินการได้มากขึ้น  และลดมาตราการการล็อกดาวน์ลงและโอกาสที่จะกลับมาล็อกดาวน์ท่าเรืออีกครั้งก็ดูหมือนเป็นไปได้ยากอีกด้วย

อีกส่วนหนึ่งที่น่าสนใจคือ China Caixin Manufacturing PMI  ดัชนีที่ใช้เป็นตัวบ่งชี้สภาวะทางเศรษฐกิจของภาคการผลิตและบริการ ที่เริ่มกลับมาบวกเกิน 50 จุดอีกครั้งและเป็นการปรับตัวขึ้น 3 เดือนติดต่อกันอีกด้วย

https://tradingeconomics.com/(ข้อมูล ณ สิ้นเดือน มิถุนายน 2022)


อย่างไรก็ตาม ในส่วนของราคาเชื้อเพลิงพลังงานต่าง ๆ ที่ไปทำจุดสูงสุดในช่วง 1-2 เดือนก่อน เริ่มมีการปรับตัวลดลงมาประมาณ 10%-20% ซึ่งในส่วนนี้อาจจะยังนิ่งนอนใจไปไม่ได้เพราะสถาการณ์ความขัดแย้ง ที่ใช้ราคาพลังงานเป็นตัวต่อรองยังเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา


เราจะเห็นว่าต้นทุนต่าง ๆ ที่เป็นตัวเร่งให้เกิดอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าขนส่ง การหยุดชะงักของภาคการผลิตที่สำคัญ ที่กำลังจะผ่อนคลายลงและกลับมาเปิดเดินกำลังการผลิตได้อีกครั้ง จะเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญที่จะมากดอัตราเงินเฟ้อในรอบนี้ลงมากกว่านโยบายดอกเบี้ยที่พยายามทำกันอยู่


สิ่งที่น่าจับตามองต่อจากนี้ คือโลกมีแนวโน้มจะกลับมาเติบโตแบบใดในอนาคต  ซึ่งอาจมาจากการเดินเครื่องจักรการผลิต การเปิดเมืองอีกครั้ง ฐานการผลิตอาหาร สินค้าโภคภัณฑ์ และการผลิตเชิงอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของโลกใบนี้ที่มากกว่าครึ่งอยู่ในเอเชีย รวมถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคของฝั่งเอเชีย หรือแค่การค้าขายกันเองในกลุ่มประเทศเอเชีย ไม่สนใจยุโรป สหรัฐฯ ก็เรียกได้ว่าการเติบโตนี้จะกลับมาแบบร้อนแรงได้ไม่ยาก 


ประกอบกับจีนหากกลับมาเริ่มใช้นโยบายเปิดประเทศและให้มีการเดินทางเมื่อไร คงเห็นภาพกันชัดขึ้นอีกว่า  รอบวัฐจักรเศรษฐกิจโลกรอบใหม่นี้จะขับเคลื่อนมาจากกลุ่มประเทศเอเชีย หรือ  กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเป็นหลักอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


คอลัมน์: Investment-Focus  by KTAM

โดย ชัชพล สีวลีพันธ์

ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์ผลิตภัณฑ์ บลจ. กรุงไทย



จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X