> ประกัน >

05 มกราคม 2023 เวลา 19:34 น.

ประกันชีวิต11เดือนวูบ ซิงเกิลพรีเมียมฉุดเบี้ย

#สมาคมประกันชีวิตไทย#ทันหุ้น สมาคมประกันชีวิตไทย รายงานตัวเลขธุรกิจ 11 เดือน เบี้ยธุรกิจใหม่หดตัวลง 1.87% แม้เบี้ย FYP จะโตดีที่ 9% แต่ถูกฉุดลงจาก Single Premium ทำให้ภาพรวมธุรกิจไม่ขยายตัว ขณะที่การยกเลิกกรมธรรม์ยังไม่มีสัญญาณน่ากังวลจากพิษเงินเฟ้อ พร้อมเตือนลูกค้าระวังตัวแทนแนะหยุดจ่ายเบี้ยเพื่อเปิดกรมธรรม์ใหม่ทำเสียผลประโยชน์


สมาคมประกันชีวิตไทย รายงานตัวเลขธุรกิจประกันชีวิต ช่วง 11 เดือน ปี 2565 (มกราคม-พฤศจิกายน) ว่าในส่วนของเบี้ยปีแรก (First Year Premium: FYP) อยู่ที่ 92,326.5 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 9% เทียบจากงวดเดียวกันปี 2564 ซึ่งตัวเลขอยู่ที่ 84,413.1 ล้านบาท ส่วนเบี้ยจ่ายครั้งเดียว (Single Premium) อยู่ที่ 58,142.8 ล้านบาท ลดลง 16% เทียบจากงวดเดียวกันปี 2564 ซึ่งตัวเลขอยู่ที่ 68,929.3 ล้านบาท ทำให้เบี้ยธุรกิจใหม่ในช่วง 11 เดือนแรก อยู่ที่ 150,469.3 ล้านบาท ลดลง 1.87% เมื่อเทียบกับ 11 เดือนแรกปี 64 ที่มีเบี้ยธุรกิจใหม่ 153,342.4 ล้านบาท


ทั้งนี้ในส่วนของเบี้ยต่ออายุ (Renewal Premium) อยู่ที่ 388,965.6 ล้านบาท ลดลง เมื่อเทียบ 11 เดือนแรกปี 64 ซึ่งมีเบี้ย 391,696.9 ล้านบาท ทำให้ภาพรวมธุรกิจประกันชีวิต 11 เดือน มีเบี้ยรับรวม 539,434.9 ล้านบาท ลดลง 1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 64 มีเบี้ยรับรวม 545,039.2 ล้านบาท


ปีก่อนทรงตัว-ปีนี้ท้าทาย

นายสาระ ล่ำซำ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวว่า ธุรกิจประกันชีวิตมีแนวโน้มทรงตัวในปี 2565 เนื่องจากตัวเลขเงินเฟ้อกดดันกำลังซื้อของผู้บริโภค ทำให้มีการใช้จ่ายอย่างระมัดระวังมากขึ้น ขณะที่ความผันผวนของตลาดทุนก็ได้ทำให้ประกันยูนิตลิงค์ โดยเฉพาะแบบจ่ายเบี้ยครั้งเดียวยอดขายลดลง อย่างไรก็ตามยังไม่เห็นสัญญาณการเวนคืนกรมธรรม์ที่ผิดปกติ


“ในปี 2566 ปัจจัยเสี่ยงยังคงกดดันกำลังซื้อของผู้บริโภคอยู่ โดยเฉพาะเงินเฟ้อที่ทำให้ผู้บริโภคระวังการใช้จ่ายมากขึ้น แม้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยจะดีจากการท่องเที่ยว แต่ก็ยังมีปัจจัยลบในแง่ที่เศรษฐกิจถดถอย ในสหรัฐ และยุโรป ทำให้ ปีนี้ยังคงเป็นอีกที่ปี่ท้าทายสำหรับธุรกิจประกัน”


รวมถึงกฎระเบียบใหม่ๆ ในภาคธุรกิจ ที่ทำให้การขับเคลื่อนธุรกิจต้องคำนึงถึงผลกระทบหลายด้าน ซึ่ง นายสาระ ยกตัวอย่างเช่น มาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS ที่กำหนดให้บริษัทประกันชีวิตต้องบุ๊คแบบประกันทีให้ผลขาดทุนทันที แต่ถ้าแบบไหนกำไร จะรับรู้เป็นงวดๆ ไม่สามารถลงบัญชีว่ากำไรได้ทันที ทำให้บริษัทประกันชีวิตต้องจัดระเบียบพอร์ตงานรับประกันให้เหมาะสมกับสถานะทางการเงินของตัวเอง


เตือนกลยุทธ์ฉกลูกค้า

ทั้งนี้ สมาคมฯ ยังได้เตือน กรณีที่มีฝ่ายขายโทรหาผู้เอาประกันเพื่อขอวิเคราะห์พอร์ตประกันภัย ซึ่งโดยส่วนมากจะให้ผู้ทำประกันหยุดจ่ายเบี้ยกรมธรรม์เก่า และทำกรมธรรม์ใหม่กับฝ่ายขายที่ติดต่อเข้ามา โดย นายสาระ กล่าวว่า การแนะนำ หรือวิเคราะห์พอร์ตประกันดังกล่าว จะทำให้ผู้เอาประกันภัยเสียประโยชน์จากกรมธรรม์เดิม ทั้งในเรื่องของอัตราเบี้ยที่คิดใหม่จากอายุที่เพิ่มขึ้น ความเสี่ยงที่มากขึ้น ความคุ้มครองที่ต่างจากเดิม

“จริงๆแล้วทุกบริษัทประกันชีวิตไม่ได้มีนโยบายในการให้ฝ่ายขายแนะนำลูกค้ายกเลิกกรมธรรม์ เพื่อเสนอขายแบบประกันตัวใหม่บางรายก็ไม่ได้ให้ลูกค้ายกเลิกกรมธรรม์ แต่ให้หยุดจ่ายเบี้ยเพื่อซื้อประกันตัวใหม่ที่เสนอขาย โดยแนะนำให้ลูกค้า เปลี่ยนเป็นกรมธรรม์ใช้เงินสำเร็จ คือไม่ต้องจ่ายเบี้ยเพิ่ม ระยะเวลาคุ้มครองเป็นไปตามสัญญาแต่ จำนวนเงินเอาประกันจะลดลง”


นายสาระ แนะนำว่า หากเจอกรณีดังกล่าว คือเข้ามาแนะนำพอร์ตประกัน พร้อมเสนอขายแบบใหม่ให้ โดยหยุดจ่ายเบี้ยกรมธรรม์เดิม หรือยกเลิกกรมธรรม์เดิม อยากให้ปรึกษา หรือขอคำแนะนำกับบริษัทที่ออกกรมธรรม์ก่อนเพื่อไม้ให้เสียผลประโยชน์จากการยุดจ่ายเบี้ย หรือยกเลิกกรมธรรม์

จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X