> ประกัน > MTI

23 มีนาคม 2023 เวลา 11:00 น.

MTI เข้มบริหารความเสี่ยง ปี65กำไร810ล.ปันผล6.18บ.

#MTI #ทันหุ้น MTI มั่นใจเติบโตต่อจากปีก่อนในอัตรา 8% แม้เงินเฟ้อจะกดดันต้นทุนธุรกิจเพิ่ม โดยเฉพาะในตลาดประกันภัยต่อ แต่สามารถบริหารจัดการได้ รวมถึงมุ่งควบคุมความเสี่ยง ส่งผลให้งบปี 65 กำไรโต มาที่ 810 ล้านบาท แม้จะมาการขายประกันโควิดก็ตาม พร้อมแจกปันผลในอัตรา 6.18 บาทติอหุ้น


นายวาสิต ล่ำซำ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ผู้บริหารสูงสุดด้านการขายและการตลาด บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ MTI กล่าวว่า ปี 2566 ภาพรวมของธุรกิจมีทั้งปัจจัยบวกและปัจจัยท้าทาย ซึ่งสะท้อนต่อการเติบโตของ MTI ด้วยเช่นกัน โดยคาดว่า บริษัทจะสามารถเติบโตได้เป็น 2 เท่าของการเติบโตในอุตสาหกรรมประกันวินาศภัย


และจาการที่สมาคมประกันวินาศภัยประเมินตัวเลขเบี้ยรับรวมของประกันวินาศภัยปีนี้จะขยายตัวเพิ่มขึ้น 4% จากปี 2565 ที่มีเบี้ยรับรวม 275,505.1 ล้านบาท ในส่วนของ MTI คาดว่าจะเติบโตที่ตัวเลข 8% จากปี 2565 ที่มีเบี้ยรับรวม 17,655.7 ล้านบาท ซึ่งราวครึ่งหนึ่งเป็นพอร์ตงานประกันรถยนต์


“ปีที่แล้วมีบริษัทประกันภัยบางรายปิดตัวไป ซึ่งเป็นผลกระทบจากเคลมโควิด ในส่วนนี้มีเบี้ยจากบริษัทที่ปิดตัวไปไหลเข้ามาในพอร์ตงานรับประกันของเรา ทำให้เราได้ฐานลูกค้าเพิ่มขึ้น ขณะที่ปีนี้แม้จะไม่มีรายการลักษณะดังกล่าว แต่ด้วยการเติบโตทางเศรษฐกิจของเอเชียอยู่ในเกณฑ์ที่ดีกว่าฝั่งยุโรป และสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้กำลังซื้อในประเทศฟื้นรวมถึงประมาณการว่ายอดขายรถใหม่ปีนี้จะอยู่ที่ 9แสนคัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนราว 6% ซึ่งจะเป็นผลดีต่อประกันรถยนต์”


เงินเฟ้อดันต้นทุนประกันภัย

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจทั่วโลกมีความเชื่อมโยงกัน ดังนั้นไทยก็เลี่ยงไม่ได้กับผลกระทบของเงินเฟ้อ สหรัฐ และยุโรปที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งรวมถึงธุรกิจประกันภัยด้วย นายวาสิต อธิบายว่า เงินเฟ้อเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ต้นทุนการทำประกันภัยต่อเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามเชื่อว่าภาคธุรกิจจะมีการปรับเบี้ยประกันให้เมาะสมกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น


เงินเฟ้อส่งผลให้ราคาสินค้าต่างๆ มีการปรับเพิ่มขึ้น เช่น เครื่องจักรถ้าผู้เอาประกันซื้อใหม่จะต้องจ่ายในราคาที่สูงขึ้นตามภาวะเงินเฟ้อ ในขณะที่ซื้อความคุ้มครอง หากคิดในอัตราเบี้ยเท่าเดิม คุ้มครอง 100% เมื่อเกิดความเสียหายต้องจ่ายเคลม 100%ในยุคเงินเฟ้อ ย่อมทำให้บริษัทประกันจ่ายสินไหมในวงเงินที่มากขึ้น เป็นต้น


นายวาสิต กล่าวต่อไปว่า ขณะที่ผลของภัยธรรมชาติที่รุนแรงมากขึ้น ทำให้บริษัทประกันภัยต่อต้องจ่ายสินไหมในวงที่สูงขึ้น ขาดทุนมากขึ้น ส่งผลให้ความสามารถในการรับงาน (Capacity) ลดลง ซึ่งนำไปสู่เงื่อนไขการรับประกันภัยใหม่ ตั้งแต่อัตราเบี้ยที่แพงขึ้น รับงานเสี่ยงสูง น้อยลง บริษัทประกันภัยต้องแบกรับความเสี่ยงเองมากขึ้น เพราะไม่สามารถส่งต่องานได้ เป็นต้น ปัจจัยเหล่านี้เป็นความท้าทายของภาคธุรกิจประกันวินาศภัย ซึ่งไม่ใช่ MTIเท่านั้น


เน้นบริหารความเสี่ยง

“ปัจจัยดังกล่าวทำให้บริษัทประกันภัยต้องบริหารจัดการความเสี่ยงของการรับประกันภัย รวมถึงต้นทุนการดำเนินธุรกิจให้เหมาะสม เพื่อรักษาอัตราการเติบโตของผลการดำเนินงานที่ดี ซึ่งMTI ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากสะท้อนจากการรับประกันภัยโควิด ซึ่งเรามีการทำประกันภัยต่อด้วยสัดส่วนที่สูงถึง 80% สำหรับประกันโควิด เรายังป้องกันไว้อีกชั้น ด้วยการทำประกัน ในส่วนของค่าเสียหายส่วนแรกไว้อีกชั้น ส่งผลให้ในปีที่ผ่านมาผลการดำเนินงานของเรายังคงมีกำไรที่เตอิบโต”


นางปุณฑริกา ใบเงิน กรรมการ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส และผู้บริหารสูงสุดกด้านการเงิน MTI กล่าวว่า บริษัทรายงานงบการเงินปี 2565 มีกำไรสุทธิ 810.22 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.57%เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ  767.44 ล้านบาท


จ่ายปันผล 6.18 บาท

ในปีที่ผ่านมาสามารถสร้างการเติบโตได้สูง ส่วนหนึ่งมางานของบริษัทที่ปิดตัวลง ส่งผลให้มีงานไหลเข้ามาในพอร์ต MTIเพิ่มขึ้น โดยปี 2565 MTIมีเบี้ยรับรวม 17,655.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.5% ดีกว่าภาพรวมอุตสาหกรรมประกันวินาศภัยที่โตเพียง 3.6% ด้วยเบี้ยรับรวม 275,505.1 ล้านบาท ปัจจุบันอันดับทางธุรกิจของ MTI อยู่ที่ 5 จากทั้งหมด 49 บริษัท มีฐานลูกค้า กว่า 5.1 ล้ายราย ด้วยกรมธรรม์ กว่า 2.5 ล้านกรมธรรม์ ทั้งนี้ MTI เตรียมจ่ายปันผลเป็นเงินสดในอัตรา 6.18 บาทต่อหุ้น จากกำไรสะสม กำหนดจ่ายปันผล 15 พ.ค. 2566


จากจำนวนฐานลูกค้าที่ระดับ 5 ล้านราย ส่งผลให้ MTI มุ่งที่จะขยายการเติบโตจากฐานลูกค้าที่มีอยู่ในมือ ด้วยการนำเสนอผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้หลายหลายและตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น ทั้งในส่วนของประกันสุขภาพ ประกันเดินทาง ประกันทรัพย์สิน เป็นต้น


สำหรับสัดส่วนการปรับประกันภัย เป็นประกันรถ (Motor) ราว 58% และที่เหลือเป็นประกันที่ไม่ใช่รถ (Non Motor) ขณะที่ อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (Capital Adequacy Ratio) อยู่ที่ 280% สูงกว่าเกณฑ์กำหนดที่ 140%


ทั้งนี้ ในปี2565 ผ่านมาค่าสินไหมของบริษัทเพิ่มขึ้น 4,576 ล้านบาท คิดเป็นอัตราค่าสินไหม (Claim Ratio) 53.4% ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก ปี2564 ค่าสินไหมอยู่ที่ 3,972 Claim Ratio ที่ 53.4% ซึ่ง นางปุณฑริกา บอกว่า เคลทสินไหมที่เพิ่มขึ้นมาจากการผ่อนคลายมาตรการโควิด ทำให้สามารถกลับมาเดินทางได้ตามปกติ มีการบริโภค ออกรถใหม่ ทำให้โอกาสในการเกิดอุบัติเหตุสูงขึ้นตามไปด้วย เพราะเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เคลมที่ลดลงเพราะมีการปิดเมือง ห้ามเดินทางเพื่อลดการแพร่ระบาดของโควิด (ไม่รวมเคลมที่เกิดจากโควิด)

จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

ข่าวล่าสุด

อ่านต่อ

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X