> เคล็ดลับลงทุน >

10 เมษายน 2023 เวลา 14:12 น.

เฟดใกล้จบ ตลาดคลายกังวล (Policy Firming, Market Relief)

#Investment-Focus by KTAM ตลาดสินทรัพย์เสี่ยงเผชิญกับความผันผวนอีกรอบ หลังธนาคารในสหรัฐฯ เผชิญกับปัญหา รวมถึงการลุกลามไปยังธนาคารในยุโรป เกิดเป็นวิกฤติความเชื่อมั่นในภาคการธนาคารในสองภูมิภาคใหญ่ แต่มาตรการช่วยเหลือที่รวดเร็วและเบ็ดเสร็จก็ค่อยๆ เรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมาได้


ธนาคาร Silicon Valley Bank (SVB) ประสบปัญหาสภาพคล่องอย่างหนักจนกระทั่งต้องปิดตัวลงในที่สุด จากการบริหาร Asset-Liability ที่ย่ำแย่ มีการถือพันธบัตรในลักษณะของ Hold to Maturity (HTM) จำนวนมาก ซึ่งอาจทำให้ธนาคารสามารถหลีกเลี่ยงการขาดทุนจากที่เฟดขึ้นดอกเบี้ยรวดเร็วในปีก่อนได้


แต่พอมีผู้ฝากเงินมาถอนเงินเป็นจำนวนมากและจำเป็นต้องขายพันธบัตรในส่วนนี้ออก ทำให้เกิด Realized Loss กระทบต่อกำไรและฐานทุนของธนาคารอย่างหนัก จนกระทั่งสถาบันประกันเงินฝากของสหรัฐฯ (FDIC) ต้องประกาศปิดกิจการ SVB และเข้ามาดูแลเงินฝาก รวมถึงทรัพย์สินของธนาคาร


นอกจากนี้ Fed ได้ออกมาตรการ Bank Term Funding Program เพื่อช่วยเหลือธนาคารอื่นที่อาจมีปัญหาคล้ายกัน รวมถึง เปิด Discount Window เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับภาคการธนาคาร


จาก SVB ถึง CS

ความกลัวได้ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไปยังสถาบันการเงินใหญ่อย่าง Credit Suisse (CS) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในธนาคารที่มีความสำคัญต่อระบบการเงินโลก (Global Systemically Important Banks G-SIBs) โดยก่อนหน้านี้ตัวธนาคารเองก็ได้ประกาศผลประกอบการปี 2565 มีผลขาดทุนอย่างหนักและต่อเนื่องจากปีก่อน


ความกังวลต่อ CS ที่พุ่งสูงขึ้นเห็นได้จาก Credit Default Swap (CDS) ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 100 กว่าจุด ขึ้นไปสูงกว่า 1,000 จุด จนในที่สุดภาครัฐของสวิตเซอร์แลนต้องเข้ามาให้ความช่วยเหลือ ในการจัดหาเงินกู้และการจัดหาสภาพคล่องในระยะสั้น พร้อมกับผลักดันและให้ความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องต่างๆ และให้ UBS ธนาคารใหญ่อันดับหนึ่งของสวิตเซอร์แลนด์ควบรวมกิจการ (Merger) กับ CS ในที่สุด


ความเสี่ยงเหล่านี้ส่วนหนึ่งมาจากหลังจากที่ Fed ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างรวดเร็วในปีก่อนเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อที่ปรับเพิ่มขึ้นสูง โดยความเร็วในการปรับขึ้นดังกล่าวมีผลต่อสภาพคล่องของระบบการเงิน รวมถึงมูลค่าของสินทรัพย์ระยะยาวในพอร์ตการลงทุนของสถาบันการเงิน


ทว่า การตัดสินใจที่รวดเร็วของ FDIC และ Fed รวมถึงมาตรการต่างๆ ที่ออกมาป้องกันอาการ “ลาม” (Contagion) ได้ แต่ผลการช่วยเหลือดังกล่าวของ Fed ก็แลกมากับการส่งผลให้งบดุลของ Fed กลับมาขยายตัวอีกครั้งหลังจากที่ Fed พยายามลดงบดุลของตนเอง หรือ Quantitative Tightening (QT) ก่อนหน้านี้ 


ทั้งนี้ ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ในระบบธนาคาร ถึงแม้จะมองว่าเป็นความเสี่ยงที่ยังมีผลจำกัด แต่ก็ทำให้เฟดจะต้องหันมาสนใจเสถียรภาพระบบธนาคารของสหรัฐฯ ด้วย ต่างจากปีก่อนที่เฟดให้ความสนใจเพียงเงินเฟ้อเพียงอย่างเดียว


เราคาดว่าผลตอบแทนของสินทรัพย์ยังผันผวนอยู่ต่อเนื่อง ปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบธนาคารสะท้อนความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะความเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยหากปัญหาวิกฤตความเชื่อมั่นต่อธนาคารเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงความเสี่ยงที่สูงขึ้นของสินทรัพย์เสี่ยงที่ได้รับผลกระทบจากการขาดความเชื่อมั่นในธนาคาร และ Risk Premium ที่จะสูงขึ้นตามไปด้วย


มุมมองการลงทุน เม.ย.

สำหรับกลยุทธ์การลงทุนของ Asset Allocation ในเดือน เม.ย. 2566 แม้ตลาดยังเผชิญความผันผวนที่สูงเทียบกับในอดีตและต้นทุนการเงินที่เปลี่ยนไป แต่เมื่อคำนึงถึงท่าทีของภาครัฐที่พร้อมจะให้ความช่วยเหลืออย่างชัดเจน เพื่อป้องกันวิกฤติความเชื่อมั่นไม่ให้ลุกลามในวงกว้างของระบบธนาคาร รวมถึงการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เทคโนโลยีและการขยายเมือง


ทำให้เรายังคงมีมุมมองที่ค่อนข้างเป็นบวก (Slightly Positive) ต่อสินทรัพย์เสี่ยงสำหรับการลงทุนระยะยาว ส่วนในระยะสั้น แนวโน้มที่ดีขึ้นจากการเปิดประเทศของจีน ยังเป็นปัจจัยหลักที่เป็นไปได้มากขึ้นที่นักลงทุนเริ่มหันกลับสนใจสินทรัพย์ในตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะทวีปเอเชีย


อย่างไรก็ตาม ตลาดที่มีความผันผวนอยู่ในระดับสูง จากความกังวลในเรื่องสภาพคล่องของธนาคารสหรัฐและยุโรป รวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่อาจไม่ได้ปรับลดลงเร็วมากนัก (Sticky inflation) ทำให้อัตราดอกเบี้ยน่าจะยังสูงนานกว่าที่ตลาดเคยคาดไว้ จึงทำให้อาจมีการขายสินทรัพย์เพื่อถือเงินสดเป็นระยะๆ หุ้นกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ยังมีความน่าสนใจและน่าจะช่วงป้องกันความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง


ส่วนมุมมองตราสารหนี้นั้น เรามุมมองที่เป็นบวกเล็กน้อย (Slightly Positive) จาก “ดอกเบี้ยรับ” ที่สูงขึ้นในปัจจุบัน แต่ตลาดตราสารหนี้ยังคงมีความผันผวนอยู่สูง (ดัชนี MOVE) จึงแนะนำให้ “ทยอยสะสม” ตราสารหนี้ที่มีคุณภาพดี


คอลัมน์: Investment-Focus by KTAM

ดร. สมชัย อมรธรรม

ณิธาวัลย์ อิศรเสนา ณ อยุธยา

บลจ. กรุงไทย

จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X