> ประกัน >

10 สิงหาคม 2023 เวลา 14:00 น.

กปว.แผนหาแหล่งทุนเพียบ ย้ำเคลมโควิดจ่ายช้าแต่ชัวร์

#กปว. #ทันหุ้น กปว. สรุปแผนหาแหล่งทุนจ่ายสินไหมโควิด 5.2 หมื่นล้านบาท ประเดิมแผนรูปธรรม เพิ่มเงินสมทบเข้ากองทุน 0.50% จากเดิม 0.25% ชี้ยังไม่พอ ต้องหาเพิ่มอีก พร้อมเปิดทุกช่องทางในการหาทุน ทั้งกู้ ออกพันธบัตร หรือเงินสนับสนุนจากรัฐเป็นต้น ย้ำอาจจ่ายช้า แต่จ่ายชัวร์ เพราะบางเรื่องของแก้กฎหมาย และบางเรื่องต้องรอรัฐบาล


นายชนะพล มหาวงษ์ ผู้จัดการกองทุนประกันวินาศภัย หรือ กปว. กล่าวถึงแผนงานในการหาแหล่งทุนเพื่อนำมาจ่ายสินไหมโควิด-19 ว่า ในเบื้องต้นมีการวางกรอบไว้ชัดเจนแล้วว่าจะทำอะไรบ้าง ตั้งแต่การหาแหล่งเงินทุนผ่านการออกพันธบัตร การกู้เงินสถาบันการเงิน การของบสนับสนุนจากรัฐบาล รวมถึงการเพิ่มเงินสมทบเข้ากองทุนจากบริษัทประกันวินาศภัย ซึ่งกระบวรการบางอย่างต้องใช้เวลา เพราะต้องเข้าไปแก้ตัวกฎหมาย บางเรื่องก็ต้องให้รัฐบาลอนุมัติ ทำให้ต้องรอเพื่อเดินไปตามกระบวนการ


อย่างไรก็ตาม แผนที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมได้ คือการเพิ่มเงินสมทบ จากบริษัทประกันวินาศภัยจากปีละ 0.25% เป็น 0.50% ซึ่งจะทำให้เงินที่สมทบเข้ากองทุนเพิ่มขึ้นจากราว 600 ล้านบาท ต่อปี เป็นประมาณ1,300 บาทต่อปี คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ได้ภายในกันยายน หรือตุลาคมนี้


*ขุดทุกไอเดียจ่ายหนี้

“ถามว่าพอไหมด้วยวงเงินสินไหมที่เราต้องจ่ายให้ลูกหนี้ ที่ราว 5.2 หมื่นล้านบาท การจ่ายสมทบในอัตรา 0.50%ก็อาจจะยังไม่พอ หรือต้องใช้เวลา 40-50 ปีในการจ่ายคืนสินไหมทั้งหมด ครั้นเราจะไปกู้แบงก์ ด้วยรายได้ของเราต่อปีราว 1,300ล้านบาท ศักยภาพการกู้หมื่นล้านบาท แบงก์คงไม่มั่นใจว่าเราจะสามารถชำระคืนหนี้ได้ เพราะเรามีรายได้ทางเดียวจากเงินสมทบของบริษัทประกัน แต่ถ้าเราจะเพิ่มเงินสมบทเป็น 2% จะทำให้เรามีเงินในกองทุน ราว 5-6 พันล้านบาท ซึ่งก็อาจจะทำให้แบงก์มั่นใจในการปล่อยกู้ได้”


กปว.ได้วางกรอบการทำงานแล้วว่าในปี 2567จะดำเนินการอะไร ปี 2568 และ 2569 จะเห็นแผนอะไรที่ชัดเจน ปัจจุบัน วงเงินสินไหม เคลมโควิดที่เราต้องจ่ายให้ อยู่ที่ 5.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้ไม่มีของบริษัท สินมั่นคง จำกัด (มหาชน) หรือ SMKเนื่องจากยังประกอบธุรกิจอยู่และไม่ได้ถูกเพิกถอนใบอนุญาต โดยวงเงินสินไหมโควิดของ SMK อยู่ที่เกือบ 4 หมื่นล้านบาท โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างยื่นแผนฟื้นฟู และ กำหนดวันประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท ในวันที่ 27 กันยายน 256


นายชนะพล กล่าวว่า กปว. ยังพิจารณาในโอกาสความเป็นไปได้ที่จะเร่งคืนเงินสินไหมให้กับเจ้าหนี้ เช่นเจ้าหนี้บางรายไม่อยากรอนานหลายสิบปี ด้วยการขอลดวงเงินสินไหมลงครึ่งหนึ่ง หรือ 50%เพื่อให้ได้รับเงินเร็วขึ้นได้หรือไม่ แต่ทั้งนี้ก็อยู่ที่ความสมัครใจของเจ้าหนี้ และถ้าหากจะทำก็ต้องแก้เกณฑ์ใหม่กับ คปภ. เนื่องจากกฎหมายของ กปว.ไม่รอบรับการดำเนินงานรูปแบบนี้


นายธนาภพ นิรัชพรสกุล รองผู้จัดการ กปว. ในเรื่องของเงินสมทบ 2% เบื้องต้นที่วางไว้คือ จะค่อยๆปรับขึ้นเป็นขั้นบันได เช่น ปีนี้ 0.5% ปีถัดไปก็ 1% ค่อยๆ ปรับขึ้นจนถึง 2% โดยอัตรา 2% ก็จะไม่ถาวร อาจขอภาคเอกชนสมทบราวๆ 2-3ปี จากนั้นก็จะปรับลดลง ซึ่งแผนงานส่วนนี้ยังไม่ได้ส่งเข้าไปให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริม การประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ. พิจาณา โดยอยู่ระหว่างการดำเนินการอยู่


*เปิดทุกช่องทางหาทุน

“กองทุนเปิดทุกโอกาส ทุกช่องทางในการหาแหล่งทุนเพื่อมาจ่ายสินไหมโควิดจากบริษัทที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตไป ซึ่งแม้หลายๆแผนงานจะต้องใช้เวลาเพราะเกี่ยวข้องกับกฎหมาย รวมถึงต้องรอการอนุมัติจากรัฐบาล ทำให้ต้องรอเป็นไปตามกระบวนการ แต่ระหว่างนี้เราก็ได้เตรียมแผนงานไว้แล้วว่า ภายใน 2 ปีเราจะทำอะไร ภายใน 3 ปีจะทำอะไร”


นายธนาภพ กล่าวต่อไปว่า การออกพันธบัตรของ กปว. ก็เป็นอีกทางเลือกของการระดมเงินทุน แต่ก็ต้องแก้เกณฑ์ให้บริษัทประกันภัยที่ซื้อสามารถนำพันธบัตรดังกล่าวมาเป็นทุนสำรองได้ แต่ก็ต้องคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยว อย่างสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ หรือ สบน.ในการพิจารณาหลักเกณฑ์ก่อนว่าสามารถทำได้ในรูปแบบใด เพราะในแง่ของการค้ำประกันนั้น อาจจะไม่ได้


เพราะแม้ กปว.จะเป็นหน่วยงานรัฐ แต่การค้ำประกันหนี้ในส่วนของ กปว. เมื่อเทียบกับกองทุนน้ำมัน ของ สำนักงานกองทุนเชื้อเพลิง หรือ สกนช. นั้นมีความต่างกันในแง่ของผลประโยชน์ เพราะการค้ำประกันให้กับกองทุนน้ำมันเป็นการดูแลผลประโยชน์ให้กับประชาชนทุกภาคส่วน ในขณะที่ การค้ำประกันให้กับ กปว. เป็นการดูแลผลประโยชน์ให้กับกลุ่มคนบางส่วนจึงทำให้ไม่สามารถเข้าไปค้ำประกันได้ อย่างไรก็ตาม สบน.ก็มีแนวทางในการช่วยเหลือ ซึ่งยังต้องเข้าไปคุยต่อในรายละเอียด


“นอกจากนี้แล้ว กปว.ยังมองถึงโอกาสในการขอเงินสนับสนุนจากรัฐ เพราะในกรอบของการจัดตั้งกองทุน ได้เขียนไว้ว่า กองทุนสามารถขอเงินสนับสนุนจากรัฐได้ แต่ในรายละเอียดก็ต้องไปดูอีกว่าจะเป็นในรูปแบบไหนกรอบให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างไร ช่วยได้แค่ไหน ดังนั้นแม้จะมีหลายเรื่องที่ต้องรอ ทั้งการแก้กฎหมาย ทั้งรอเสนอแผนต่อรัฐบาลชุดใหม่ แต่บางเรื่องที่เดินหน้าได้ทันทีเราก็ทำ เช่นการเพิ่มเงินสมทบจากบริษัทประกันวินาศภัย เพื่อให้สามารถจ่ายเงินคืนให้กับประชาชนได้ แม้จ่ายช้าแต่จ่ายชัวร์”

จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X